xs
xsm
sm
md
lg

“หมอวรงค์” ฉะ “ทนายปู” ปั่นกระแสนายหญิงถูกกลั่นแกล้ง ยันเทียบคดีจำนำข้าวกับคดีป้องค่าเงินบาทไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
อดีต ส.ส.ปชป.อัด “ทนายยิ่งลักษณ์” ดันทุรังปั่นกระแสนายหญิงถูกกลั่นแกล้ง ระบุจะนำคดีจำนำข้าวที่มีการท้วงติงเรื่องการทุจริตจากหลายหน่วยงานกับคดีปกป้องค่าเงินบาทไม่ได้ เชื่อศาลไม่คุ้มครองโครงการทุจริต

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายนพดล หลาวทอง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปรียบเทียบคดีจำนำข้าว กับคดีปกป้องค่าเงินบาทของนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ดำเนินการแล้วขาดทุน แต่ศาลฎีกายกฟ้องว่า จะสังเกตได้ว่าทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ละความพยายามที่จะให้สังคมเข้าใจผิดในเรื่องจำนำข้าว เพียงหวังเพื่อให้เข้าใจว่าถูกกลั่นแกล้ง โดยประการแรกอ้างว่ากรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และนายเริงชัย มีการคิดกำไรขาดทุนและเกิดจากการดำเนินนโยบายเหมือนกันนั้น ซึ่งสองเรื่องนี้มีความต่างกันคือ ที่ผ่านมามีการทักท้วง ตักเตือน การดำเนินนโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต เท่ากับว่าเม็ดเงินที่จ่ายลงไปไม่ถึงมือชาวนาทั้งหมด ส่วนที่ไม่ถึงมือชาวนา มีการทุจริตเกิดขึ้น รวมทั้งมีการปล่อยให้มีการทุจริตการระบายข้าวแบบจีทูจีด้วย ความเสียหายนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ แต่ในส่วนคดีของนายเริงชัยไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานราชการตักเตือน ท้วงติงเรื่องการทุจริตตั้งแต่ต้น และตลอดการดำเนินการก็ไม่มีการกล่าวหาพบการทุจริตเพื่อหาประโยชน์ซึ่งต่างจากโครงการรับจำนำข้าว

นพ.วรงค์กล่าวอีกว่า ประการที่ 2 เขาอ้างว่าศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานแล้วว่าการปฏิบัติหน้าที่ต่อการตัดสินใจ ในด้านนโยบายนั้นแม้จะต้องสูญเสียเงินไป ก็ไม่ถือเป็นความเสียหาย ไม่สามารถคิดเป็นกำไร ขาดทุนได้ ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องการดำเนินนโยบายที่ต้องสูญเสียนั้น ทุกฝ่ายเห็นด้วย เพราะทุกนโยบายต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณ แต่การดำเนินนโยบายที่เอื้อไปสู่การทุจริต รวมทั้งมีการเตือนว่ามีการทุจริตก็ไม่เคยสนใจ ส่วนนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา และเชื่อว่าศาลฎีกาท่านไม่คุ้มครองการทุจริต

ประการที่ 3 เขาอ้างว่ารัฐบาลนี้กลับไม่ให้ความเป็นธรรมต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะจะใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครองต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตนขอแจงว่าการออกคำสั่งดังกล่าว มี พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่มารองรับ การดำเนินคดีจำเลยแต่ละคนก็ต้องดูความเหมาะสมต่อรูปคดี ไม่ใช่ปล่อยให้จำเลยเป็นคนเลือกว่าขอขึ้นศาลไหนก็ได้ ที่สำคัญศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า คดีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติหน้าที่ ที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณา ดังนั้น ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้

นพ.วรงค์กล่าวต่อไปว่า ประการที่ 4 เขาอ้างว่าการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เช่น จะให้กรมบังคับคดียึด อายัดทรัพย์ ขายทอดตลาด โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม เป็นการเจาะจงใช้เฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งที่จริงแล้วสิ่งที่ต้องเข้าใจในกรณีนี้การใช้มาตรา 44 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว หากเป็นไปตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แม้ไม่มีมาตรา 44 การยึด อายัดก็เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ โดยคำสั่งดังกล่าวเพียงแค่ให้กรมบังคับคดีมาทำหน้าที่แทนกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจพิเศษใดๆ กลั่นแกล้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสิทธิที่ขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองได้ โดยเรื่องนี้ทุกภาคส่วนต้องติดตามคดีจำนำข้าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการบิดเบือนข้อเท็จจริงตามที่บางฝ่ายถนัด คาดว่าการบิดเบือนดังกล่าวจะร้อนแรงขึ้นอีกครั้งในช่วงมีการลงนามคำสั่งทางปกครองคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวงเงิน 35,717 ล้านบาท เร็วๆ นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น