xs
xsm
sm
md
lg

มติศาล รธน.การันตีนายกฯ คนนอก “มีชัย” ลอยตัว แฟนคลับ “ประยุทธ์” รอเฮ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุดมติของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 28 กันยายนก็ได้สร้างความชัดเจนขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งถึงที่มาของการโหวตเลือกนายกฯ คนนอก และการนับระยะเวลาของภารกิจพิเศษในช่วงเปลี่ยนผ่านของรัฐสภาในช่วง 5 ปีแรกว่าจะเริ่มจากเมื่อใด

จากการแถลงของศาลรัฐธรรมนูญหลังคำวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งร่างรัฐธรรมนูญซึ่งแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติมเพื่อให้พิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลของการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558

โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีดังนี้ 1. ในประเด็นที่ กรธ.กำหนดเป็นมาตรา 272 วรรคสองของร่างรัฐธรรมนูญว่า กรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ ให้ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อยกเว้นได้นั้น เห็นว่าควรเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าวให้ผ่านพ้นไปด้วย สมตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติ ดังนั้น กรธ.แก้ไขให้ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง คือสมาชิกรัฐสภา จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

2. ในประเด็นที่ กรธ.กำหนดเป็นมาตรา 272 วรรคหนึ่งว่า “ในระยะ 5 ปีแรก” นับแต่วันที่มีรัฐสภา ภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 268 และวรรคสองบัญญัติว่า “ในวาระเริ่มแรก” เมื่อมีการเลือก ส.ส.ตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่แจ้งไว้ ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา มีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง

เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาวันเริ่มนับกำหนดเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องสอดคล้องกัน จึงได้กำหนดให้ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ เพื่อให้ได้นายกฯ เข้ามาทำหน้าที่บริหารราชการในช่วงเวลาเดียวกัน และสามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ สำเร็จบรรลุผลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและเจตนารมณ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาจะต้องประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.

ดังนั้น กำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรค 2 คือ ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กรธ.ต้องไปดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมทั้งปรับแก้ถ้อยคำในคำปรารภให้สอดคล้องกันตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดย กรธ.ต้องไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ก่อนเสนอนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

แน่นอนว่าในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นย่อมต้องเป็นภาษากฎหมาย แม้ว่าจะพยายามเขียนให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายมากที่สุดก็ตาม แต่สำหรับหลายคนอ่านแล้วก็ยังงงๆ หรือขี้เกียจอ่านรอลอกเอาดีกว่าก็มีไม่น้อย

แต่เอาเป็นว่า หากสรุปให้เห็นก็มีหลักๆ อยู่สองสามประเด็นใหญ่ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีการถกเถียงกันอยู่ระหว่างสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ชงคำถามพ่วงในการออกเสียงลงประชามติ นั่นคือ ส.ว.(แต่งตั้ง) ในช่วง 5 ปีแรกสามารถ “เสนอชื่อ” นายกฯ คนนอกได้หรือไม่ ซึ่งผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาชัดเจนแล้วว่า สว.มีสิทธิแค่ลงมติร่วมกับ สส.ในการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้นแต่ “ไม่มีสิทธิเสนอชื่อ” แต่ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อร่วมกับ ส.ส.ในการเสนอให้ “ยกเว้นข้อบังคับ” หรือข้อกำหนดในการเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองได้ในกรณีที่ สส.ไม่อาจเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองที่กำหนดเอาไว้ได้ (หมายถึงขยักแรกเลือกจากบัญชีพรรคไม่ได้ก็ให้มาถึงขยักที่ 2 ให้ ส.ว.เข้ามาร่วมเลือกจากคนนอกได้)

ส่วนอีกประเด็นก็คือ การนับวาระของรัฐสภาชุดใหม่ (ส.ส.บวก ส.ว.) ให้นับวันแรกหลังจากที่ ส.ส.และส.ว.ครบองค์ประกอบที่จะเป็นรัฐสภาโดยสมบูรณ์สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐสภาได้

ดังนั้น เมื่อออกมาแบบนี้ก็ต้องถือว่าชัดเจนเข้าไปอีกว่า ส.ว.มีสิทธิแค่ร่วมกับ ส.ส.ในการยกเว้นข้อบังคับในการเลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมือง(เพื่อเปิดทางเลือกนายกฯ จากคนนอกได้) หากคราวแรก ส.ส.เลือกกันเองไม่ได้ และประเด็นที่ 2 คือ ส.ว.มีสิทธิแค่ “เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ” นายกฯ ตามที่ ส.ส.เสนอชื่อมาเท่านั้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญระบุว่านี่คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตามที่มีการออกเสียงประชามติ

เมื่อผลออกมาแบบนี้ มองอีกมุมหนึ่งมันก็เหมือนกับเป็นการส่งให้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ “ลอยตัว” ไม่ต้องมาขัดแย้งกับใคร เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยขยายความยืนยันเจตนารมณ์ออกมาให้เห็นแล้ว

ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับกันว่าหลักใหญ่ความสำคัญในเวลานี้ก็คือเรื่อง “นายกฯ คนนอก” นั่นแหละ เหมือนกับการ “ปูทาง” ไปทางนั้น โดยอิงกระบวนการโหวตในรัฐสภาเพื่อสร้างความชอบธรรม โดยให้ ส.ส.เป็นคนเสนอ แล้วสุดท้ายก็ให้ ส.ว.ร่วมโหวตด้วย ก็เหมือนกับการพบกันครึ่งทางประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่มีทั้งเลือกตั้งและแต่งตั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงนายกฯ คนนอก มันก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่งานนี้มีการเปิดทางเอาไว้แบบสะดวกโยธิน ทุกอย่างเห็นชัดอยู่แล้ว แบบที่ไม่ต้องพูดกันมากแบบ “มองตาก็รู้ใจ” ซึ่งแฟนคลับก็รอนับวันรอเฮกันได้ล่วงหน้าเลย!
กำลังโหลดความคิดเห็น