เมืองไทย 360 องศา
ไม่รู้เป็นเพราะมีการวางแผนล็อกผลเอาไว้ล่วงหน้าหรือว่าทำใจไม่ได้กันแน่ เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ จากพรรครีพลับลิกัน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เหนือ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ไปแบบเหนือความคาดหมายของหลายคน สื่อต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาเองที่รายงานผลสำรวจออกมาอย่างต่อเนื่องว่า คลินตัน ชนะ กลายเป็นหน้าแตกหงายเงิบกันเป็นแถว บรรดากูรูทั้งหลายก็วิพากษ์วิจารณ์ในทำนองเดียวกันว่า ทรัมป์ แพ้แน่ ซึ่งโลกก็เชื่ออย่างนั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเป็นตรงกันข้าม หลายคนก็ช็อกทำใจไม่ได้ โดยเฉพาะคนอเมริกันที่ออกมาประท้วงกันตามท้องถนนจำนวนมาก หลังทราบผลว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน กำลังเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 45 ต่อจาก บารัค โอบามา
แน่นอนว่า ในจำนวนนี้ย่อมต้องเป็นผู้สนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตเป็นส่วนใหญ่ที่สนับสนุน ฮิลลารี คลินตัน หรือแม้กระทั่งสมาชิกพรรค หรือผู้ที่เคยสนับสนุนพรรครีพับลิกันมาก่อนที่ไม่ชอบ ทรัมป์ จำนวนไม่น้อยก็ออกมาร่วมประท้วงด้วย ดังจะเห็นได้จากที่ก่อนหน้านี้มีคนดังไม่น้อยที่ออกมาขัดขวางเขา ในจำนวนนั้นก็มีอดีตประธานาธิบดีบุช ผู้พ่อที่ประกาศออกมาอย่างชัดเจน รวมไปถึงสมาชิกพรรครีพับลิกันคนสำคัญอีกหลายคนที่บอกว่ารับไม่ได้กับท่าที และคำพูดของ ทรัมป์
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามนี่คือกติกาประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งออกไปทั่วโลก ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ จะผิดหวังอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อผลออกมาได้คนอย่างทรัมป์ คนอเมริกาก็ต้องทำใจ ซึ่งแน่นอนว่า นอกเหนือจากคนอเมริกันซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพวกเดโมแครตที่รับไม่ได้แล้ว ยังมีบรรดาผู้นำประเทศบางประเทศที่ไม่ต้องการให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง ในจำนวนนั้นก็มีผู้นำญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ที่เมื่อผลออกมาพลิกล็อกอย่างที่เห็นเขาก็นั่งไม่ติดรีบยกหูโทร.เคลียร์กับ ว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯทันที และคาดว่า จะเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่จะเดินทางไปพบกับ ทรัมป์ ในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ดี นาทีนี้เชื่อว่าไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไร โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ต้องก้าวขึ้นเป็นประชาธิบดีสหรัฐอเมริกา วันยังค่ำ เพราะในเมื่อกติกาเป็นแบบนั้น ยังไม่มีเหตุผลอื่นที่จะขัดขวางไม่ให้เขาเป็นผู้นำประเทศ หากจะโทษก็ต้องโทษระบบ โทษลม หรือดินฟ้าอากาศ ที่เปิดโอกาสให้เขาเข้ามา หรือแม้กระทั่งคนแบบ ฮิลลารี คลินตัน ได้เข้ามาเป็นคู่แข่งขันชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี หรือไม่ก็ต้องโทษเวรกรรมของสหรัฐอเมริกาเอง ที่ต้องเป็นแบบนี้
สำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ต้องยืนยันว่า “ผมมาจากการเลือกตั้ง (นะเฟ้ย) หากใครทำใจไม่ได้ก็ให้กระอักเลือดไปเลย อย่างไรก็ดี ก็ต้องจับตากันต่อไปว่า การประท้วงต่อต้าน ทรัมป์จะมีขึ้นต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน หากประท้วงต่อต้านแบบตอแยไม่หยุดหย่อนมันก็พอสันนิษฐานได้ว่างานนี้ “มีเบื้องหลัง” แต่หากผ่านไปสักวันสองวันแล้วค่อยซาลงจนทำใจได้ นั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของคนที่ช็อกและรับไม่ได้กับข่าวร้ายที่ตัวเองไม่ต้องการรับรู้จึงต้องแสดงออกมาบางอย่างเท่านั้น
