xs
xsm
sm
md
lg

"มีชัย"ให้กก.องค์กรอิสระทำใจ รธน.ไม่ให้นั่งครบวาระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (21พ.ย.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาข้อคิดเห็นของกมธ.การเมือง สนช. เกี่ยวกับกฎหมายประกอบรธน. ว่า เป็นเรื่องที่ทาง สนช.จะพิจารณาเอง ซึ่งกมธ.ได้คุยในหลักการว่า ผู้ร่วมพิจารณาจะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรธ. และรัฐบาล ซึ่งปกติกฎหมายจะถูกเสนอโดยรัฐบาล แต่ตามรธน.ฉบับประชามติ ให้เสนอโดยกรธ. และหากจะทำกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระ ก็ต้องเชิญองค์กรอิสระมาเป็นกรรมการด้วย ซึ่งสิ่งที่ กมธ.ฯไปศึกษา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเห็นของประชาชน นักวิชาการ ศึกษาในเรื่องต่างๆ ในเชิงเปรียบเทียบ ทั้งของต่างประเทศ และสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งการทำกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้งที ก็ไม่ควรถอยหลังเข้าคลอง โดยสนช.จะรับฟังทุกฝ่าย
"ยืนยันว่าเราไม่ความขัดแย้งกัน แต่เป็นเรื่องปกติที่จะมีความเห็นแตกต่างกัน ขออย่ามองว่าเป็นความขัดแย้ง เพราะ ทุกฝ่ายต่างยึดถือความยุติธรรม และประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และขอย้ำ ไม่มีใบสั่งในการพิจารณา มีเพียงคำแนะจากทุกหน่วยงานที่ สนช.จะต้องรับฟัง ยืนยันว่าในการพิจารณากฎหมาย สนช.ไม่มีใบสั่ง แต่ใบแนะนำมี ซึ่งสนช.ก็ต้องฟัง ไม่ใช่ฟังเฉพาะอันใดอันหนึ่ง แต่สนช. คำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนและบ้านเมือง" นายพรเพชร กล่าว
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณี นายพรเพชร ระบุว่า จะมีการตั้งกรรมาธิการ 3 ฝ่าย จาก กรธ.-สนช.และ รัฐบาล เพื่อพิจารณากฎหมายประกอบรธน. ว่า เป็นไปตามข้อบังคับของสนช. ส่วนที่กำหนดให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทร่วมกำหนดการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ จะไม่เป็นการเหมาะสมนั้น จะไปคิดเช่นนั้นไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อบังคับ
ทั้งนี้ การตั้งกมธ.ร่วมฯ จะมี 2ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 เมื่อ กรธ. เสนอกฎหมาย สนช.จะตั้งกมธ.ตามข้อบังคับ ส่วนขั้นตอนที่ 2 เมื่อ สนช. พิจารณาเสร็จ รธน.กำหนดให้ส่งไปที่องค์กรอิสระเจ้าของเรื่อง และกรธ.พิจารณา ถ้าเห็นด้วยก็จบ แต่หากไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ หรือไม่สามารถทำงานได้ ก็แจ้งกลับไปที่ สนช. ภายใน 10 วัน แล้วตั้งกมธ.ร่วม ประกอบด้วย ประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง กับกรธ. และสนช. ฝ่ายละ 5 คน รวมเป็น 11 คน มาพิจารณา เพื่อได้ผลสรุป ก็ส่งกลับไปให้สนช. พิจารณา
