xs
xsm
sm
md
lg

“สดศรี” หนุนใช้เกณฑ์คุณสมบัติ กกต. เชื่อเก่า-ใหม่ทำงานกันได้ ให้ผู้ตรวจการฯ แทน กกต.จว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
อดีต กกต.เชียร์ กรธ.ใช้เกณฑ์คุณสมบัติเขย่า กกต.ใหม่ เชื่อคนใหม่-เก่าร่วมทำงานได้ ชี้ตำแหน่ง ปธ.กกต.ต้องเลือกใหม่ เหตุ กม.กำหนด ย้ำ กรธ.ต้องยุติธรรมใช้หลักเกณฑ์เดียวกับทุกองค์กรอิสระ หนุนผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน กกต.จว. เปิดแนวคิด กรธ. เล็งให้อำนาจคกก.สรรหาเด็ดขาดวินิจฉัย กกต.ขาดคุณสมบัติใน 15 วันนับแต่ พ.ร.ป.กกต.ประกาศใช้ แล้วเลือก กกต.ใหม่ให้ครบใน 30 วัน ด้าน ปธ.กกต.พร้อมปฏิบัติหากลบทิ้ง กกต.จว.

วันนี้ (13 พ.ย.) นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณี กรธ.จะกำหนดในบทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ กกต.ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พ้นจากตำแหน่งและให้มีการสรรหาใหม่ ว่าเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้บังคับแล้ว และในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ไม่มีการยกเว้น กกต.ที่คุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นไปโดยทันที ไม่มีอะไรที่โต้แย้งได้ ซึ่งก็คิดว่าแม้จะทำให้ กกต.บางคนต้องพ้นไปและมีการสรรหาใหม่เข้ามาเพิ่ม การทำงานร่วมกันระหว่างคนเก่ากับคนใหม่ก็คงไม่มีปัญหา เพราะการทำงานของ กกต.เหมือนราชการ มีเจ้าหน้าที่สำนักงานเป็นกำลังหลัก ก็ทำงานต่อไปได้

“คิดว่า กรธ. หรือแม้แต่ในกรรมการ กกต.ด้วยกันเอง และพนักงาน กกต. ก็อาจจะมองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพราะการทำงานของ กกต.ที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพ กรรมการบางท่านก็อาจจะวันแมนโชว์ ดังนั้น ถ้ามีการสรรหาคนใหม่เข้ามาก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี อย่างเรื่องตำแหน่งประธาน กกต. ที่ว่าเป็นสัญญาสุภาพบุรษ หากท่านไม่ได้มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติยังเป็น กกต.ต่อไปได้ แต่ตำแหน่งประธานก็คงต้องพูดคุยกันใหม่เพราะตามกฎหมายใหม่แล้วผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ที่เหลืออีก 6 คน”

ทั้งนี้ นางสดศรียังเห็นว่าหาก กรธ.จะใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวกับ กกต. ก็ต้องใช้กับกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ เหมือนกันหมด เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการไม่ยุติธรรมกับ กกต. เนื่องจากคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 50 มาก และเห็นว่า หาก กรธ.ผ่อนปรนเรื่องคุณสมบัติให้กับ ป.ป.ช ก็จะเกิดคำครหาตามมาว่า ที่ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวกับ กกต.เพราะวันข้างหน้าจะมีการเลือกตั้งจึงต้องการให้คนของใครเข้ามาดูแลหรือเปล่า และที่ ป.ป.ช.ไม่โดนก็เพราะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นคนของใครหรือเปล่า ซึ่ง กรธ.ไม่ควรทำให้เกิดคำถามลักษณะนี้ขึ้นกับสังคม เพราะไม่เป็นผลดีต่อ กรธ.และรัฐบาลเอง

