ปลัด มท.มีหนังสือด่วน ผู้ว่าฯ-ฝ่ายปกครอง-อปท.ทั่วประเทศ แจงทำความเข้าใจนโยบายจัดการน้ำ รักษาพื้นที่ ศก.-ปชช.หนาแน่น สั่งประสานกรมชลฯ ตัวแทน ก.เกษตรฯ ท้องถิ่นตรวจสอบพื้นที่ สร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง เยียวยาตามระเบียบ ให้เข้าใจนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการเกษตร ย้ำประสานหน่วยต่างๆ ให้เกิดการบูรณาการเป็นรูปธรรม
วันนี้ (28 ก.ย.) นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือข้อสั่งการด่วนที่สุดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัด เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่มีจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้หารือมายังกระทรวงมหาดไทย กรณีการปิด-เปิดประตูระบายน้ำ หรือการใช้เครื่องผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมว่าจะสามารถผลักดันน้ำเข้าพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ที่มีการทำการเกษตรบางส่วนได้หรือไม่ เพื่อเป็นการรักษาพื้นที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่หรือพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงแนวทางปฏิบัติในกรณีดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยจึงแจ้งให้จังหวัดดำเนินการ ดังนี้ 1. การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ให้จังหวัดประสานงานกับหน่วยงานชลประทานในพื้นที่ และหน่วยงานที่เป็นตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประจำจังหวัด (Single Command) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีองค์ความรู้เรื่องน้ำมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ
2. ให้นายอำเภอแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่ เป็นผู้สำรวจและให้ข้อมูลต่อหน่วยงานตามข้อ 1. เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะใช้พื้นที่ใดเป็นที่รับน้ำ หรือระบายน้ำไปกักเก็บไว้ และพื้นที่ดังกล่าวมีการเพาะปลูกทำการเกษตรหรือไม่ หรือมีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนเท่าใดที่จะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำดังกล่าวมากน้อยเพียงใด 3. การทำความเข้าใจสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง เมื่อมีการตกลงแล้วว่าจะผันน้ำหรือผลักดันน้ำเข้าพื้นที่ใด ขอให้จังหวัดจัดตั้งทีมบูรณาการประกอบด้วยส่วนราชการต่างๆ โดยมีฝ่ายปกครอง หรือ ปภ. เป็นฝ่ายเลขานุการ ร่วมกันออกไปชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ให้ชัดเจนว่าประชาชนที่เสียสละยินยอมให้พื้นที่ทำเป็นแหล่งกักเก็บน้ำหรือระบายน้ำนั้นจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากทางราชการอย่างไร
4. หลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรต้องเป็นไปตามระเบียบและวิธีการเยียวยา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประจำจังหวัด เป็นหน่วยงานหลักในการเสนอข้อมูลไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณากำหนดเป็นนโยบายและแนวทางปฎิบัติให้ชัดเจนก่อนดำเนินการ
5. การทำความเข้าใจนโยบายและโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร เช่น นโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรมาร่วมกันทำโครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) ซึ่งมีหลักการให้เกษตรกรเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม ไปทำการกสิกรรมอย่าง อื่นๆ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ดังนั้น จึงขอให้จังหวัดประสานงานกับหน่วยงานที่เป็นตัวแทน กระทรวงเกษตรฯ ประจำจังหวัด (Single Command) ลงพื้นที่ประชุมชี้แจงประชาชนที่มีอาชีพทำการเกษตรให้เข้าใจ และอาจใช้เป็นแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ยินยอมให้ใช้พื้นที่ทำกินของตนเองเป็นพื้นที่ระบายน้ำหรือกักเก็บน้ำด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอในฐานะหัวหน้าส่วนราชการภูมิภาคให้ความสำคัญต่อการประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ ที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดโดยใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม หากประสบปัญหาจนไม่อาจแก้ไขได้ หรือจะเป็นผลเสียต่อการปฏิบัติราชการให้รีบรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบโดยด่วนเพื่อจะได้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต้นสังกัดในระดับกระทรวงให้โดยเร็วต่อไป