อดีต ส.ส.พิษณุโลก ย้อน “ทนายยิ่งลักษณ์” ทำสังคมสับสนคำสั่ง คสช. ให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์คดีจำนำข้าว ยันผ่านศาลไม่มีการตัดตอน ไม่มีการชี้นำ และมีการอุทธรณ์ต่อศาล ตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ยันไม่มีการข้ามขั้นตอนหรือเลือกปฏิบัติ โต้ไม่มีการก้าวล่วงศาล จี้ รบ.-พาณิชย์มีหน้าที่ลงนามต้องทำเพื่อพิสูจน์ที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นความจริง แนะเตรียมทีมงานรับศึกถูกบิดเบือน
วันนี้ (19 ก.ย.) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากกรณีที่ทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาทำให้สังคมสับสนและไม่เข้าใจคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ออกคำสั่งที่ 56/2559 ให้อำนาจกรมบังคับคดีในการบังคับคดีทางปกครอง ด้วยการยึดทรัพย์ของผู้ต้องรับผิดในโครงการจำนำข้าว คือ 1. เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้การพิจารณาโดยศาลยุติธรรมปกติ แต่กับตัดตอนใช้วิธีคำสั่งทางปกครองให้รับผิดทันทีนั้น ถือว่าทนายพูดไม่จริง เพราะการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความเสียหายในหน้าที่ จึงต้องเรียกค่าเสียหายผ่าน พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด ทั้งคดีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องมาตามเส้นทางนี้ และกฎหมายก็ให้สิทธิในการอุทธรณ์ผ่านศาลปกครอง ไม่มีการตัดตอนใดๆ
2. กล่าวหาว่าเป็นการชี้นำการพิจารณาคดีอาญาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล และคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งยังพิจารณาคดียังไม่เสร็จนั้น เรื่องชี้นำคดีอาญาคงไม่พูดถึงเพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งห้ามอยู่แล้ว แม้การพิจารณารับผิดทางแพ่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่เสร็จ แต่คดีของนายบุญทรงนั้น คณะกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว และการทำหน้าที่ของกรมบังคับคดีก็เป็นมาตรการบังคับในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณารับผิดทางแพ่งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด
นพ.วรงค์กล่าวต่อว่า 3. ทนายกล่าวหาว่าฝ่าฝืนกติการะหว่างประเทศ และเรียกร้องให้มีการปฏิบัติเสมอภาคโดยกระบวนการยุติธรรมทางศาลนั้น ตนขอชี้แจงว่า แสดงว่าไม่ทราบว่าขั้นตอนของ พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีการให้สิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองก็คือกระบวนการของศาลนั่นเอง
4. ทนายกล่าวว่า การออกคำสั่งที่ 56/2559 ไม่มีความจำเป็น เป็นการข้ามขั้นตอนและเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ขอชี้แจงว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ทั้งคดีนายบุญทรง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีการข้ามขั้นตอนใดๆ ตลอดจนสิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองก็ยังอยู่ ยกเว้นถ้าไม่มีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง กรมบังคับคดีจึงใช้มาตรการบังคับทางปกครองซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย และ 5. ที่กล่าวว่าอำนาจหน้าที่ของกรมบังคับคดีได้ถูกบัญญัติไว้โดยกฎหมาย การออกคำสั่งนี้จึงมีลักษณะเป็นการก้าวล่วงและก้าวก่ายศาล ขอชี้แจงว่าวงเงินความเสียหายเป็นหมื่นๆ ล้านบาท ก็ต้องให้มืออาชีพดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนก็มี พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดรองรับ และถ้ามีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง กรมบังคดีก็ดำเนินการตามคำสั่งศาลเหมือนปกติ ยกเว้นถ้าไม่อุทธรณ์ต่อศาลปกครอง กรมบังคับคดีจึงใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของ พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด ไม่เกี่ยวกับการก้าวล่วงศาลอย่างใด
“ขอเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล และกระทรวงพาณิชย์ ว่าในช่วงปฏิรูปเพื่อปราบโกง ใครมีหน้าที่ต้องทำอะไรควรจะต้องทำตามหน้าที่ และการลงนามคำสั่งทางปกครองจะเป็นการพิสูจน์ว่าที่เขากล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง รัฐบาลควรเตรียมทีมงานรับศึกบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพราะฝ่ายบิดเบือนเขาพร้อมแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องไม่ประมาท” นพ.วรงค์กล่าว