นายมีชัย กล่าวด้วยว่า เนื้อหาของกฎหมายประกอบรธน.นั้น กรรมาธิการของสนช. สามารถแก้ไขได้ แต่ก็คงฟังความคิดเห็นจาก กรธ. ว่าทำไมจึงร่างกฎหมายแบบนั้น ซึ่งในประเด็นที่กำหนดให้กรรมการสรรหา เป็นผู้ชี้ขาดเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาได้ เพราะจะขัดกับรธน. หากมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติ ให้คณะกรรมการสรรหา เป็นคนชี้ โดยให้ถือเป็นเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่า บุคคลในองค์กรอิสระบุคคลใดจะต้องออกจากตำแหน่ง แม้แต่กรธ. ก็ยังไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับกก.สรรหา ที่จะต้องพิจารณาตามรธน. ซึ่งต้องยองรับว่า กก.สรรหา ถือว่ามีตำแหน่ง ฐานะ และความรู้ ผลจากการวินิจฉัยออกมาอย่างไร ก็ต้องยอมรับ และถือเป็นที่สุดแล้ว
"ทั้งหมดก็ต้องทำใจ เพราะขึ้นอยู่กับกก.สรรหา ว่าจะว่าอย่างไร เพราะทุกอย่างเป็นไปตามรธน.แล้ว ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะตอนกำหนดคุณสมบัติในช่วงที่ร่างรธน. ก็มีการพูดกันเยอะ ไม่ใช่อยู่ๆ เก็บงุบงิบแล้วค่อยมาออก เพราะเขียนอย่างเปิดเผยมาแต่ต้น ทุกคนยอมรับ ผ่านประชามติแล้ว จึงพ้นเวลาที่จะมาเถียงกันแล้วว่า ควร หรือไม่ควร จะไปหาว่าตั้งใจทำอย่างนู้น อย่างนี้ ไม่ได้ เพราะตอนเราเขียนก็ไม่ได้ไปดูว่าคุณสมบัติของแต่ละคนเป็นอย่างไร เพียงแต่คิดว่า เมื่อจะปฏิรูปประเทศ จะทำให้องค์กรอิสระมีอำนาจมากขึ้น ก็ต้องการคนที่มีคุณวุฒิ คุณสมบัติ และประสบการณ์สูงขึ้น "
ส่วนเหตุผลที่ไม่กำหนดในรธน. ให้คุ้มครองผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่จนครบวาระ เพราะ รธน.ที่เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ มีผลทันทีเมื่อบังคับใช้ และอำนาจก็ตามมา ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนคุณสมบัติทันที จะไปรอไม่ได้ เพราะไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นกฎหมายลูกที่จะออกมา จะไปเขียนว่าให้คนที่ดำรงตำแหน่งปัจจุบันอยู่ต่อจนครบวาระ เราก็คิดว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าคนอื่นคิดว่าทำได้ จะไปแก้ กรธ.ก็ไม่ว่าอะไร แต่ก็ต้องรับผิดชอบด้วย หากมีการแก้ไขในลักษณะนี้ ในชั้นของ สนช. ก็ต้องไปเผชิญกับปัญหาเอาเอง
ส่วนเรื่องบทลงโทษเรื่องการซื้อขายตำแหน่งถึงประหารชีวิต ที่มีการวิจารณ์ว่าสูงเกินไปนั้น คนที่พูดไม่เคยดูกฎหมายปัจจุบัน ที่ออกในปี 2558 ที่มีการกำหนดโทษประหารชีวิตไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจ ก็จะมีการเขียนเพิ่มถ้อยคำว่า หรือ จำคุกตลอดชีวิต เข้าไป ซึ่งโดยปกติเมื่อศาลพิจารณาคดี ก็ไม่ใช่หมายความว่า ศาลจะตัดสินประหารชีวิตอย่างเดียว เนื่องจากลดหย่อนได้ เช่น จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดหย่อนโทษครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกตลอดชีวิต แต่ในเนื้อหาจะยังคงโทษประหารชีวิตไว้ เพราะข้าราชการระดับเล็กๆ ก็โดนโทษประหารเช่นกัน ในกฎหมายอาญาปัจจุบัน สิ่งที่กำหนดจึงไม่รุนแรงกว่าปกติ เพราะแม้แต่การข่มขืนกระทำชำเรา ค้ามนุษย์ ยาเสพติด ก็ประหารชีวิต ซึ่งถ้าหากคิดว่าเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัว ก็ยังดีกว่าไม่เขียนอะไรเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น