หลังการปิดตัว ของนิตยสาร บางกอกรายสัปดาห์ เพียงสองเดือน นิตยสาร สกุลไทย ก็ประกาศอำลาแผงหนังสือ โดยจะออกฉบับสุดท้ายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้
เฟซบุ๊กเพจ สกุลไทยรายสัปดาห์ (Sakulthai Weekly Magazine) โพสต์ข้อความชี้แจงเหตุผลในการเลิกพิมพ์ว่า
“เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเอเย่นต์จัดจำหน่ายที่ลดลง ทำให้นิตยสารกระดาษค่อยๆลดบทบาทลงในในยุคของสื่อดิจิตอลเช่นทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้ สกุลไทยจำเป็นอย่างที่สุดที่ต้องแจ้งต่อท่านผู้อ่านว่า คณะผู้บริหารนิตยสารสกุลไทยได้มีมติให้ยุติการจัดทำนิตยสารสกุลไทย โดยฉบับที่ ๓๒๓๗ ซึ่งจะวางจำหน่ายวันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ จะเป็นฉบับสุดท้าย”
นิตยสารทั้งสองฉบับ ต่างมีอายุยาวนานครึ่งศตวรรษ บางกอก ฉบับแรก วางแผงเมื่อปี 2501 สกุลไทย ออกสู่บรรณพิภพเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2497 บางกอก จัดเป็น หนังสือของผู้ชาย เพราะเป็นนิตยสารนวนิยายแนวบู๊ ส่วนสกุลไทย เป็นนิตยสารแนวสาระบันเทิง สำหรับครอบครัว ที่เน้นนิยายแนวชีวิตรัก ครอบครัว สารคดี แฟชั่นฯลฯ
สกุลไทย ประกาศเลิกพิมพ์ หลังประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ เสียชีวิตไม่ถึงเดือน การจากไปของประยูร ในวัย 90 ปี น่าจะเป็นเหตุผลหนึงของการเลิกสกุลไทยด้วย เพราะเขาคือผู้ก่อตั้ง และเป็นเสาหลักของสกุลไทย ตลอดเวลา 62 ปีของนิตยสารฉบับนี้
ประยูร เป็นคนจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย โดยตั้งโรงพิมพ์ อักษรโสภณ ในย่านเสาชิงช้า รับจ้างพิมพ์ คัมภีร์ใบลาน หนังสือสวดมนต์ หนังสือพระ หลัง พ.ศ. 2490 ตลาดหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ เฟื่องฟู แต่มีนิตยสารสำหรับผู้หญิงไม่กี่ฉบับ ประยูร เห็นโอกาสที่จะขยายงานเพือ่ป้อนโรงพิมพ์จึงตัดสินใจออกนิตยสารสกุลไทย รายสัปดาห์
สกุลไทย ฉบับแรก ออกวางตลาดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 เป็นหนังสือขนาดแปดหน้ายกใหญ่ ราคา 3 บาท โดยมีประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ เป็นเจ้าของและผู้จัดการ ลมูล อติพยัคฆ์ เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา โดยมีนวนิยายเป็นเนื้อหาหลัก และมีสารคดี คอลัมน์ปกิณกะบันเทิงต่างๆเป็นส่วนประกอบ วางจำหน่ายทุกวันจันทร์
นรีภพ สวัสดิรักษ์ บรรณาธิการสกุลไทย ซึ่งรับหน้าที่ต่อจากมารดา สุภัทร สวัสดิรักษ์ ให้สัมภาษณ์กับ นิตยสารธุรกิจหนังสือ ว่า คุณแม่ (สุภัทร สวัสดิรักษ์) เข้ามาช่วยตั้งแต่เริ่มต้น จากนั้นก็มารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ และสำนักงานก็ย้ายจากเสาชิงช้า มาอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 36 ซึ่งเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน
นโยบายหลักของสกุลไทยคือเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ จะเห็นว่า ปกของสกุลไทยในยุคแรก ๆ จะเป็นปกพระราชวงศ์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานให้ผ่านสำนักพระราชวัง
