xs
xsm
sm
md
lg

ชงคัดส.ว.จากผู้เชี่ยวชาญ20ด้าน เพิ่มโทษผู้ทุจริตคุก10ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกกต.วันนี้ ( 26 ก.ย.) ที่ประชุมจะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ที่คณะทำงานของสำนักงานกกต.เสนอ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นฉบับสุดท้ายใน 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งระดับชาติ ที่ กกต.ต้องส่งให้กรธ.พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องของกระบวนการ วิธีการที่จะทำให้มาซึ่งส.ว 200 คน ตามมาตรา 107 ของร่างรธน. ที่ผ่านประชามติ โดยแบ่งเป็น 3 หมวด คือ หมวดการได้มาซึ่งส.ว. หมวดการสืบสวนหรือไต่สวน และวินิจฉัย หมวดการควบคุมการเลือกและบทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล โดยบุคคลที่จะเป็นส.ว. ต้องมีความรู้ เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในงานแต่ละด้านนั้น ร่างกฎหมายได้กำหนดเป็น 20 ด้าน ตามแนวความคิดของกรธ. คือ
1. ด้านการบริหาร ความมั่นคง หรือการต่างประเทศ 2. ด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม 3. ด้านการบัญชี การเงิน การคลัง หรือการงบประมาณ 4. ด้านการศึกษาหรือวิจัย 5. ด้านการสาธารณสุข 6. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7. ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การแสดงหรือการกีฬา 8. ด้านกสิกรรม หรือป่าไม้ 9. ด้านปศุสัตว์ หรือประมง 10. ด้านลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรลูกจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง
11.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสาร สื่อสารมวลชน 12. ด้านการประกอบการธุรกิจ การค้าหรือการธนาคาร 13. ด้านการประกอบการอุตสาหกรรม 14. ด้านการประกอบวิชาชีพ 15. ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 16. ด้านทรัพยากรธรรมชาติหรือพลังงาน 17. ด้านองค์กรชุมชน หรือประชาสังคม 18.ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี 19. ด้านผู้ประกอบอาชีพอิสระ 20. ด้านอื่นๆ ซึ่งผู้สมัครแต่ละด้านต้องมีคุณสมบัติตาม มาตรา108 ที่ร่างรธน.กำหนดเป็นหลัก ยื่นลงสมัครได้เพียงด้านเดียว พร้อมค่าธรรมเนียม 5 พันบาท ห้ามหาเสียง ทำได้เพียงเอกสารแนะนำตัวเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว การศึกษา ผลงานในการทำงาน โดยกกต.เป็นผู้เผยแผร่ให้
ส่วนการเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ จะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 60 วัน โดยกกต.จังหวัดและคณะอนุกรรมการประจำอำเภอ ที่มีการแต่งตั้งขึ้น จะดำเนินการเลือกระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ส่วนกกต.กลางเลือกระดับประเทศ หนึ่งหน่วยเลือกตั้งจะประกอบด้วยผู้มีสิทธิลงคะแนนจำนวน 500 คน เป็นประมาณ ใช้หีบบัตรเลือกตั้ง 20 หีบ ผู้สมัครจะลงคะแนนเลือกให้ผู้สมัครกลุ่มอื่นได้กลุ่มละหนึ่งหมายเลข เกณฑ์ได้รับเลือก ผู้ได้คะแนนมากที่สุดเรียงลำดับลงมาตามจำนวนที่ต้องการในการเลือกของแต่ละกลุ่ม แต่ละระดับเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีคะแนนเท่ากันในลำดับที่ทำให้เกินจำนวนที่จะพึงมีในแต่ละกลุ่ม แต่ละระดับ ให้ใช้การจับสลาก และการเลือกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดใช้เวลาระดับละ15 วัน ระดับประเทศ 7 วัน
