xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” ย้ำคุณสมบัติองค์กรอิสระอยู่ที่ กก.สรรหาชี้ขาด เชื่อ กม.ลูกถูกตีตกเกิดยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กรธ.แจงต้องให้กรรการสรรหาตัวชี้คุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระ ยันเจตนารมณ์ กรธ.ไม่ต้องการให้กรรมการดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อน เชื่อกฎหมายลูกจะถูกตีตกในขั้นสุดท้ายเกิดขึ้นได้ยาก

วันนี้ (18 พ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวถึงคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระตามมาตรา 202 ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่กรรมการองค์กรอิสระต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ว่ากรรมการองค์กรอิสระที่เคยดำรงตำแหน่งมากกว่าหนึ่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญเดิมจะขัดต่อคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการชี้ของคณะกรรมการสรรหา โดยการทำงานของคณะกรรมการสรรหาจะนำคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระทุกคนมาพิจารณาว่าขัดคุณสมบัติหรือไม่ แล้วจึงมีมติชี้ขาด แต่เจตนารมณ์ของ กรธ.ไม่ต้องการให้มีการดำรงตำแหน่งหลายครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก

ทั้งนี้ การวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระ คณะกรรมการสรรหาจะทำงานกันเป็นรอบๆ ตามลำดับการประกาศใช้กฎหมายลูกที่ออกมา ซึ่งเมื่อวินิจฉัยในครั้งแรกแล้ว ก็จะเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยคุณสมบัติในองค์กรต่อๆ ไป

สำหรับการทำงานของคณะกรรมการสรรหาที่เพิ่มอำนาจให้สามารถทาบทามบุคคลที่เหมาะสมได้ นอกเหนือจากการคัดเลือกจากผู้สมัครเพียงอย่างเดียว จะทำให้เกิดช่องโหว่เป็นการทาบทามทางการเมืองหรือไม่นั้น นายมีชัยกล่าวว่า การเพิ่มเงื่อนไขนี้เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดว่าจะต้องเลือกผู้สมัครเท่านั้น และเชื่อจะไม่มีการเมืองแทรกแซง เพราะโครงสร้างกรรมการสรรหาอย่างประธานศาลฎีกา ก็เชื่อว่าไม่มีเหตุที่เกี่ยวข้องทางการเมืองอยู่แล้ว

ส่วนที่คาดการณ์กันว่าจะมีกรรมการองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งจำนวนมาก จะกระทบการทำงานช่วงรอยต่อนั้น คงไม่กระทบต่อการทำงานโดยรวม เนื่องจากทุกอย่างต้องเริ่มใหม่อยู่แล้ว เพราะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และแต่ก่อนการสรรหากรรมการชุดใหม่ ก็เคยมีประสบการณ์ที่ต้องเปลี่ยนกรรมการใหม่ทั้งชุดอยู่แล้ว

นายมีชัยยังกล่าวถึงการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระหว่าง กรธ. สนช. และประธานองค์กรอิสระ หากการพิจารณาร่างกฎหมายลูกไม่ได้ข้อยุติว่า กระบวนการนี้มีระยะเวลาที่จะทักท้วงอยู่ หาก สนช.ส่งร่างให้องค์กรอิสระและกรธ.พิจารณา สององค์กรนี้ก็ต้องทักท้วงภายใน 10 วัน เพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม แล้วให้พิจารณาใหม่ให้เสร็จภายใน 15 วันหลังจากได้รับการแต่งตั้ง แล้วส่งกลับให้ สนช.พิจารณา หากจะไม่เห็นชอบต้องใช้มติถึง 2 ใน 3 เพื่อให้ร่างกฎหมายตกไป ซึ่งกรณีนี้หากกฎหมายตกไปแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร

ทั้งนี้ ประธาน กรธ.เชื่อว่าโอกาสที่ร่างกฎหมายลูกจะถูกตีตกลงไปเกิดขึ้นได้ยาก เพราะแนวคิด กรธ.ไม่ได้ทักท้วงอะไรรุนแรง เนื่องจากคำนึงถึงความเห็นต่างทางความคิด เช่น หาก สนช.มองว่าโทษประหารชีวิตกรณีซื้อขายตำแหน่งรุนแรงเกินไป กรธ.ก็พร้อมปรับ เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าไปได้ นอกเสียจากจะมีการปรับจนขัดต่อร่างรัฐธรรมนูญ กรธ.ก็จะต้องทักท้วง พร้อมยืนยันว่าการร่างกฎหมายลูกโดย กรธ.เป็นไปตามหลักที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น