MGR Online - ศาลฎีกาไต่สวนจำเลยคดี “ปู” อดีตนายกรัฐมนตรีไม่ระงับยับยั้งโครงการจำนำข้าวทำรัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้าน “โอฬาร ไชยประวัติ” อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย เบิกความปัดโครงการจำนำข้าวไม่ได้เป็นสาเหตุให้ข้าวค้างสต๊อก
วันนี้ (7 ต.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะรวม 9 คน นัดไต่สวนพยานจำเลยนัดที่ 4 คดีโครงการรับจำนำข้าว หมายเลขดำที่ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
โดยทนายความจำเลยได้นำนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ อดีตรองอัยการสูงสุด ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าคณะทำงานร่วมอัยการ-ป.ป.ช.พิจารณาสำนวนจำนำข้าว ขึ้นเบิกความเป็นพยานปากแรกวันนี้ว่า ช่วงที่พยานดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการภาค 5 ที่จังหวัดเชียงใหม่ พยานไม่เคยพูดคุยกับนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาวของจำเลย หรือนักการเมืองพรรคเพื่อไทย แต่ยอมรับว่าเคยเข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาลัยตลาดทุน (วตท.) รุ่น 12 ร่วมกับจำเลยจริง และช่วงระหว่างที่จำเลยเป็นนากยกรัฐมนตรี ตนได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการหลายคณะ แต่ไม่ได้เป็นการแต่งตั้งโดยรัฐบาล รวมทั้งยังได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ดการประปานครหลวง และบอร์ดธนาคารออมสิน โดยระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดออมสินได้มีส่วนร่วมอนุมัติการปล่อยกู้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อใช้แก้ปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่ไม่ทราบว่าธนาคารเพื่อการเกษตรฯ จะนำไปใช้ในโครงการจำนำข้าว
ส่วนการประชุมร่วมระหว่างคณะทำงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนคดีนี้ ในครั้งที่ 3 ผู้แทนทั้งสองฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกันในรายละเอียด ทางผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้รวบรวมความเห็นที่แตกต่างใน 5 ประเด็น ทางอัยการได้นำความเห็นเสนอต่ออัยการสูงสุด ซึ่งตนทราบภายหลังจากมีการเสนอความเห็นแล้วว่า อัยการสูงสุดได้เพิ่มข้อไม่สมบูรณ์รวมเป็น 6 ประเด็น ขณะที่ในการประชุมครั้งที่ 1, 4 และ 5 ตนไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากติดภารกิจ โดยเฉพาะการประชุมครั้งที่ 5 ตนไม่ได้รับแจ้งให้เข้าร่วมประชุม แต่มาทราบผลในวันถัดมาว่า ที่ประชุมครั้งที่ 5 มีมติรับทราบผลการประชุมครั้งที่ 4 ที่ให้นายสุรศักดิ์ ตรีรัตตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เป็นหลักในการไต่สวนพยานในการแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ 6 ข้อ และให้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งคดี โดยไม่ทราบว่าในการประชุมครั้งนี้มีข้อกล่าวหาในความผิดฐานสมยอมให้มีการทุจริตหรือไม่ ตนจึงได้นัดประชุมคณะทำงานอัยการเพื่อสอบถามมติที่ประชุมร่วมในการประชุมครั้งที่ 5 แต่ปรากฏว่าได้มีการแถลงข่าวอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องสำนวนดังกล่าวจึงทำให้การประชุมยกเลิกไป หลังจากนั้นตนก็หมดหน้าที่ในคดีเพราะไม่มีรายชื่อร่วมร่างฟ้องในคดีนี้
