xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ชื่นชม ครม.บี้ ปตท.คืนท่อก๊าซฯ ยันไม่ต้องส่งศาลฯ อีก แนะตั้ง “องค์การก๊าซแห่งชาติ” รองรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต สปช.ด้านปฏิรูปพลังงาน ชื่นชมมติ ครม.ที่ให้ ปตท.เร่งส่งมอบทรัพย์สินที่ยังคืนไม่ครบ ตามมติ คตง. พร้อมคัดค้านข้อเสนอเลขาฯ กฤษฎีกาที่ให้ส่งเรื่องให้ศาลปกครองสูงสุดหาข้อยุติอีก ระบุ คตง.ทำตามคำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 12 ธ.ค. 57 ที่วางแนวปฏิบัติไว้ชัดเจนแล้ว เสนอตั้ง “องค์การก๊าซแห่งชาติ” ดูแลท่อก๊าซฯ ที่ได้รับมอบคืน

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล แสดงความชื่นชมคณะรัฐมนตรีที่มีมติให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สิน ปตท.ให้ครบถ้วนตามมติ คตง. โดยเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้ลงมติรับทราบเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่มีถึงคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ที่ระบุเรื่องที่ ปตท.ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน และตามมติของ คตง. คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 60 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 24 ตุลาคม 2559

นอกจากรับทราบมติ คตง.แล้ว คณะรัฐมนตรีก็มีมติรับทราบผลการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ที่ระบุเช่นกันว่า ยังมีการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท.คืนรัฐไม่ครบถ้วน มติ ครม.ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน นำรายงานการตรวจสอบของ คตง.ไปพิจารณาและสั่งให้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีก่อนครบกำหนด 60 วัน คือ ก่อนวันที่ 24 ตุลาคม 2559 และยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือร่วมกับ สตง.ว่ายังมีเรื่องใดที่จะต้องดำเนินการเพิ่มเติมให้ได้ข้อยุติโดยยึดประโยชน์ของแผ่นดินเป็นสำคัญ

มติคณะรัฐมนตรี คสช.ในครั้งนี้สมควรได้รับความชื่นชมที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติที่ถูกต้องในการนำทรัพย์สินแผ่นดินกลับคืนสู่ประชาชนคนไทยทั้งชาติ นับเป็นการสนองพระราชดำรัสแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า “เงินแผ่นดินคือเงินของประชาชนทั้งชาติ”

ในกรณีนี้ที่เลขากฤษฎีกามีข้อเสนอว่า ให้ สตง. และกระทรวงการคลัง ไปให้ศาลปกครองสูงสุดหาข้อยุติต่อไปนั้น เป็นข้อเสนอที่ไม่จำเป็นและเกินขอบเขตอำนาจของเลขากฤษฎีกา ด้วยเหตุผล 2 ประการ

1 ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงที่ปรึกษาทางกฎหมายของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ข้อเสนอแนะของเลขากฤษฎีกาจึงไม่มีผลผูกพันองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ต้องปฏิบัติตาม

2 ) ศาลปกครองสูงสุดได้ให้แนวปฏิบัติต่อคณะรัฐมนตรีไว้แล้วตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557 หน้า 64 ระบุว่า “การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบคนกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)) ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งผลการตรวจสอบของ สตง.ยืนยันว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)) ส่งมอบทรัพย์สินคืนให้แก่กระทรวงการคลังยังไม่ถูกต้องครบถ้วน จึงเป็นการรายงานสรุปการดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กระทรวงการคลังที่ยังไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหนึ่งพันสี่ร้อยห้าสิบคน กล่าวอ้างว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะเป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น”

ดังนั้น คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 จึงกำหนดวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่ต้องไปสั่งการให้มีการปฏิบัติตามมติ ครม. ให้ครบถ้วน ดังที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ก็ได้วินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าสิ่งใดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินหรือไม่ เป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดแล้ว มีปัญหาอยู่แต่เพียงว่าคู่กรณีได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดแล้วหรือไม่

ในที่นี้ขออ้างถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ตอนหนึ่งว่า

“...จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหน้า 83 ได้ระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่า

