xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์” ค้าน มท.จัดเลือกตั้ง กรธ.ยันไม่ทำตาม สปท.หมด แนะไปปฏิรูป ศธ.- ใช้ กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
อดีต กมธ. ยกร่างฯ “ไพบูลย์” บอกพรรคการเมืองมีฐานสมาชิกไม่จำเป็นต้องกลัวรีเซตพรรค แต่ค้านมหาดไทยจัดเลือกตั้ง แนะ กกต. ควรปรับปรุงส่วนจังหวัดให้ดีขึ้น เสนอพรรคควรส่งผู้สมัครแบบเขตไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของเขตทั้งประเทศ เพื่อเป็นพรรคระดับชาติ ห้ามมีหัวคะแนน ด้าน กรธ. “อุดม” บอกถ้านักการเมืองมีข้อเสนอเขียนกฎหมายลูกดี ๆ ให้ส่งมา ยันไม่ทำตาม สปท. ฝ่ายเดียว ขณะที่ “อมร” แนะไปเร่งปฏิรูปการศึกษา การใช้กฎหมาย

วันนี้ (4 ก.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอการรีเซตพรรคการเมือง ว่า ตนเห็นด้วย เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะที่มาของสมาชิกพรรคต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าพรรคการเมืองที่มีฐานสมาชิกอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปกลัวอะไร แต่ในส่วนของการจะให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดการเลือกตั้งนั้น ตนไม่เห็นด้วย ควรให้เป็นอำนาจของ กกต. ตามเดิม แต่ กกต. ต้องไปปรับปรุง กกต. จังหวัด ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ตนยังมีข้อเสนอเพิ่มเติม ที่อยากให้เพิ่ม คือ ให้พรรคการเมืองมีความเป็นระดับชาติมากขึ้น ไม่ใช่แค่ระดับจังหวัด หรือระดับภูมิภาค โดยให้บัญญัติว่า พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครแบบเขต ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของเขตเลือกตั้งทั้งประเทศและต้องส่งทุกภาค เพื่อให้เกิดความเป็นพรรคระดับชาติ และทำให้จำนวนพรรคมีอย่างเหมาะสม รวมทั้งการห้ามมีหัวคะแนน เหมือนระบบของประเทศญี่ปุ่น เพราะหัวคะแนนถือเป็นพวกทำลายระบบการเมือง ผู้สมัครควรจะลงไปหาเสียงด้วยตนเอง และลดจำนวนการใช้เงินการหาเสียง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกครอบงำโดยนายทุนพรรค ทั้งนี้ ตนอยากให้ กรธ. รับฟังความเห็นของประชาชนด้วย รวมทั้งผู้สมัครหน้าใหม่ ๆ ไม่ใช่ฟังแต่อดีต ส.ส. เท่านั้น

ด้าน นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ว่า กรธ. ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องดังกล่าว ต้องรอดูร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน และต้องรอให้ สปท. ส่งข้อเสนออย่างเป็นทางการมาให้ ที่ผ่านมา มีการพูดและวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอเหล่านั้นกันมาก แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงข้อเสนอ ที่ทุกฝ่ายสามารถจะส่งมาให้ กรธ. พิจารณาได้ ไม่เว้นแม้แต่นักการเมืองหรือพรรคต่าง ๆ เอง หากมีข้อเสนอในการเขียนกฎหมายลูกดี ๆ ก็ส่งมาให้ กรธ. พิจารณาได้เลย เพราะ กรธ. เองก็อยากฟังความคิดเห็นของคนที่อยู่ในเกมด้วย ทั้งนี้ การเขียนกฎหมายลูกของ กรธ. ไม่ใช่ว่าเราต้องทำข้อเสนอของ สปท. เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายให้ครบถ้วน และต้องไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติหลักในร่างรัฐธรรมนูญ และท้ายที่สุดเมื่อเขียนออกมาเสร็จแล้ว เราก็ต้องเปิดเผยให้กับสาธารณชนรับทราบด้วย

ขณะที่ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า แนวความคิดของ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ถือเป็นข้อเสนอหนึ่งที่ กรธ. ต้องเอามาร่วมพิจารณากับข้อเสนออื่น ๆ ไม่ใช่เรื่องชั้นเดียว ที่เขาเสนอมาแล้วเราต้องไปทำตามทั้งหมด เราต้องฟังความเห็นของประชาชนด้วย และหากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด กรธ. ก็ต้องฟังคิดเห็นของหน่วยงานนั้น ๆ ด้วย โดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่หน้างานจริง ๆ เพราะพวกเขาเหล่านั้นจะรู้ว่ามีปัญหาอะไรในการทำงานบ้าง เวลานี้หากใครจะส่งข้อเสนอมาก็ส่งมาได้เลย กรธ. พร้อมเอามาพิจารณาหากข้อเสนอนั้นดีก็สามารถจะเอามาเขียนได้ ยืนยันว่า ไม่มีอะไรมากดดันการทำงานของ กรธ. ได้ เรายึดประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ ตนคิดว่า สปท. เองยังมีเรื่องการปฏิรูปอีกหลายเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วน เช่น เรื่องการศึกษา และการบังคับใช้กฎหมาย หากทำสองเรื่องนี้สำเร็จก็จะส่งผลดีกับการปฏิรูปอื่น ๆ ด้วย ส่วนเรื่องการเมืองมีคนทำเรื่องนี้มากอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น