ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
หลังจากเฝ้ารอคอยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามาอย่างยาวนานเกี่ยวกับปัญหาการคืนท่อก๊าซธรรมชาติให้กับกระทรวงการคลังครบถ้วนหรือไม่อย่างไรนั้น ก็ได้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 นายดิสทัต โหระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำหนังสือเรียนผู้ว่าตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องขอให้ตีความตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. 35/2550 ความตอนท้ายสรุป(ในตัวอักษรเอียง)ว่า
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เห็นว่า ปัญหาที่โต้แย้งกันนี้เกิดจากการมีคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของศาลปกครองสูงสุด การพิจารณาจึงจำกัดอยู่เฉพาะคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด การพิจารณาจึงจำกัดอยู่เฉพาะคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด โดยถือว่าปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าสิ่งใดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินหรือไม่เป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดแล้ว
มีปัญหาอยู่เพียงว่าคู่กรณีได้ปฏิบัติครบถ้วนตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดแล้วหรือไม่ ซึ่งจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหน้า 83 ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า
"ทรัพย์สินส่วนที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เช่น ท่อส่งน้ำมัน ซึ่งใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ดำเนินการเช่นเดียวกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะมาตรา 1304(3) ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะรัฐมนตรี) มีหน้าที่ต้องโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับไปเป็นของกระทรวงการคลังตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เช่นเดียวกับกรณีการโอนที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กระทรวงการคลัง"
จากคำวินิจฉัยดังกล่าว จะเห็นได้ว่าศาลปกครองสูงสุดมิได้แยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกเป็นส่วนๆ หรือคำนึงว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ของใคร ทั้งอาจเป็นเพราะว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งระบบไม่สามารถแยกออกเป็นท่อนๆได้
สำหรับคำสั่งคำร้องของตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่สั่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ว่า
"เสนอวันนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รายละเอียดปรากฏตามคำร้องรวมสำนวน" ก็เป็นการสั่งตามคำร้องของผู้ฟ้องคดีที่ 4 (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) ที่ยื่นต่อศาลในวันที่ 25 ธันวาคม 2551 โดยรายงานว่าได้ปฏิบัติครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้ว ซึ่งไม่ปรากฏว่าศาลได้ไต่สวนหรือรับฟังคำโต้แย้งของ สตง. เพราะในหนังสือโต้แย้งของ สตง. ได้ส่งถึงศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ทั้งๆที่ในรายงานดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีได้รับทราบและมีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 "ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษา ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ" แต่ก็ไม่ปรากฏว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้เรียก สตง. มาสอบถามถึงการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องแต่อย่างใด และโดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องประโยชน์ของแผ่นดินที่กระทรวงการคลังมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ให้ถูกต้องครบถ้วน กระทรวงการคลัง และ สตง.จึงสมควรร่วมกันเสนอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเพื่อหายุติต่อไป"
จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีการมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดินคือ
1.การคืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วน
2.การที่ ปตท. ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดว่าคืนท่อก๊าซธรรมชาติครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้วนั้น ไม่ได้นำข้อโต้แย้งเสนอต่อศาลฯ และศาลปกครองสูงสุดก็ยังไม่ได้ไต่สวน สตง.ด้วย
ย้อนกลับไปว่าหลังจารับทราบคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว คณะรัฐมนตรีได้รับทราบและมีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ว่า
"ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษา ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ"
ความหมายของมติคณะรัฐมนตรีได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ
1."ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง" หมายความว่าผู้ที่จะตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการคืนทรัพย์สินว่าครบหรือไม่จะเป็นหน่วยงานอื่นไม่ได้นอกจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเท่านั้น ถ้าใครทำนอกเหนือจากนั้นย่อมไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และหมายความว่าการแจ้งต่อศาลปกครองสูงสุดโดยปราศจากการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากสำนักงานตรวจนั้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีอีกด้วย
2."หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษา ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ" ความหมายก็คือเฉพาะ "ข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษา" ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติในกรณีมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายในการตีความตามคำพิพากษา และไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของ สตง.
ทั้งนี้เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง และแจ้งต่อ ปตท.ถึง 2 ครั้งคือวันที่ 29 ตุลาคม 2551 และ 9 ธันวาคม 2551 เหตุใดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ละเลยมติคณะรัฐมนตรี ไม่รอการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้เสร็จสิ้นเสียก่อน !?