“ทรัพย์สินส่วนที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เช่น ท่อส่งน้ำมัน ซึ่งต้องใช้อำนาจมหาชนของรัฐดำเนินการเช่นเดียวกันกับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 1304 (3) ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะรัฐมนตรี) มีหน้าที่ต้องโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับไปเป็นของกระทรวงการคลังตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เช่นเดียวกับกรณีการโอนที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กระทรวงการคลัง “จากคำวินิจฉัยดังกล่าว จะเห็นได้ว่าศาลปกครองสูงสุดมิได้แยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกเป็นส่วน ๆ หรือคำนึงว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ตั้งอยู่บนที่ดินของใคร ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งระบบไม่สามารถแยกออกเป็นท่อน ๆ ได้”

ดังนั้น โดยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 มติของ คตง. และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเพียงพอที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องกลับไปหาศาลปกครองสูงสุดอีก เมื่อปฏิบัติครบถ้วนตามมติ ครม. 18 ธันวาคม 2550 แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 จึงควรไปแจ้งต่อศาลว่าได้มีการแก้ไขการส่งมอบทรัพย์สินตามคำพิพากษาที่หมายเลขแดงที่ ฟ 35/2550 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2550 แล้ว

จึงขอให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ได้ปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อ 27 กันยายน 2559 โดยให้ ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินตามมติ คตง. เมื่อ 24 สิงหาคม 2559 โดยไม่ชักช้าให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 60 วัน มิฉะนั้น ทั้งรัฐมนตรีและข้าราชการ ตลอดจนรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องจะมีโทษตามมาตรา 157 และมีความผิดในฐานความผิดอื่น ๆ ขอให้ดูตัวอย่างกรณีจำนำข้าว ในกรณีนั้น ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการที่เกี่ยวข้องล้วนต้องรับผิดกันถ้วนหน้า จึงไม่ควรมีการถ่วงเวลาให้เนิ่นนานไปกว่านี้แล้ว เพราะยิ่งเนิ่นนานไป ความเสียหายในทรัพย์สินของประเทศชาติก็ยิ่งเพิ่มทวีขึ้น

สิ่งที่คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาต่อในเรื่องการรับคืนทรัพย์สินของแผ่นดิน คือ สมควรพิจารณาตั้ง “องค์การก๊าซแห่งชาติ” ดังในอดีตที่เราเคยมี “องค์การก๊าซแห่งชาติ” มาดูแลกิจการก๊าซที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติซึ่งตามกฎหมาย ไม่สามารถปล่อยให้เป็นธุรกิจของเอกชนอีกต่อไป

“องค์การก๊าซแห่งชาติ” สามารถตั้งโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารขึ้นมาก่อน (และสามารถออกเป็นพระราชบัญญัติในโอกาสต่อไป) เพื่อรับมอบทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติด้านปิโตรเลียม แทนที่จะปล่อยให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มารับมอบทรัพย์สินดังกล่าว เพราะกรมธนารักษ์มีหน้าที่เพียงดูแลที่ราชพัสดุเท่านั้น จึงไม่สามารถดูแลทรัพย์สินที่เป็นท่อส่งก๊าซในทะเลและทรัพย์สินอื่น ๆ อีกมากมายที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกรมธนารักษ์

การมี “องค์การก๊าซแห่งชาติ” มารับมอบทรัพย์สินแผ่นดิน คือ ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และเพื่อทำหน้าที่ดูแลระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และเปิดให้เอกชนหลายรายมาเช่าใช้ โดยรายรับจากการให้เช่านั้นเป็นรายได้ของแผ่นดิน จึงจะเป็นระบบที่ลดการผูกขาดของเอกชนได้

รัฐบาลสามารถอาศัยจุดเริ่มต้นนี้ในการปฏิรูปพลังงานอย่างแท้จริง โดยในระยะต่อไปสามารถจัดตั้งเป็น “บรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ” เพื่อดูแลทรัพย์สินทั้งระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และเปิดให้เอกชนมาเช่าใช้ ตลอดจนดูแลปิโตรเลียมต้นน้ำที่ได้จากส่วนแบ่งกับเอกชนในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำมาบริหารให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนไทยทั้งชาติอย่างแท้จริง”


กำลังโหลดความคิดเห็น