xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชงร่าง กม.ลูกที่มา ส.ว.ให้ กรธ.วันนี้ แจงเลือกแบบไขว้ 20 กลุ่มอาชีพ ห้ามหาเสียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.แถลงสาระสำคัญร่าง กม.ลูกได้มาซึ่ง ส.ว. ก่อนชง กรธ.วันนี้ แบ่งเลือกกันเอง 20 กลุ่ม ไม่เกิน 60 วัน ต้องอยู่สายอาชีพไม่น้อยกว่า 10 ปี เว้นกลุ่มพิการ-สูงอายุ แจงแนวทางเลือกแบบไขว้ในระดับ อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ ห้ามหาเสียงทำได้แค่แนะนำตัว กำหนดโทษทุจริตเพิ่ม มั่นใจแนวทางป้องกันการฮั้ว-การเมือง

วันนี้ (30 ก.ย.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ กกต.จะส่งให้แก่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันนี้ ว่ามีทั้งหมด 100 มาตรา 3 หมวด กำหนดให้ ส.ว.มีจำนวน 200 คน มาจากการเลือกกันเอง 20 กลุ่ม กระบวนการได้มาทั้งหมดไม่เกิน 60 วัน การสมัครให้ยื่นหลักฐานแสดงถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ และต้องเป็นสมาชิกหรือทำงานหรือเคยทำงานในกลุ่มด้านที่สมัครเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ยกเว้นบางกลุ่มที่เป็นโดยสถานะ เช่น กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีสิทธิสมัครจะสมัครได้เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กรณียื่นสมัครโดยฝ่าฝืน หรือคุณสมบัติไม่ตรง ให้ กกต.ถอนชื่อออกจากประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือก หากพบเหตุภายหลังประกาศผลให้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ส่วนการเลือก 3 ระดับ ระดับอำเภอ จะคัดกรองกันระหว่างผู้สมัครกลุ่มเดียวกันเหลือกลุ่มละ 5 คน ก่อนที่ผู้ที่ผ่านการคัดกรองจะไปเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น 19 กลุ่ม หรือเลือกไขว้ ให้เหลือกลุ่มละ 3 คน จากนั้นเข้าสู่ระดับจังหวัดที่จะใช้การเลือกไขว้ให้เหลือกลุ่มละ 1 คน ทั้ง 2 ระดับใช้เวลาระดับละ 15 วัน ส่วนระดับประเทศ จะใช้เวลา 7 วัน เลือกไขว้ให้เหลือกลุ่มละ 10 คน โดยผู้ได้รับเลือกให้เรียงจากคะแนนมากที่สุด รวมได้ ส.ว.จาก 20 กลุ่มรวม 200 คน

“การหาเสียงหรือแนะนำตัว ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหาเสียงด้วยวิธีการใดๆ แต่สามารถพูดแนะนำตัว รวมทั้งจัดทำเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติและผลงานในการทำงานได้ โดยให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการจัดทำเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครและจัดส่งเอกสารให้กับผู้สมัครรับเลือก”

ส่วนวิธีเลือกให้ผู้สมัครเขียนหมายเลขผู้สมัครของกลุ่มต่างๆ ที่ตนเองต้องการเลือกลงในช่องลงคะแนน โดยผู้ที่ได้รับคะแนน มากที่สุดเรียงลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับเลือกในแต่ละกลุ่มของแต่ละระดับตามจำนวนที่กำหนดไว้ กรณีกลุ่มใดมีผู้สมัครน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนที่จะพึงมี ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับเป็นผู้ได้รับเลือก กรณีที่ได้คะแนนเท่ากันเกินจำนวนพึงมี ให้จับสลาก เมื่อระดับประเทศได้ ส.ว.จำนวน 200 คนแล้ว หาก กกต.เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมไม่มีการร้องคัดค้านการเลือก ให้ กกต.ประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. และจัดทำบัญชีสำรองของผู้ผ่านการคัดเลือกไว้บัญชีละ 10 รายชื่อ เพื่อที่กรณีสมาชิกภาพของ ส.ว.ในกลุ่มใดสิ้นสุดลงก่อนวาระไม่ต้องมีการเลือกใหม่ให้เลือกจากจากบัญชีสำรองในลำดับถัดไปเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว.แทน

ส่วนการดำเนินสืบสวนไต่สวน ก่อนประกาศผลการเลือก กกต.มีอำนาจพิจารณาให้ใบเหลืองแก่ผู้สมัครรับเลือกได้ กรณีภายหลังประกาศผลการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครกระทำการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น โดยให้ยื่นคำร้องคัดค้านก่อนประกาศผลการเลือก หรือภายใน 30 วัน นับแต่ประกาศผลการเลือก ขณะที่มีการกำหนดโทษเพิ่มเติมขึ้นใหม่ คือ 1. ผู้กระทำการสนับสนุนให้บุคคลเข้ารับหรือไม่เข้ารับการสมัครรับเลือก เพื่อประโยชน์ในการเลือกให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น หรือลงสมัครเพื่อการเลือกโดยมีผลประโยชน์ตอบแทน 2. กรรมการบริหารหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำการโดยวิธีใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือให้ผู้สมัครได้รับเลือกเป็น ส.ว. 3. กรณีจูงใจให้มีการเลือก หรือซื้อเสียง โดยการให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ เลี้ยง หรือรับจะจัดเลี้ยง หลอกลวง คุกคาม หรือใช้อิทธิพลข่มขู่ โดยทั้งหมดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และในกรณีมีการฝ่าฝืนและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้กระทำการฝ่าฝืน ให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับไม่เกินกึ่งหนึ่งจากจำนวนเงินค่าปรับแก่ผู้แจ้งความนำจับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ส.ว.ทั้ง 20 กลุ่มอาชีพ มีดังต่อไปนี้ (1) ด้านการบริหาร ความมั่นคง หรือการต่างประเทศ (2) ด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม (3) ด้านการบัญชี การเงิน การคลัง หรือการงบประมาณ (4) ด้านการศึกษาหรือวิจัย (5) ด้านการสาธารณสุข (6) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (7) ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การแสดง หรือการกีฬา (8) ด้านกสิกรรม หรือป่าไม้ (9) ด้านปศุสัตว์ หรือประมง (10) ด้านลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรลูกจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง (11) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสาร สื่อสารมวลชน (12) ด้านการประกอบการธุรกิจ การค้า หรือการธนาคาร (13) ด้านการประกอบการอุตสาหกรรม (14) ด้านการประกอบวิชาชีพ (15) ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (16) ด้านทรัพยากรธรรมชาติหรือพลังงาน (17) ด้านองค์กรชุมชน หรือประชาสังคม (18) ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี (เฉพาะตัวผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี) (19) ด้านผู้ประกอบอาชีพอิสระ (20) ด้านอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น