xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” ขอองค์กรอิสระทำใจพ้นเก้าอี้เพื่อปฏิรูป ผุดทางเลือกจำคุกตลอดชีวิตกับประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กรธ.แจงให้รัฐบาลมีบทบาทกำหนดหน้าที่องค์กรอิสระตามข้อบังคับ อย่าคิดว่าไม่เหมาะ ตั้ง กมธ.ร่วมฯ มี 2 ขั้นตอน เห็นด้วยก็จบ ขอองค์กรอิสระทำใจ หากต้องพ้นเก้าอี้ตาม รธน.ใหม่ ชี้เพื่อปฏิรูปประเทศ ไม่คิดล้างบางใคร ยันร่าง กม.ลูกคุ้มครองให้อยู่ครบวาระไม่ได้ เพราะขัด รธน. เมินคนค้านโทษประหารชีวิต แต่เพิ่มจำคุกตลอดชีวิต เป็นทางเลือกเพื่อความสบายใจ

วันนี้ (21 พ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวถึงกรณีที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ระบุว่าจะมีการตั้งกรรมาธิการสามฝ่ายจาก กรธ., สนช. และรัฐบาล เพื่อพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า เป็นไปตามข้อบังคับของ สนช. ส่วนที่กำหนดให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทร่วมกำหนดการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระจะไม่เป็นการเหมาะสมนั้น คิดเช่นนั้นไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อบังคับ

สำหรับการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ จะมีสองขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 เมื่อ กรธ.เสนอกฎหมาย สนช.จะตั้งกรรมาธิการตามข้อบังคับ ส่วนขั้นตอนที่ 2 เมื่อ สนช.พิจารณาเสร็จ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ส่งไปที่องค์กรอิสระเจ้าของเรื่อง และ กรธ.พิจารณา ถ้าเห็นด้วยก็จบ แต่หากไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ หรือไม่สามารถทำงานได้ก็แจ้งกลับไปที่ สนช.ภายใน 10 วัน แล้วตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ประกอบด้วย ประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับ กรธ.และ สนช.ฝ่ายละ 5 คน รวมเป็น 11 คนมาพิจารณาเพื่อได้ผลสรุปก็ส่งกลับให้ สนช.พิจารณา

นายมีชัยกล่าวด้วยว่า เนื้อหาของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น กรรมาธิการของ สนช.สามารถแก้ไขได้ เพราะเป็นองค์กรพิจารณาตามกฎหมาย แต่ก็คงฟังความคิดเห็นจาก กรธ.ว่าทำไมจึงร่างกฎหมายแบบนั้น ซึ่งในประเด็นที่กำหนดให้กรรมการสรรหาเป็นผู้ชี้เกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาได้ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะกำหนดไว้หากมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติ ให้คณะกรรมการสรรหาเป็นคนชี้ โดยให้ถือเป็นเด็ดขาด ย้ำว่าสิ่งเหล่านี้ กรธ.ไม่ได้คิดขึ้นใหม่ แต่อยู่ในรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่าบุคคลในองค์กรอิสระบุคคลใดจะต้องออกจากตำแหน่ง แม้แต่ กรธ.ก็ยังไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับกรรมการสรรหาที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่จากผู้แทนขององค์กรอิสระ ที่จะต้องพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องยองรับว่ากรรมการสรรหาถือมีตำแหน่งฐานะ และความรู้ ผลจากการวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ และถือเป็นที่สุดแล้วตามรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างจบที่กรรมการสรรหา

“ทั้งหมดก็ต้องทำใจ เพราะขึ้นอยู่กับกรรมการสรรหาว่าจะว่าอย่างไร เพราะทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะตอนกำหนดคุณสมบัติในช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีการพูดกันเยอะ ไม่ใช่จู่ๆ เก็บงุบงิบแล้วค่อยมาออก เพราะเขียนอย่างเปิดเผยมาแต่ต้น ทุกคนยอมรับผ่านประชามติแล้ว จึงพ้นเวลาที่จะมาเถียงกันแล้วว่าควรหรือไม่ควร จะไปหาว่าตั้งใจทำอย่างนู้นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะตอนเราเขียนก็ไม่ได้ไปดูว่าคุณสมบัติของแต่ละคนเป็นอย่างไร เพียงแต่คิดว่าเมื่อจะปฏิรูปประเทศ จะทำให้องค์กรอิสระมีอำนาจมากขึ้น ก็ต้องการคนที่มีคุณวุฒิ คุณสมบัติ และประสบการณ์สูงขึ้น” ประธาน กรธ.กล่าว

นายมีชัยชี้แจงด้วยว่า เหตุผลที่ไม่กำหนดในรัฐธรรมนูญให้คุ้มครองผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระ เพราะรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระมีผลทันทีเมื่อบังคับใช้ และอำนาจก็ตามมา ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนคุณสมบัติทันทีเช่นเดียวกัน จะไปรอไม่ได้ เพราะไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น กฎหมายลูกที่จะออกมา จะไปเขียนว่าให้คนที่ดำรงตำแหน่งปัจจุบันอยู่ต่อจนครบวาระ เราก็คิดว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าคนอื่นคิดว่าทำได้ จะไปแก้ กรธ.ก็ไม่ว่าอะไร แต่ก็ต้องรับผิดชอบด้วย หากมีการแก้ไขในลักษณะนี้ในชั้นของ สนช.ก็ต้องไปเผชิญกับปัญหาเอาเอง

ส่วนเรื่องบทลงโทษเรื่องการซื้อขายตำแหน่งถึงประหารชีวิต ที่มีการวิจารณ์ว่าสูงเกินไปนั้น นายมีชัยกล่าวว่า คนที่พูดว่ากำหนดโทษประหารชีวิตแรงไป ไม่เคยดูกฎหมายปัจจุบันที่ออกในปี 2558 ที่มีการกำหนดโทษประหารชีวิตไว้อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจ จะมีการเขียนเพิ่มถ้อยคำว่า หรือจำคุกตลอดชีวิต เข้าไป ซึ่งโดยปกติเมื่อศาลพิจารณาคดี ก็ไม่ใช่หมายความว่าศาลจะตัดสินประหารชีวิตอย่างเดียว เนื่องจากลดหย่อนได้ เช่น จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดหย่อนโทษครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกตลอดชีวิต แต่ในเนื้อหาจะยังคงโทษประหารชีวิตไว้ เพราะข้าราชการระดับเล็กๆ ก็โดนโทษประหารเช่นกัน ในกฎหมายอาญาปัจจุบัน สิ่งที่กำหนดจึงไม่รุนแรงกว่าปกติ เพราะแม้แต่การข่มขืนกระทำชำเรา ค้ามนุษย์ ยาเสพติด ก็ประหารชีวิต ซึ่งถ้าหากคิดว่าเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัว ก็ยังดีกว่าไม่เขียนอะไรเลย

สำหรับการรับฟังความเห็นเพื่อนำมาประกอบการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพรรคการเมือง นายมีชัยกล่าวว่า มีเรื่องที่ต้องนำกลับมาคิด เกี่ยวกับจำนวนคนที่ตั้งพรรคการเมือง ว่า 500 คน ถือว่าน้อยเกินไป ก็กำลังคิดว่าหากทำให้เพิ่มขึ้นโดยไม่เป็นภาระ จะทำได้อย่างไร เช่น 500 คน ตั้งพรรคได้ แต่ต้องหาสมาชิกเพิ่มอีกในระยะเวลาที่กำหนด แต่ตัวร่างกฎหมายคงไม่สามารถเปิดเผยได้นานเท่าไร


กำลังโหลดความคิดเห็น