xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” ชี้ศาล รธน.ค้าน ส.ว.ชงชื่อนายกฯ ถือว่าจบ มองคำวินิจฉัยไม่ได้เอื้อนายกฯ คนนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 (แฟ้มภาพ)
รองประธาน สนช.แจงศาลรัฐธรรมนูญตีความไม่ให้ ส.ว.สรรหาเสนอชื่อนายกฯ ถือว่าจบ ไม่ใช่ยอมถอยหรือไม่ถอย ย้อนที่ผ่านมา สนช.เข้าใจคลาดเคลื่อน ตอนนี้ความเห็นสอดคล้องกันที่ 2 ขยัก มอง 5 ปีเลือกนายกฯ คนนอกกี่ครั้งก็ได้เพื่อให้การเมืองนิ่ง มองกลับคำวินิจฉัยไม่ได้เอื้อนายกฯ คนนอก

วันนี้ (29 ก.ย.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้เพิ่มสิทธิ ส.ว.สรรหาเสนอชื่อนายกฯ ตามที่ สนช.ตีความว่า เดิม สนช.เห็นว่า เมื่อประชาชนเห็นชอบประชามติคำถามพ่วงเรื่องให้รัฐสภามีส่วนกับกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี กระบวนการดังกล่าวก็ต้องเป็นหน้าที่ของทั้ง ส.ส.และ ส.ว. แต่มีความคลาดเคลื่อนเข้าใจว่า สนช.ต้องการให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ และอาจมีส่วนได้เสีย จนถูกโจมตีว่าตีความเกินเลย ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแบบนี้ถือว่าจบ ไม่ใช่เรื่องยอมถอยหรือไม่ถอย แต่ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ ซึ่งก็สอดคล้องตรงกับความเห็น สนช.ในข้อแรก เรื่องการงดเว้นบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคการเมือง ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็น 2 ขยัก ขยักแรกเป็นอำนาจของ ส.ส. แต่หาก ส.ส.เลือกนายกฯ ตามบัญชีไม่ได้ ศาลก็ชี้ว่าต้องเป็นเรื่องของทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ในการเข้าชื่อกันเกินหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา เพื่อขอมติ 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา สำหรับงดเว้นการเลือกนายกฯ ตามบัญชี

นายสุรชัยกล่าวว่า ส่วนคำวินิจฉัยข้อสอง เรื่องนิยามคำว่า วาระเริ่มแรก 5 ปี ตามมาตรา 272 ที่ สนช.เคยตั้งข้อสังเกตว่า อาจนำไปสู่ปัญหาการตีความกันภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ว่า หมายถึงงดเว้นการเลือกนายกฯ ตามบัญชีได้เพียงครั้งเดียว โดยดูตามวาระของสมาชิกรัฐสภา หรืองดเว้นการเลือกนายกฯตามบัญชีกี่ครั้งก็ได้ภายใน 5 ปีนั้น ศาลก็วินิจฉัยสอดคล้องกับการตีความของ สนช.ว่า การงดเว้นเลือกนายกฯ นอกบัญชีทำกี่ครั้งก็ได้ภายใน 5 ปี เราจะพบได้ว่า เหตุผลของคำวินิจฉัยอ้างถึงเป็นหลักคือกลไกการปฏิรูปช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ว่ามีความสำคัญ การเมืองช่วงนั้นต้องนิ่ง ส่วนข้อสังเกตว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะเอื้อให้มีนายกฯ คนนอกง่ายขึ้น ตนมองกลับกัน น่าจะเกิดได้ยากขึ้นกว่าเดิม เพราะ ส.ส.กับ ส.ว.ต้องมาคุยกันให้มากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น