xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ย้ำ มติ คตง.บี้ ปตท.คืนท่อก๊าซ ทำตามคำสั่งศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ แจงมติ คตง.ให้ ปตท.คืนทรัพย์สินให้ครบ ไม่ได้อยู่เหนือคำสั่งศาล แต่เป็นการทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 12 ธ.ค. 57 ที่ระบุให้เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานภายใต้บังคับบัญชาของ ครม. หลัง ปตท.รายงานเท็จต่อศาลปกครอง จนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลอีกครั้ง

วานนี้ (11 ต.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล กรณีที่มีผู้ตั้งคำถามว่า ในการคืนทรัพย์สิน ปตท.นั้น รัฐบาลต้องปฏิบัติตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่ระบุว่า ยังคืนไม่ครบ หรือต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่าคืนครบแล้ว โดย น.ส.รสนา ได้ชี้แจงดังนี้

“คตง. สตง. ตรวจสอบกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 800/2557”

มีผู้อ่านท่านหนึ่งตั้งคำถามดิฉันว่า “สอบถามคุณรสนาว่า ตกลงว่าต้องปฏิบัติตาม สตง. คตง. ใช่ไหมครับ ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล คือ ส่วนตัวก็เห็นว่าทาง ปตท.เขาก็ปฏิบัติตามกรอบ ตามระเบียบนะครับ ศาลสั่งก็แบ่งแยก คืนแล้วรายงานต่อศาล ศาลพิจารณาว่าครบแล้ว แต่ถ้า สตง. หรือ คตง. ตีความว่าไม่ครบ แล้วต้องปฏิบัติตาม มันไม่ขัดต่อหลักหรือครับ ผมว่าเรื่องนี้น่าจะขึ้นอยู่กับคำสั่งศาลมากกว่า เพราะศาลเป็นองค์กรเดียวที่จะตัดสินเรื่องนี้ได้ และคิดว่าต่อให้ศาลมีคำสั่งแบบไหน ปตท. เขาก็พร้อมปฎิบัติตามนะครับ”

ดิฉันขอตอบคำถามนี้เพื่อให้ข้อมูลต่อสาธารณะด้วยดังนี้

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหมายเลขคดีแดงที่ ฟ 35/2550 เมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ความว่า “พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน, บมจ.ปตท.) ร่วมกันกระทำการแบ่งแยก (1)ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (2) สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้ง (3) แยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4”

คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติคณะรัฐมนตรี (มติ ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 เนื้อหาโดยสรุปคือ “เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้ หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาล ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป”

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 บริษัท ปตท. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ส่งรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด และอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่และผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ ฟ 35/2550 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่ สตง.ยังมีความเห็นแย้งเรื่องทรัพย์สินที่ต้องแบ่งแยกคืนกระทรวงการคลัง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ก็ไม่ได้รับรู้กับรายงานดังกล่าวด้วย

ตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของคดี เมื่อได้รับรายงานที่กล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่และผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาแล้ว จึงได้ลงลายมือ “รับทราบ” ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาแล้ว ซึ่ง ปตท.ได้ยึดเอาการ “รับทราบ” รายงานการคืนทรัพย์สินโดยตุลาการเจ้าของคดีเป็นการรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินว่าแบ่งแยกครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว

แต่ในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก่อนนำไปรายงานต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น ยังไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ครม.ที่มอบหมายให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินเสียก่อน และข้อโต้แย้งในประเด็นว่าทรัพย์สินส่วนใดที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีความเห็นแย้งกัน ระหว่าง สตง. และ บมจ.ปตท. เช่น ท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ก็มิได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยให้มีข้อยุติตามที่มติ ครม.ได้มอบหมาย และเมื่อ สตง.ทำหนังสือถึงศาลปกครองสูงสุด โต้แย้งว่าเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท.ยังไม่ครบถ้วน ยังมีท่อส่งก๊าซในทะเลและท่อส่งก๊าซบนบกที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนก่อนการแปรรูปเมื่อปี 2544 ซึ่งมูลค่าในขณะนั้นคือ 32,613.45 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้แบ่งแยกและส่งมอบ แต่ศาลปกครองสูงสุด (ตุลาการเจ้าของคดี) ในขณะนั้นก็มิได้เรียก สตง.มาสอบถาม

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกในฐานะผู้ฟ้องคดีเดิมได้รวบรวมรายชื่อประชาชน 1,450 คน ร้องต่อศาลปกครองให้มีการพิจารณาว่ากระบวนการแบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินยังมิได้ดำเนินการตามมติ ครม. 18 ธันวาคม 2550 ที่ต้องให้ สตง.ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเสียก่อนที่จะรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด

