xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” เผยรีเซตองค์กรอิสระยังไม่ได้ข้อยุติ รอผลสรุป กรธ.ก่อนส่งให้ สนช.พิจารณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
รองประธาน สนช.ระบุองค์กรอิสระจะถูกรีเซตหรือไม่ ยังไม่ตกผลึก รอผลสรุป กรธ.ก่อนส่ง สนช.พิจารณา แนะ กก.องค์กรอิสระต้องปรับตัวไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เผย สนช.กำลังหาบทลงโทษอื่นๆ นอกจากการประหารชีวิตพวกซื้อขายตำแหน่ง

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการร่างกฎหมายลูกระหว่าง สนช.กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ว่า ยังไม่มีบทสรุปว่ามีความคิดเห็นสวนทางกับ กรธ. เพราะร่างกฎหมายลูกอย่างเป็นทางการของ กรธ. ยังไม่ได้เผยแพร่ ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. บอกแล้วว่ายังไม่ตกผลึก และอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็น แต่ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันมาก คือ การรีเซต หรือเซตซีโร่องค์กรอิสระหรือไม่ โดยในรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกำหนดให้เป็นต่อไปได้หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้จนกว่าจะมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมา ถึงตอนนั้นก็แล้วแต่กฎหมายลูกจะเขียนอย่างไร ถ้าเขียนให้อยู่ต่อก็อยู่ต่อ ถ้าเขียนให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตรงนี้คือหัวใจว่าทางออกที่ดีที่สุดขององค์กรอิสระและพรรคการเมืองจะมีผลอย่างไรหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้

“เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องรับฟัง ในที่ประชุม กมธ.ลองตั้งโจทย์พิจารณาดูว่าถ้าบุคคลในองค์กรอิสระอยู่ต่อไปจนกว่าทุกฝ่ายจะครบวาระผลเป็นอย่างไร ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ถูกต้องตามคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามใหม่ของรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร จะเกิดช่วงสุญญากาศหรือเป็นภาวการณ์หยุดชะงักในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เราเอามาชั่งน้ำหนักทั้งหมด เพราะไม่ว่า กรธ.จะตกผลึกอย่างไร โจทย์ข้อนี้ต้องมาอยู่ที่ สนช.”

ทั้งนี้ ถ้าสิ่งที่ สนช.เห็นว่าเห็นต่างจาก กรธ. กระบวนการต่อไปคือ ตั้ง กมธ.ร่วมกันระหว่าง สนช., กรธ.และองค์กรอิสระ หรือศาลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนั้นๆ จำนวน 11 คน และยังมีขั้นตอนสุดท้าย คือ กมธ.ร่วมต้องทำรายงานเสนอกลับมาที่ สนช.อีกครั้ง โดย สนช.ต้องใช้เสียงโหวต 2 ใน 3 หากจะเห็นต่างจากความเห็นของ กมธ.ร่วมฯ แต่กระบวนการที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญค่อนข้างรัดกุม มีการถ่วงดุลระหว่างสภาฯ กับ กรธ. เชื่อว่ากระบวนการที่ออกแบบไว้ และภารกิจที่ได้รับมอบหมายทั้งสองฝ่ายต้องตีโจทย์นี้ให้แตก และหาติกาที่ดีที่สุดสำหรับบ้านเมือง

ส่วนที่ กกต.บางคนกังวลในระเบียบใหม่ที่กำลังจะออกมานั้น นายสุรชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ตนคิดว่าองค์กรอิสระทุกองค์กรกังวลแน่นอนว่าสุดท้ายแล้วการอยู่ต่อไปหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้จะมีผลอย่างไร เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหากติกาใหม่ แม้กระทั่ง สนช.ก็เคยมีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับคุณสมบัติใหม่ตามรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยเช่นกัน

สำหรับบทลงโทษข้าราชการการเมืองที่มีการซื้อขายตำแหน่งถึงขั้นประหารชีวิตนั้น นายสุรชัยกล่าวว่า เป็นแนวคิดที่ต้องการปฏิรูประบบการเมืองของประเทศให้ใสสะอาด ไม่ต้องการให้มีการทุจริตการเลือกตั้ง จึงเป็นแนวคิดที่มีมาตรการลงโทษอย่างรุนแรง ในสมัยรัฐธรรมนูญปี 2550 คือการให้ยาแรงซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่ได้ผล เรื่องนี้เป็นแนวคิดของ กรธ. แต่ สนช.ก็คิดในแนวคิดอื่นๆ เผื่อไว้ด้วยว่านอกจากแนวคิดนี้มีแนวคิดและมาตรการการลงโทษอื่นๆ หรือไม่ ที่จะได้ผลในการจัดการทุจริตเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม ในขั้นจัดทำกฎหมายลูกจะถึงขั้นตั้ง กมธ.ร่วมหรือไม่นั้นยังมีอีกหลายปัจจัย รวมทั้งบทบัญญัติของ กรธ.และแนวคิดของ สนช. ในระหว่างนี้ตนพยายามปูพื้นฐานให้ สนช.เพื่อให้มีความเข้าใจรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกในเชิงลึก


กำลังโหลดความคิดเห็น