ต่อมาทนายจำเลยได้เบิกตัวนายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย เป็นพยานเบิกความสรุปว่า ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย และเป็นผู้ร่วมคิดทำนโยบายรับจำนำข้าว โดยเปรียบเทียบปรับปรุงนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรในรัฐบาลก่อนๆ ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการรับจำนำข้าวเพื่อให้ชาวนามีรายได้สุทธิสูงขึ้น ตรงข้ามกับนโยบายประกันรายได้ที่ทำให้ชาวนามีเงินลดลง แต่ผลประโยชน์ตกที่พ่อค้าข้าวรายใหญ่ ซึ่งเงินที่ใช้ในโครงการทั้งหมดเป็นเงินกู้ แต่ได้วางแผนความเสี่ยงเรื่องเงินกู้และดอกเบี้ยไว้แล้ว เพื่อใช้ในการกำหนดราคาจำนำข้าวรายละ 1.5 -2 หมื่นบาท โดยในระหว่างดำเนินโครงการไทยผลิตข้าวเปลือกได้ประมาณ 35 ล้านตันต่อปี และสีแปรเป็นข้าวสารประมาณ 21 ล้านตัน โดยมีการส่งออกจากภาคเอกชนและแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ประมาณ 6-7 ล้านตัน แต่ไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องการขายแบบจีทูจี
ส่วนการระบายข้าว เมื่อรัฐบาลได้รับข้าวแล้วขั้นตอนทั้งหมดกว่าข้าวดังกล่าวจะถูกระบายออกตลาดใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน แต่การระบายข้าวยังจะต้องขึ้นอยู่กับภาวะความต้องการของตลาดด้วย ซึ่งชาวนาสามารถใช้สิทธิมาไถ่ถอนข้าวได้ตามที่ราคาตลาดและสภาวะเอื้ออำนวย แต่หากไม่มีชาวนามาไถ่ถอนข้าวก็ไม่เป็นผลให้ข้าวค้างสต๊อก เพราะข้าวจะไหลออกไปตามการระบายอยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าในสต๊อกจะต้องมีข้าวเหลืออยู่ เพื่อความมั่นคงด้านอาหารเมื่อเกิดภัยแล้งทั้งนี้ภายหลังศาลไต่สวนพยานเสร็จสิ้น 2 ปาก ได้นัดไต่สวนพยานจำเลยปากต่อไปวันที่ 21 ต.ค.นี้ เวลา 09.30 น.
ขณะที่ในช่วงเช้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยและอดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าฟังการไต่สวน ถึงการเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวจำนำ 35,000 ล้านบาท ว่าอยากขอความเห็นใจเพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นการช่วยเหลือชาวนา ที่ผ่านมาได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการ และหน่วยงานต่างๆ ไปหลายครั้งแล้ว ซึ่งการจะใช้คำสั่งทางปกครองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อยากให้รัฐบาลรับไปพิจารณา เพราะทุกอย่างต้องอยู่บนข้อเท็จจริง ควรใช้กระบวนการทางศาลแพ่งมากกว่าคำสั่งทางปกครอง
สำหรับการยื่นขออุทธรณ์คำสั่งเรียกค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าวนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสาร ซึ่งต้องรอเพื่อศึกษารายละเอียดอีกครั้ง ส่วนกรณีที่ถูก ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีเกิดความเสียหาย รวม 15 คดีนั้นก็อยากให้ทุกหน่วยงานยึดแนวทางของรัฐธรรมนูญที่ต้องปฏิบัติเท่าเทียมกัน ส่วนที่รัฐบาลตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่แล้วเห็นว่ารัฐบาลเป็นผู้นำ และเป็นผู้มีอำนาจ จึงอยู่ที่รัฐบาลจะคิดและทำให้ประชาชนยอมรับ
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ให้ทนายความศึกษาคำวินิจฉัยของศาลฎีกากรณีนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ที่คำพิพากษาระบุถึงเรื่องกำไรขาดทุนของนโยบายรัฐที่ไม่สามารถนำมาเรียกร้องเป็นค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบาย และยังแสดงความเป็นห่วงว่า ขณะนี้ราคาข้าวกำลังตกต่ำ อยากให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือชาวนาอย่างแท้จริง เพราะหากไม่มีมาตรการจะทำให้สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