และไม่น่าเชื่อว่าเราต้องรอการตีความตามคำพิพากษาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงเกือบ 8 ปี นับตั้งแต่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น
และในครั้งนี้ก็เป็นการยืนยันอีกครั้งว่า การคืนท่อก๊าซธรรมชาตินั้นยังคืนไม่ครบถ้วนจากการตีความตอนหนึ่งว่า
"ศาลปกครองสูงสุดมิได้แยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกเป็นส่วนๆ หรือคำนึงว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ของใคร ทั้งอาจเป็นเพราะว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งระบบไม่สามารถแยกออกเป็นท่อนๆได้"
ประเด็นสำคัญต่อมาคือแล้วควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป?
คณะกรรมาการกฤษฎีกามีความเห็นว่า:
"กระทรวงการคลัง และ สตง.จึงสมควรร่วมกันเสนอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเพื่อหายุติต่อไป"
คำถามคือการแก้ไขด้วยวิธีนี้ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ ในเมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการกฤษฎีกาต่างมีความเห็นแล้วว่ามีการคืนท่อก๊าซธรรมชาติไม่ครบถ้วน !!?
คำตอบที่ได้ก็น่าจะไปดูคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ซึ่งมีการระบุข้อความการวินิจฉัยสำคัญว่า:
"เรื่องการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่หน่วยราชการต้องไปว่ากล่าวกันเอง โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยงานทั้งหลาย"
ความหมายในคำสั่งนี้ย่อมชัดเจนในตัวเองว่าเรื่องภายในหน่วยงานราชการของฝ่ายบริหาร ก็ต้องให้ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลไปจัดการเอาเอง ไม่เกี่ยวกับศาลปกครองสูงสุด
เหตุผลก็เพราะเมื่อหน่วยงานตรวจสอบถึง 3 หน่วยงานคือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการกฤษฎีกาต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการคืนท่อก๊าซไม่ถูกต้องตามขั้นตอน และไม่ถูกต้องในความครบถ้วน หน่วยงานที่ต้องดำเนินการก็ย่อมต้องเป็นหน่วยงานราชการกันเองเท่านั้น
เหตุผลดังกล่าวข้างต้นก็เพราะคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 ต่างเป็นผู้บังคับบัญชาของกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง รวมไปถึงแม้กระทั่ง ปตท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่รัฐถือหุ้นเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ก็ต้องมีหน้าที่สั่งการกันเองโดยตรงให้คืนท่อก๊าซธรรมชาติให้ครบถ้วนจึงจะถูกต้อง
แต่การเลี่ยงไปให้กระทรวงการคลัง และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมกันเสนอให้ศาลปกครองสูงสุดกลายเป็นฝ่ายพิจารณาเพื่อหาข้อยุตินั้น จึงน่าจะผิดประเด็น เพราะถ้ากระทรวงการคลัง และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งเป็นคู่กรณีกันก่อนหน้านี้กลายเป็นผู้เสนอศาลปกครองสูงสุดแล้วจะไปมีข้อยุติกันได้อย่างไร ก็ในเมื่อความครบถ้วนหรือไม่ครบถ้วนก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในอำนาจรัฐกันเองทั้งสิ้น
และข้อสำคัญอำนาจหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 นั้นระบุอย่างชัดเจนถึงการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องอยู่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ใช่กระทรวงการคลัง เหตุใดยังจะต้องให้กระทรวงการคลังและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินร่วมกันให้ฝ่ายตุลาการหาข้อยุติกันอีก ทั้งๆที่คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ก็ชัดเจนและยุติในตัวเองอยู่แล้ว
ลองคิดดูว่าถ้ากระทรวงการคลังเห็นว่า ปตท. คืนท่อไม่ครบถ้วน จะให้กระทรวงการคลังเสียเวลาไปฟ้องร้อง ปตท.ได้อย่างไร ก็ในเมื่อผู้ถือหุ้นในของ ปตท.คือกระทรวงการคลังเอง เหตุใดจึงไม่อาศัยผลการตรวจสอบของ 3 หน่วยงานสั่งการให้ ปตท.คืนทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังให้ครบถ้วนโดยเร็ว ซึ่งน่าจะมีความถูกต้องมากกว่าและเป็นไปตาม คำสั่ง 800/2557 ของศาลปกครองสูงสุดอีกด้วย
หมดเวลาแล้วที่จะใช้วิธีถ่วงเวลา โยนกันไปมากับเรื่องที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 10 ปีแล้ว ถ้ายังไม่ฟัง เราจะได้ดูกันว่าจะมีใครที่จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพิ่มเติมนับจากนี้ต่อไปบ้าง?