อย่างไรก็ดี หลังจากมีรายงานข่าวต่างประเทศเข้ามา พบว่า มีการประท้วงต่อต้านทรัมป์ต่อเนื่องมาเป็นวันที่สองแล้ว บางรัฐเช่น แคลิฟอร์เนีย มีกลุ่มเล็กๆ ที่เรียกร้องถึงขั้นให้แยกรัฐออกมาเป็นเอกราชกันเลยทีเดียว แต่ในภาพรวมๆ แล้ว ก็ยังไม่ถึงขั้นบานปลายจนเอาไม่อยู่ ซึ่งทั่วโลกก็เฝ้าจับตาอยู่ว่าในที่สุดแล้วสหรัฐอเมริกาจะไปทางไหน และว่าที่ผู้นำคนใหม่จะมีวุฒิภาวะหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาด้วยลีลาการพูด และการกำหนดนโยบายหลายอย่าง แม้ว่าจะโดนใจชาวบ้านระดับล่างๆ จำนวนมาก ไม่เช่นนั้นคงไม่ชนะเลือกตั้งเป็นแน่
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องจับตาอีกอย่าง ก็คือ หากมีการประท้วงยืดเยื้อ มันก็น่าเป็นห่วงว่าเมื่อถึงตอนนั้นก็จะมีฝ่ายที่สนับสนุนทรัมป์ออกมาบ้าง นั่นแหละถึงจะเรียกว่ายุ่งขนานแท้ และยุ่งถาวรยาวนานสำหรับสหรัฐอเมริกา ก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์จะไม่ไปไกลถึงขนาดนั้น
เหตุการณ์แบบนี้เชื่อว่า หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา ที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของระบอบการปกครองชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ที่มาจากการเลือกตั้ง ภูมิใจถึงขั้นที่ว่าต้องบังคับให้ประเทศอื่นหันมาใช้แนวทางเดียวกัน นั่นคือ ใช้ข้ออ้างว่า “ต้องมาจากการเลือกตั้ง” เท่านั้น ถึงจะคบค้าสนับสนุน บังคับใหัประเทศอื่นตัดสินกันด้วยการเลือกตั้ง โดยไม่สนใจว่าวัฒนธรรม ความหลากหลายที่มาแต่ละประเทศเป็นอย่างไร แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะเกิดขึ้นกับบางประเทศเท่านั้นที่ผลประโยชน์ของประเทศตัวเองถูกคุกคามหรือไม่มั่นคง เพราะกับอีกบางประเทศที่แม้จะเป็นระดับ “โคตรเผด็จการ” แค่ไหน แต่ถ้ายอมเป็นเบี้ยล่าง หรือเป็นดินแดนที่สหรัฐฯมีผลประโยชน์ก็จะมองผ่านทำเป็นไม่พูดถึง ไม่เชื่อก็ลองพิจารณาบางประเทศในตะวันออกกลางที่เป็นพันธมิตรแนบแน่น ก็ยังคบค้าสนับสนุนส่งอาวุธให้หน้าตาเฉย ไม่เห็นเคยเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ประเทศไทยก็เหมือนกันในยุคเผด็จการทหารยุคหนึ่งในอดีตสหรัฐฯก็สนับสนุนเต็มร้อย
ดังนั้น สรุปว่า การเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยที่สหรัฐฯนำมาใช้เป็นเงื่อนไขกับประเทศอื่นนั้นล้วนเป็นข้ออ้างในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ขณะเดียวกัน เชื่อว่า ชาวโลกกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าอนาคตสหรัฐอเมริกาจะไปทางไหน จะเน้นหนักไปในเรื่องดูแลตัวเองให้เข้มแข็งก่อนที่จะ “แส่” เรื่องชาวบ้านหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรนี่คือบทพิสูจน์ได้อีกทางหนึ่ง ว่า ไม่ว่าระบอบการปกครองแบบไหนย่อมมีจุดอ่อน มีช่องโหว่ และที่สำคัญ ขึ้นอยู่กับ “ผู้นำ” ว่าเป็นแบบไหน เพราะบางครั้ง “ที่มา” และวิธีการมันไม่ใช่หลักประกันได้เต็มร้อย
สำหรับ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เช่นเดียวกัน นาทีนี้ก็ยังสรุปเขาไม่ได้ว่า เป็นแบบไหน เพราะลีลาและคำพูดช่วงหาเสียง อาจมีการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งในช่วงที่เป็นผู้นำ แต่สิ่งไหนที่เป็นนโยบายก็ต้องเดินหน้า เพราะได้ประกาศไปแล้ว ส่วนเมื่อปฏิบัติไปแล้วจะเกิดหายนะ หรือเป็นผลบวก คนสหรัฐฯก็ต้องรับผิดชอบ เพราะดันเลือกเข้ามาแล้ว ก็ได้แต่หวังว่า “ทรัมป์คงไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะมาจากการเลือกตั้ง” ไงละ ต้องให้เกียรติกันหน่อย (นะเฟ้ย) !!