คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อ้างให้ คสช. ร่วม กกต. จัดเลือกตั้งเพราะอยากเห็นโหวตสุจริต ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง บอกใคร ๆ ก็ต้องการ จะได้มีผลงานที่ยอมรับ ด้าน “นิกร” ค้านคุม ถามจะตอบสังคมโลกยังไง ชี้ประสบการณ์ชัดมหาดไทยทำไม่ชอบธรรม บอกรอเคาะอีกรอบ 6 ก.ย. นี้
วันนี้ (2 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณี กมธ. การเมือง สปท. มีข้อเสนอ ให้เขียนในบทเฉพาะกาล ให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป ว่า ข้อเสนอนี้มาจากการตกผลึกที่เห็นร่วมกันใน กมธ. ที่ประกอบไปด้วย บุคลากรจากทุกพรรค ทุกสี ที่อยากเห็นการเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม อยากให้การเลือกตั้งในปี 60 เป็นตัวอย่างให้การเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคต ซึ่งจะเกิดได้ในแบบวิธีแบบนี้ที่คิดขึ้นมา
นายวันชัย กล่าวว่า โดยให้ คสช. กับ กกต. ร่วมกันดำเนินการให้ดูเป็นตัวอย่าง เพราะ คสช. เป็นผู้ประกาศมาเองว่าอยากเห็นการเลือกตั้งโปร่งใส และในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็เขียนไว้ด้วยว่า ต้องการปฏิรูปการเลือกตั้ง ถ้าสักแต่ว่าเขียนเป็นตัวบทกฎหมาย ถ้า คสช. ไม่กำกับ ไม่ดูแล ไม่ทำให้ดู ถึงเวลาจริงทำไม่ได้ จะเท่ากับสักแต่ว่าพูด สักแต่ว่าประกาศเท่านั้น จึงเป็นภารกิจของ คสช. ต้องร่วมมือกับกกต. ให้เป็นไปตามที่ประกาศไว้ให้ได้ ต้องใช้สรรพกำลังทุกภาคส่วน ตำรวจ ทหาร ทุกตำบล หมู่บ้าน ติดตามจับกุม สกัดกั้น ยับยั้งการทุจริตทั้งมวล ข้อเสนอนี้ ไม่จำเป็นต้องไปเดินสายถาม หรือคุยกับนักการเมืองอีกแล้ว เพราะเป็นข้อเสนอที่ดีประชาชนต้องการ นักการเมืองก็ต้องการ เว้นไว้แต่นักการเมืองที่ต้องการเข้าไป ซื้อเสียง ทำทุจริตเลือกตั้งที่อาจไม่ชอบ
“ส่วนกรณี กรธ. บอกว่า ต้องไปรับฟังความคิดเห็นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักการเมืองก่อนนั้น ผมยืนยัน ข้อเสนอนี้ของ กมธ. การเมือง ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับกฎหมายลูก ที่ กรธ. กำลังทำสักเท่าไหร่ กรธ. จะเอาหรือเปล่า เขียนเป็นกฎหมายหรือไม่ แต่ กมธ. ต้องการส่งข้อเสนอตรงไปยัง คสช. เพื่อให้เอาจริงเอาจัง กับเรื่องนี้ คสช. จะได้มีผลงานเป็นที่ยอมรับ”
ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ. กล่าวว่า ใน กมธ. มีตัวแทนจากฝ่ายการเมืองอยู่แล้วหลายคน ข้อเสนอของเราว่ากันด้วยเหตุผล ที่ต้องการจะแก้ปัญหาการเมืองแบบเดิม ๆ วันนี้ต้องกล้าตัดสินใจ ว่าอะไรจะทำให้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นหมดไป กมธ. ไม่กลัวกระแสต่อต้านจากภายนอก ถ้าไปกลัววังวนแบบเดิม ๆ จะกลับมาอีก ทั้งนี้ ถ้าหากใครมีข้อเสนอที่ดีก็เสนอไป แต่คนที่จะจัดทำ คือ กรธ. และยังต้องส่งต่อให้ สนช. พิจารณาอีก ต่อจากนี้ ใครมีข้อเสนอก็ต้องทำตามกระบวนการ จะปรับแก้ รับข้อเสนอหรือไม่รับ ก็เป็นเรื่องของ กรธ.
ขณะที่ นายนิกร จำนง กมธ. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้กระทรวงมหาดไทยมีส่วนร่วมจัดการเลือกตั้ง เหตุผลของข้อเสนอนี้มาจากการที่ กกต. จัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 ไม่สำเร็จ จึงมีผู้เสนอให้กระทรวงมหาดไทยมาช่วย เพราะมีกำลังคนพร้อม แต่ประสบการณ์ทางการเมืองกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตนสัมผัสมาแล้วว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มีสังกัดพรรคการเมือง จะมีอำนาจและอิทธิพลสูง จะกดดันบุคลากรในพื้นที่จนทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบธรรมได้ ข้อเสนอนี้จะทำให้เสียมากกว่าได้ ปัญหาการจัดเลือกตั้งไม่สำเร็จที่หยิบยกมา เป็นเรื่องของการบริหารจัดการของ กกต. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่เป็นเรื่องโครงสร้างอำนาจหน้าที่ ดังนั้น การจัดการเลือกตั้ง ควรเป็นภาระขององค์กรกลางอย่าง กกต. เหมือนเดิม เพื่อความเป็นอิสระ เราพัฒนาประชาธิปไตยมาแล้ว จะกลับไปแบบเดิมไม่ได้
“ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่จะเขียนในบทเฉพาะกาล ให้ คสช. เข้ามามีบทบาทควบคุมจัดการเลือกตั้งร่วมกับ กกต. ในปี 2560 คสช. มีอำนาจมาตรา 44 ครอบทั้งหมดอยู่แล้ว การดึง คสช. ลงมาเอี่ยวการเลือกตั้งครั้งถัดไป ที่มีไว้เพื่อกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย จะทำให้ทุกอย่างเสียไปทั้งระบบ เราจะตอบสังคมโลกอย่างไร ลำพังตอนนี้เรามีประชาธิปไตยเพียงครึ่งใบ หากให้ คสช. มาช่วยจัดเลือกตั้งอีก ประชาธิปไตยจะเหลือเพียงแค่เสี้ยวใบ” นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวอีกว่า ข้อเสนอของ กมธ. การเมือง สปท. ใช้มติเสียงข้างมากในการรับรองข้อเสนอ แต่ตัวแทนฝ่ายการเมืองมีน้อย จึงทำให้บางประเด็นเสียงสู้ไม่ได้ แต่ข้อเสนอในบทเฉพาะกาล ตนยืนยันว่า ไม่มีการนำมาพิจารณาในที่ประชุม กมธ. การเมือง เพื่อขอมติ เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของสมาชิก สปท. บางคนเท่านั้น รายงานข้อเสนอแนะการร่าง พ.ร.บ. การเลือกตั้ง ส.ส. ที่ออกไปจึงมีหลายระดับ ไม่ใช่ทุกประเด็นที่เห็นชอบร่วมกันทั้งหมด และรายงานฉบับดังกล่าวยังไม่สะเด็ดน้ำ ต้องรอการพิจารณารอบสุดท้าย ร่วมกับรายงานข้อเสนอแนะเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยพรรคการเมืองอีก ในการประชุม กมธ. การเมือง วันที่ 6 ก.ย. นี้อีกครั้ง ก่อนจะนำเข้าสู่การอภิปรายของที่ประชุมใหญ่ สปท. ต่อไป