ในคดีฟ้องนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้ออกคำสั่งที่ 800/2557 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557 โดยในหน้า 64 ระบุว่า “การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบคนกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)) ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งผลการตรวจสอบของ สตง.ยืนยันว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)) ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่กระทรวงการคลังยังไม่ถูกต้องครบถ้วน จึงเป็นการรายงานสรุปการดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กระทรวงการคลังที่ยังไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบคน กล่าวอ้างว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะเป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น”

หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 800/2557 ที่ระบุว่า การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องไปว่ากล่าวกันเองภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี แต่เมื่อไม่มีการว่ากล่าวตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงไปร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้มีการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของ คตง. ว่าหน่วยราชการในฐานะผู้รับตรวจมีการละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือมติ ครม.หรือไม่ ซึ่งเป็นการร้องตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 800/2557

ดังนั้น มติ คตง. 10 พฤษภาคม 2559 มีคำวินิจฉัยว่า บมจ.ปตท.ยังแบ่งแยกทรัพย์สินเรื่องท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบภายในตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และ คตง.ก็ได้ส่งมติดังกล่าวเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 ถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และ บมจ.ปตท.ให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 24 ตุลาคม 2559

ตามบทบัญญัติมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน หากผู้รับตรวจที่ได้รับแจ้งมติแล้ว ไม่ปฏิบัติภายใน 60 วัน จะมีความผิดตามมาตรา 157 และความผิดอื่นตามกฎหมาย

ข้อสงสัยที่ว่ามติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่ส่งถึงให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุด กระทรวงการคลัง และ บมจ.ปตท. และสั่งให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามการตรวจสอบของ สตง.นั้น จะเป็นมติที่เหนือกว่าคำสั่งของตุลาการศาลปกครองเจ้าของคดีหรือไม่นั้น ต้องชี้แจงว่า มติของ คตง.เป็นการตรวจสอบภายในว่ามีการปฏิบัติตามมติ ครม.ครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งอิงตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุดและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต้องกำกับให้หน่วยราชการภายใต้การบังคับบัญชาปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน และหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนผู้ถูกฟ้องคดีตามคำพิพากษาจึงชอบที่จะนำความกราบเรียนต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป มิใช่ปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไปรายงานศาลดังที่ผ่านมา

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. น.ส.รสนา ได้โพสต์ข้อความชื่นชมคณะรัฐมนตรีที่มีมติให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สิน ปตท.ให้ครบถ้วนตามมติ คตง.เมื่อวันที่ 27กันยายน 2559 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้ลงมติรับทราบเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่มีถึงคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ที่ระบุเรื่องที่ ปตท.ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน และตามมติของ คตง. คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 24 ตุลาคม 2559

นอกจากรับทราบมติ คตง. แล้ว คณะรัฐมนตรีก็มีมติรับทราบผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่ระบุเช่นกันว่า ยังมีการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. คืนรัฐไม่ครบถ้วน มติ ครม. ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน นำรายงานการตรวจสอบของ คตง.ไปพิจารณาและสั่งให้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีก่อนครบกำหนด 60 วัน คือ ก่อนวันที่ 24 ตุลาคม 2559 และยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือร่วมกับ สตง.ว่ายังมีเรื่องใดที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติมให้ได้ข้อยุติโดยยึดประโยชน์ของแผ่นดินเป็นสำคัญ

มติคณะรัฐมนตรี คสช.ในครั้งนี้สมควรได้รับความชื่นชมที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติที่ถูกต้องในการนำทรัพย์สินแผ่นดินกลับคืนสู่ประชาชนคนไทยทั้งชาติ นับเป็นการสนองพระราชดำรัสแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า

“เงินแผ่นดินคือเงินของประชาชนทั้งชาติ”

ในกรณีนี้ที่เลขากฤษฎีกามีข้อเสนอว่า ให้ สตง. และกระทรวงการคลัง ไปให้ศาลปกครองสูงสุดหาข้อยุติต่อไปนั้น เป็นข้อเสนอที่ไม่จำเป็นและเกินขอบเขตอำนาจของเลขากฤษฎีกา ด้วยเหตุผล 2 ประการ

1 ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงที่ปรึกษาทางกฎหมายของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ข้อเสนอแนะของเลขากฤษฎีกาจึงไม่มีผลผูกพันองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ต้องปฏิบัติตาม

2 ) ศาลปกครองสูงสุดได้ให้แนวปฏิบัติต่อคณะรัฐมนตรีไว้แล้วตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557 หน้า 64 ระบุว่า

“การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบคนกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)) ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งผลการตรวจสอบของ สตง.ยืนยันว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)) ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่กระทรวงการคลังยังไม่ถูกต้องครบถ้วน จึงเป็นการรายงานสรุปการดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กระทรวงการคลังที่ยังไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบคน กล่าวอ้างว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะเป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น”