“ในยุคแรกเราได้บทความจากท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เขียนถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ เมื่อครั้งตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไปยังที่ต่าง ๆ อย่างเช่น ทรงไปสอนหนังสือเด็กตามชายหาดที่เขาเต่า ท่านผู้หญิงใช้นามปากกาว่า ม.ส.บ. บางครั้งท่านก็สร้างตัวละครคือหิ่งห้อย ติดตามพระองค์ไปไหนต่อไหน แล้วกลับมาเขียนเล่าให้ฟัง คนในยุคนั้นจะติดตามอ่านเรื่องราวเหล่านี้ เพราะไม่ค่อยมีใครรู้ว่า สมเด็จพระราชินีไปทำงานที่ไหนบ้าง ตรัสเรื่องอะไร บรรยากาศการทำงานเป็นอย่างไร เราถือว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งสำคัญที่เราเชิดชูมาตลอด”
จุดเด่นสำคัญของสกุลไทยที่ใคร ๆ ก็ติดตามอ่าน คือ นวนิยายขนาดยาวที่ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ นรีภพเล่าถึงเรื่องนี้ว่า สกุลไทยเป็นนิตยสารที่ให้สาระและความบันเทิงกับคนในครอบครัว จึงนำเสนอนวนิยายเป็นหลัก ในยุคแรก ๆ มีนวนิยายแค่ 5 - 6 เรื่อง ปัจจุบันมี 13 เรื่อง ที่เหลือเป็นคอลัมน์ปกิณกะและบทความต่าง ๆ คนอ่านส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง ก็มีบ้างที่พ่อบ้านอ่านตามแม่บ้าน แต่เมื่อดูกระแสจากจดหมายที่ผู้อ่านส่งมา ก็พบว่า ผู้ชายหันมาอ่านสกุลไทยมากขึ้น แต่นักอ่านผู้หญิงก็ยังเป็นหลักอยู่
นอกจากเปิดพื้นที่สำหรับงานวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย เรื่องสั้น หรือบทกวีแล้ว สกุลไทยยังเปิดเวทีสำหรับนักเขียนนวนิยายหน้าใหม่ ด้วยการประกวดนิยายรางวัลสุภัทร สวัสดิรักษ์
ใน เรื่อง “ ย้อนอดีต 60 ปีสกุลไทย “ ในเฟซบุ๊คเพจ สกุลไทยรายสัปดาห์ ระบุตอนหนึ่งว่า
“ ด้วยความที่สกุลไทย เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ ในเนิ้อหาของสกุลไทยโดยเฉพาะนวนิยายขนาดยาว ซึ่งลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ จะต้องมีคำลงท้าย โดยเฉพาะนวนิยายขนาดยาว ซึ่งลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ จะต้องมีคำลงท้ายในนวนิยายแต่ละบทแต่ละตอนว่า “ โปรดอ่านต่อสัปดาห์น้า ” เป็นการบอกกล่าวให้รู้ว่า นวนิยายในตอนนี้จบลงแล้ว ขอเชิญผู้อ่านติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้า (และในบางครั้งหลายท่านอาจจะต้องขัดอกขัดใจเมื่อต้องพบกับคำนี้ขณะที่กำลังอ่านนิยายอยู่อย่างเพลิดเพลิน )
โปรดอ่านต่อสัปดาห์หน้า นับแป็นการเชิญชวนผู้อ่านสู่โลกการอ่านและพบกับสกุลไทยทุกสัปดาห์
ถ้อยคำนี้ปรากฎอยู่ในสกุลไทยตั้งแต่ฉบับแรก ยาวนานต่อเนื่องมาถึงฉบับปัจุจุบัน อย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง คำว่า “ โปรดอ่านต่อสัปดาห์หน้า จึงกลายเป็นอัตลักษณ์อยางหนึ่งของนิตยสารรายสัปดาห์อย่างสกุลไทยที่ไม่ซ้ำแบบใครนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน “
สกุลไทย ฉบับที่ 3237 ซึง่จะวางจำหน่ายวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จะไม่มีคำว่า” โปรดอ่านต่อสัปดาห์หน้า” เหมือนที่เคยเป็นมา 62 ปี เพราะเป็นสกุลไทยรายสัปดาห์ฉบับสุดท้าย