นางสดศรียังเห็นด้วยกับแนวคิด กรธ.ที่ยกเลิก กกต.จังหวัด และให้มีคณะผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน เพราะที่ผ่านมา การเลือกบุคคลมาเป็น กกต.จังหวัด และการทำงานของ กกต.จังหวัดเป็นปัญหามาก โดยในการคัดเลือกก็จะมีเรื่องอิทธิพลของนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ถูกมองว่าเป็นคนของนักการเมือง ขณะที่การทำงาน กกต.จังหวัดหลายแห่งพบว่าเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของพนักงานประจำ ที่พบบ่อยคือมีการเปิดเผยข้อมูลการพิจารณาสำนวนทุจริต เช่นบอกว่า กกต.จังหวัดมีความเห็นเสนอ กกต.กลางให้ใบเหลือง ใบแดง ในสำนวนนี้ ทั้งที่สำนวนดังกล่าว กกต.กลางยังไม่ได้มีการพิจารณาเลย แต่เมื่อมีความเห็นออกไปก็เหมือนเป็นการบีบ กกต.กลาง ดังนั้น การเปลี่ยน กกต.จังหวัดมาเป็นคณะผู้ตรวจการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องที่ดี แต่ผู้ที่ กกต.จะเลือกและขึ้นบัญชีไว้ก็ต้องเป็นคนที่รอบรู้เรื่องของงานเลือกตั้ง และถ้าใช้รูปแบบดังกล่าวแล้ว ก็เห็นว่าควรยกเลิกกกต.เขตไปด้วยโดยให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนไปด้วยเลย เพียงแต่ กกต.จะต้องมีการออกระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆให้ชัดเจนว่าเขามีอำนาจหน้าที่อย่างไรในการบังคับบัญชา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนเป็นห่วงก็คือในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่เมื่อไม่มี กกต.จังหวัดเปลี่ยนมาเป็นคณะผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้วและตามกฎหมายใหม่ที่มีกระแสข่าวออกมาว่าเลือกตั้งระดับชาติ กกต.ดำเนินการ การเลือกตั้งท้องถิ่นมหาดไทยดำเนินการ กกต.ควบคุม ถามว่าแล้วคณะผู้ตรวจการเลือกตั้งท้องถิ่น จะอยู่ภายใต้การกำหนดของ กกต.หรือไม่ หรือ กกต.เข้าไปก้าวก่ายได้แค่ไหน ซึ่งเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นในแต่ละปีเลือกกันเป็นพันแห่ง ถ้ากฎหมายตัดอำนาจ กกต. ตนก็มองว่าเท่ากับว่าเป็นการรุกคืบไปสู่การยุบองค์กร กกต.ในอนาคตก็เป็นได้

ทั้งนี้ มีรายงานว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.กกต.ของ กรธ.ในส่วนบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับสถานะของ กกต.ปัจจุบันนั้น เบื้องต้น กรธ.มีแนวคิดว่าในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 203 ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น พิจารณาและวินิจฉัยว่าประธานและกรรมการ กกต.ผู้ใดซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งตาม พ.ร.ป.กกต. โดยให้แล้วเสร็จนับแต่วันภายใน 15 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ป.กกต.นี้ใช้บังคับ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด จากนั้นให้มีการดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่ง กกต.ตาม พ.ร.ป.กกต.นี้ให้ครบ 7 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการสรรหามีคำวินิจฉัย และในระหว่างนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามี กกต.ที่เหลืออยู่ไม่ถึงสี่คนให้กระทำได้เฉพาะการที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งทำหน้าที่แทน กกต.จังหวัด ว่าก่อนหน้านี้ทาง กกต.ได้มีข้อเสนอต่อ กรธ.ไปว่า กกต.จังหวัดยังมีความจำเป็นอยู่ โดยได้ให้เหตุผลต่างๆ ไว้หมดแล้ว แต่หากท้ายที่สุด กรธ.จะกำหนดให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้งขึ้นมาแทน กกต.จังหวัด กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติก็พร้อมดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนเรื่องคุณสมบัติของ กกต.นั้น ตนไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะการไปพูดก่อนคงจะไม่ดีสักเท่าไร ดังนั้นต้องขอดูรายละเอียดที่ชัดเจนเสียก่อนประธาน กกต. พร้อมปฏิบัติ หาก กรธ.กำหนดผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัด


กำลังโหลดความคิดเห็น