ดังนั้น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 จึงกำหนดวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่ต้องไปสั่งการให้มีการปฏิบัติตามมติ ครม. ให้ครบถ้วน ดังที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ก็ได้วินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าสิ่งใดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินหรือไม่ เป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดแล้ว มีปัญหาอยู่แต่เพียงว่าคู่กรณีได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดแล้วหรือไม่

ในที่นี้ขออ้างถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ตอนหนึ่งว่า

“...จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหน้า 83 ได้ระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่า

“ทรัพย์สินส่วนที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เช่น ท่อส่งน้ำมัน ซึ่งต้องใช้อำนาจมหาชนของรัฐดำเนินการเช่นเดียวกันกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 1304 (3) ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะรัฐมนตรี) มีหน้าที่ต้องโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับไปเป็นของกระทรวงการคลังตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เช่นเดียวกับกรณีการโอนที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กระทรวงการคลัง “จากคำวินิจฉัยดังกล่าว จะเห็นได้ว่าศาลปกครองสูงสุดมิได้แยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกเป็นส่วน ๆ หรือคำนึงว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ตั้งอยู่บนที่ดินของใคร ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งระบบไม่สามารถแยกออกเป็นท่อน ๆ ได้”

ดังนั้น โดยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 มติของ คตง. และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเพียงพอที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องกลับไปหาศาลปกครองสูงสุดอีก เมื่อปฏิบัติครบถ้วนตามมติ ครม. 18 ธันวาคม 2550 แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 จึงควรไปแจ้งต่อศาลว่าได้มีการแก้ไขการส่งมอบทรัพย์สินตามคำพิพากษาที่หมายเลขแดงที่ ฟ 35/2550 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2550 แล้ว

จึงขอให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ได้ปฏิบัติตามมติ

ครม. เมื่อ 27 กันยายน 2559 โดยให้ ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินตามมติ

คตง. เมื่อ 24 สิงหาคม 2559 โดยไม่ชักช้าให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 60 วัน มิฉะนั้น ทั้งรัฐมนตรีและข้าราชการ ตลอดจนรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องจะมีโทษตามมาตรา 157 และมีความผิดในฐานความผิดอื่น ๆ ขอให้ดูตัวอย่างกรณีจำนำข้าว ในกรณีนั้น ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการที่เกี่ยวข้องล้วนต้องรับผิดกันถ้วนหน้า จึงไม่ควรมีการถ่วงเวลาให้เนิ่นนานไปกว่านี้แล้ว เพราะยิ่งเนิ่นนานไป ความเสียหายในทรัพย์สินของประเทศชาติก็ยิ่งเพิ่มทวีขึ้น

สิ่งที่คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาต่อในเรื่องการรับคืนทรัพย์สินของแผ่นดิน คือ สมควรพิจารณาตั้ง “องค์การก๊าซแห่งชาติ” ดังในอดีตที่เราเคยมี “องค์การก๊าซแห่งชาติ” มาดูแลกิจการก๊าซที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติซึ่งตามกฎหมาย ไม่สามารถปล่อยให้เป็นธุรกิจของเอกชนอีกต่อไป

“องค์การก๊าซแห่งชาติ” สามารถตั้งโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารขึ้นมาก่อน (และสามารถออกเป็นพระราชบัญญัติในโอกาสต่อไป) เพื่อรับมอบทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติด้านปิโตรเลียม แทนที่จะปล่อยให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มารับมอบทรัพย์สินดังกล่าว เพราะกรมธนารักษ์มีหน้าที่เพียงดูแลที่ราชพัสดุเท่านั้น จึงไม่สามารถดูแลทรัพย์สินที่เป็นท่อส่งก๊าซในทะเลและทรัพย์สินอื่น ๆ อีกมากมายที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกรมธนารักษ์

การมี “องค์การก๊าซแห่งชาติ” มารับมอบทรัพย์สินแผ่นดิน คือ ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และเพื่อทำหน้าที่ดูแลระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และเปิดให้เอกชนหลายรายมาเช่าใช้ โดยรายรับจากการให้เช่านั้นเป็นรายได้ของแผ่นดิน จึงจะเป็นระบบที่ลดการผูกขาดของเอกชนได้

รัฐบาลสามารถอาศัยจุดเริ่มต้นนี้ในการปฏิรูปพลังงานอย่างแท้จริง โดยในระยะต่อไปสามารถจัดตั้งเป็น “บรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ” เพื่อดูแลทรัพย์สินทั้งระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และเปิดให้เอกชนมาเช่าใช้ ตลอดจนดูแลปิโตรเลียมต้นน้ำที่ได้จากส่วนแบ่งกับเอกชนในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำมาบริหารให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนไทยทั้งชาติอย่างแท้จริง”
กำลังโหลดความคิดเห็น