ระดับอำเภอ เมื่อดำเนินขั้นตอนการสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครแล้ว หากผู้สมัครกลุ่มใดใน 20 กลุ่ม มีจำนวนเกินกว่า 5 คน จะทำ 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรก ให้ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่มให้เหลือผู้สมัครกลุ่มละ 5 คน ขั้นตอนที่ 2 ให้ผู้ที่ผ่านการคัดกรองกันเอง 5 คนของแต่ละกลุ่มไปเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น 19 กลุ่มที่เหลือ หรือที่เรียกว่า "เลือกไขว้" โดยแต่ละคน มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นได้กลุ่มละหนึ่งหมายเลข เพื่อให้ได้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนมากสุดเรียงลำดับลงมาจำนวน 3 คนในแต่ละกลุ่ม ดังนั้นหนึ่งอำเภอ เมื่อคัดเลือกได้ผู้สมัครที่เป็นตัวแทนกลุ่มละ 3 คนจาก 20 กลุ่ม ก็จะได้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนอำเภอๆ ละ 60 คน ประเทศไทยมี 928 อำเภอ ก็เท่ากับว่าจะได้ผู้สมัคร ส.ว.ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับอำเภอ 55,680 คน โดยคณะอนุกรรมการฯ จะประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ได้รับเลือกในระดับอำเภอไว้ที่ว่าการอำเภอให้ประชาชนตรวจสอบ พร้อมส่งรายชื่อดังกล่าวให้กับกกต.จังหวัด ซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการเลือก ส.ว.ประจำจังหวัด นำเข้าสู่กระบวนการเลือกระดับจังหวัด
การเลือกในระดับจังหวัดนั้น เมื่อนำผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับอำเภอ 55,680 คน มาแยกเป็น 20 กลุ่ม ก็จะได้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับอำเภอกลุ่มละ 2,784 คน ไปลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น 19 กลุ่ม ที่ไม่ใช่กลุ่มของตน โดยเลือกให้เหลือกลุ่มละ 3 คน เป็นผู้ได้รับเลือกในระดับจังหวัด ซึ่งทั้งประเทศมี 77จังหวัด ดังนั้นใน 20 กลุ่ม ก็จะได้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนจังหวัดรวม 4,620 คน รายชื่อดังกล่าวจะถูกส่งให้กกต.กลางดำเนินการเลือกในระดับประเทศ ซึ่งเมื่อแบ่งเป็น 20 กลุ่ม ก็จะมีผู้ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับจังหวัดในแต่ละกลุ่ม 231 คน ไปลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่น19 กลุ่ม ที่ไม่ใช่กลุ่มของตนให้เหลือกลุ่มละ 10 คน เป็นผู้ได้รับเลือกในระดับประเทศจาก 20 กลุ่ม รวม 200 คน ซึ่งหากกกต.เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ไม่มีการคัดค้าน ก็จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกตามลำดับคะแนน 10 อันดับ ในแต่ละกลุ่ม 20 กลุ่ม จำนวน 200 คน เป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. พร้อมจัดทำบัญชีสำรองของผู้ผ่านการคัดเลือกไว้บัญชีละ 10 รายชื่อ เผื่อกรณีที่สมาชิกภาพของส.ว.ในกลุ่มใดสิ้นสุดลงก่อนครบวาระ 5 ปี ก็จะไม่ต้องมีการเลือกใหม่ แต่ให้เลื่อนจากบัญชีสำรองในแต่ละกลุ่มได้เลย
ขณะที่การดำเนินการเกี่ยวกับกรณีมีการร้องเรียน การคัดค้านการทุจริตการเลือก ส.ว. หรือบทลงโทษนั้น ส่วนใหญ่จะเหมือนกับที่บัญญัติในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีเพิ่มในส่วนผู้ใดกระทำการสนับสนุนให้บุคคลเข้าหรือไม่เข้ารับการสมัครเพื่อประโยชน์ในการลงคะแนนให้แก่ตน หรือผู้สมัครอื่น หรือลงสมัครเพื่อการเลือกโดยมีผลประโยชน์ตอบแทน รวมทั้งกรรมการบริหาร ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรคการเมือง ส.ส. ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใด กระทำการโดยวิธีใดที่เป็นการช่วยเหลือให้ผู้สมัครได้รับเลือกเป็น ส.ว หรือผู้สมัครคนใดยินยอมให้บุคคลเหล่านี้ช่วยเหลือเพื่อให้เป็น ส.ว. อีกทั้งผู้ใดกระทำการให้ สัญญาว่าจะให้ จัดเลี้ยง ใช้อิทธิพล เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ ลงคะแนนให้แก่ตน หรืองดเว้นลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด ให้ถือว่ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ สองหมื่น-สองแสนบาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว.จำนวน 200 คนดังกล่าว บทเฉพาะกาลของร่างรธน. มาตรา 269 (ค) ได้บัญญัติให้ คสช.เลือกผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.จากบัญชีที่ กกต.ส่งไปนี้ จำนวน 50 คน และคัดเลือกรายชื่อสำรองไว้อีกจำนวน 50 คน โดยให้นำจำนวนที่เลือกจากบัญชีที่ กกต.ส่งไป 50 คนไปรวมกับที่คสช. จะเลือกอีก 200 คน รวมเป็นส.ว. 250 คนตามที่รธน.กำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น