xs
xsm
sm
md
lg

“อนันตพร” เปิดทางเลื่อนยกเลิกโซฮอล์ 91 หากพบมีปัญหาจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อนันตพร” เปิดทางเลื่อนยกเลิกจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ภายใน ม.ค. 61 ได้หากผู้ค้าน้ำมันและโรงกลั่นมีปัญหาที่ต้องนำเข้าจีเบส แต่เบื้องต้นขอให้เดินตามเป้าหมายไปก่อน ขณะที่เอสโซ่เผยเบื้องต้นหารือกลุ่มโรงกลั่นพบยังต้องนำเข้าแนะให้กลไกตลาดตัดสินใจจะดีสุด

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายที่จะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ ภายในเดือนมกราคม 2561 แต่หากกรณีที่เอกชนมองว่าไม่พร้อมเพราะจะมีปัญหาเรื่องน้ำมันเบนซินพื้นฐาน (จีเบส 95) ไม่เพียงพอและต้องนำเข้าจากต่างประเทศก็ต้องดูเหตุผลและข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ได้ติดตามใกล้ชิดและเห็นว่าการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 อาจไม่ได้ทำให้ประชาชนให้ไปใช้แก๊สโซฮอล์ 95 อย่างเดียว แต่จะมีส่วนหนึ่งหันไปใช้แก๊สโซฮอล์อี 20 เพิ่มขึ้นด้วย จึงอาจไม่ต้องนำเข้าจีเบส 95 ปริมาณมากเหมือนที่ภาคเอกชนกังวล

“กระทรวงพลังงานยังเดินหน้ายกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ในต้นปี 2561 ตามแผน แต่กระทรวงพลังงานพร้อมรับฟังทุกฝ่ายอย่างมีเหตุผล ถ้าแก้ปัญหาได้ก็จะเดินหน้าตามแผน แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็ต้องปรับแผนก็เท่านั้น ส่วนกรณีไบโอดีเซลที่ปรับลดสัดส่วนลงมาจากไบโอดีเซลบี 7 ขณะนี้เหลือเป็นบี 3 นั้นจะให้เราทำอย่างไรเพราะทั้งหมดอยู่ที่ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มที่กระทรวงพาณิชย์บริหารไม่นิ่ง” รมว.พลังงานกล่าว

นายมงคลนิมิตร เอื้อเชิดกุล กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มโรงกลั่นอยู่ระหว่างหารือเรื่องนโยบายยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 กับกระทรวงพลังงาน เนื่องจากการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 จะส่งผลให้ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานสำหรับผลิตแก๊สโซฮอล์ 95 (จีเบส 95) เพิ่มขึ้นซึ่งเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจประเทศและดีที่สุดควรจะให้กลไกตลาดและผู้บรโภคเป็นเครื่องชีวัดในการยกเลิกจะดีกว่า

“กลุ่มโรงกลั่นได้ให้ข้อมูลภาครัฐไปแล้ว หากรัฐยืนยันจะเดินตามแผนบริษัทต่างๆ ก็พร้อมปฏิบัติตาม เพียงแต่อยากให้มองภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศด้วย ส่วนนโยบายส่งเสริมไบโอดีเซลนั้น ต้องยอมรับว่า เอกชนปฏิบัติได้ยากเพราะสต๊อกน้ำมันปาล์มยังมีความผันผวน ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงควรหารือถึงวิธีการส่งเสริมไบโอดีเซลที่เหมาะสมและแน่นอน เพราะผู้ค้านั้นพร้อมปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐอยู่แล้ว”

 สถาบันปิโตรเลียมฯ ชงแผนปรับปรุงเปิดเสรีท่อก๊าซฯ 

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งมอบผลการศึกษาแผนการเปิดเสรีระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังกระทรวงพลังงานแล้วหลังจากที่กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้สถาบันทำการศึกษาหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเหตุใดจะทำให้การเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซธรรมชาติในทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้จริงหลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดดำเนินการไปแล้วแต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้มาใช้ โดยหากดำเนินงานตามผลศึกษาคาดว่าจะเห็นเอกชนรายอื่นมาใช้ท่อฯ ได้นอกเหนือจาก บมจ.ปตท.ในปี 2560

“ทั้งนี้ กกพ.เองก็ได้ประกาศให้บุคคลที่ 3 ที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) สามารถใช้คลังและท่อก๊าซฯ ของ บมจ.ปตท.ได้ หรือ Third Party Access Code : TPA Code แต่ทางปฏิบัติยังไม่มีผู้สนใจทางกระทรวงฯ เลยมอบให้สถาบันศึกษาซึ่งผลศึกษาได้เสนอ เช่น ให้แยกท่อก๊าซฯออกมาแล้วให้มีองค์กรที่เป็นอิสระมาบริหารจัดการ” นายศิริกล่าว

นายศิริยังกล่าวถึงงานครบรอบ 30 ปีสถาบันฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.โดยเชิญ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวเปิดงานบรรยายพิเศษ รวมถึงเชิญนายวอลเทอร์ โบวซ์ (DI Walter Boltz) อดีตผู้อำนวยการ Energie Control Austria (E-Control) ได้บรรยายว่า การบริหารจัดการและการกำกับกิจการพลังงานของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติที่มีการดำเนินงานตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาได้บรรลุถึงเป้าหมายถึงการเปิดเสรีระบบพลังงานให้มีการแข่งขันโดยผู้ประกอบการมากรายทำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อจากผู้จำหน่ายหลายรายที่แข่งขันกันในราคาพลังงานและการบริการ โดยนายวอลเทอร์ระบุว่าอย่าถอดใจเพราะการเปิดเสรีระบบพลังงานต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะสัมฤทธิผล
กำลังโหลดความคิดเห็น