xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” เผย กรธ.บ่น พ.ร.บ.พรรคหย่อน-ตึงไปหน่อย ด้าน “ไพบูลย์” เตือน สปท.ระวังการเมืองกดดัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกต.เผย กรธ.ติง พ.ร.บ.พรรคการเมืองมีจุดหย่อนตึง แนะ กรธ.ฟังความเห็นรอบด้านแต่ฟังความเห็นจากพรรคต้องฟังหูไว้หู “ไพบูลย์” ติงข้อเสนอ สปท.กลัดกระดุมเม็ดแรกปมแก้โกงเลือกตั้งผิด เตือนอย่าคิดร้ายกับผู้สมัคร ส.ส.เกินไป ระวังฝ่ายการเมืองกดดัน ขอล็อกสเปก ส.ว.บ้าง ใครดอดเจอ กก.สรรหาเจอใบแดงตัดสิทธิรับการสรรหาทันที

วันนี้ (8 ก.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงภายหลังที่ได้เข้าชี้แจงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประเด็นที่ กกต.ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ... ให้ กรธ.พิจารณาว่าตนได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลในการร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว 3 ข้อ คือ ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองในปัจจุบันกลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพ ไม่ใช่เป็นของนายทุน การสรรหาตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อที่มีคุณภาพ เป็นตัวแทนของพรรค โดยให้ที่ประชุมสาขาพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร อีกทั้งนโยบายที่พรรคการเมืองจะเสนอต่อประชาชน ต้องเป็นประโยชน์ ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู ไม่มีผลในทางปฏิบัติ โดย กกต.กำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งรายละเอียดที่มางบประมาณ ระยะเวลา ประโยชน์ที่จะได้ และผลกระทบของตัวนโยบาย ให้ กกต.เพื่อที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะ แต่ถ้าไม่ส่งให้ กกต.ก็ไม่สามารถนำนโยบายนั้นไปใช้หาเสียงได้ แต่ กกต.จะไม่เข้าไปตรวจสอบตัวนโยบายแต่อย่างใด

นายสมชัยกล่าวอีกว่า ผลจากการประชุมนั้น ทาง กรธ.ได้แสดงความเป็นห่วงว่าสิ่งที่ กกต.เสนออาจตึงหรือหย่อนไป ต้องปรับให้เกิดความพอดี เพราะบางข้ออาจทำให้พรรคการเมืองดำเนินการลำบาก เช่น การที่ต้องส่งรายละเอียดของนโยบายมาให้ กกต.เพื่อใช้หาเสียง เพราะอาจเกิดกรณีที่พรรคอาจคิดนโยบายใกล้กับช่วงที่มีการเลือกตั้ง แล้วส่งรายละเอียดมาไม่ทัน อย่างไรก็ตาม กรธ.ต้องไปพูดคุยกันเอง อาจรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน แต่ความเห็นจากพรรคการเมืองนั้นต้องฟังหูไว้หู เพราะถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียและรักษาผลประโยชน์ตนเอง ส่วนที่มีข้อเสนอว่าจะให้มหาดไทยเป็นผู้จัดเลือกตั้งนั้นยังไม่ได้มีการหารือ โดยอาจคุยตอนที่ กกต.ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. หรือประเด็นเรื่องยุบ กกต.จังหวัด ก็อาจหารือตอนที่ส่งร่างพ.ร.บ.กกต. ทั้งนี้ ตนได้แจ้งให้ กรธ.ทราบว่า กกต.จะส่งกฎหมายที่เหลือ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะส่งมาวันที่ 13 ก.ย. พ.ร.บ.กกต.ส่งวันที่ 20 ก.ย. และ พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.จะส่งวันที่ 27 ก.ย.นี้ หากกรธ.เห็นต้องการรับฟังเหตุผลเพิ่มเติม กกต.ก็ยินดีที่จะมาชี้แจงถึงเหตุผลในการร่างกฎหมายแต่ละฉบับ

อีกด้านหนึ่ง นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตนรู้สึกว่าข้อเสนอต่อการร่าง พ.ร.บ.ประกอบว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือแม้แต่ พ.ร.บ.พรรคการเมืองของสปท.ต่างๆ ที่ออกมานั้น กำลังมองผู้สมัคร ส.ส.เป็นผู้ร้ายค้ายาบ้าอยู่หรือเปล่า เพราะมีการเพิ่มโทษในฐานความผิดเล็กน้อยๆ ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง ต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง และต้องเป็นธรรมกับผู้สมัครส.ส.ด้วย พอตนจะลงเลือกตั้งก็เพิ่งเข้าใจว่า วิธีที่จะหยุดการทุจริตเลือกตั้งต้องหยุดด้วยการตัดเงื่อนไขการใช้เงินออกไป โดยใช้ประชามติโมเดลให้ กกต.เป็นผู้แจกประวัติข้อมูลของผู้สมัคร รวมไปถึงนโยบายของพรรคการเมืองส่งถึงประชาชนทุกครัวเรือนเหมือบกับตอนแจกร่างรัฐธรรมนูญก่อนประชามติ บวกกับ การใช้เจแปนโมเดล โดยจำกัดการหาเสียงเฉพาะแต่ตัวผู้สมัครเท่านั้นที่สามารถปราศรัยหาเสียงได้ ห้ามขนคนไปช่วยหาเสียงแทน ทั้งหมดก็จะใช้เงินลดลงและจะเปลี่ยนการเลือกตั้งอย่างพลิกโฉมเลย ดังนั้น อย่าไปคิดร้ายกับผู้สมัคร ส.ส.มากเกินไป ระวังฝ่ายการเมืองจะออกมาเรียกร้องให้มีการกำหนดสเป็กผู้ที่จะคัดเลือกตั้งสรรหา ส.ว.บ้าง ด้วยการเสนอว่า หากพบหรือมีข้อมูลว่า คนที่จะเข้ารับการสรรหา ส.ว.ไปพบหรือคุยหรือติดต่อกับกรรมการสรรหา ให้ตัดสิทธิบุคคลนั้นด้วยการแจกใบแดงห้ามลงไปเลย เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น