ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ติดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอยู่ที่ลาว มอบหมายให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เห็นชอบในหลักการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ของ กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2.68กิโลเมตร จากบริเวณสถานีกรุงธนบุรี ของรถฟ้าบีทีเอส ไปตามถนนเจริญนคร ถนนสมเด็จเจ้าพระยา มาชนถนนประชาธิปก ที่วงเวียนเล็ก
รถไฟฟ้าสายสีทองนี้ ไม่ได้อยู่ในแผนแม่บท รถไฟฟ้าสารพัดสี 12 สาย เพราะเป็นโครงการใหม่ ที่เพิ่งคิดขึ้นมาเมื่อกลางปีที่แล้ว เพื่อรองรับ ศูนย์การค้า ยักษ์ใหญ่ ในย่านคลองสานที่กำลังก่อสร้างอยู่ในตอนนี้
ศูนย์การค้าที่ว่านี้ก็คือ ไอคอนสยาม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น่ำเจ้าพระยา บนถนนเจริญนคร ซึ่งเป็นการลงทุนของลูกสาวคนเล็กของธนินท์ เจียรวนนท์ กับบริษัทสยามพิวรรธน์ เจ้าของสยามพารากอน มีกำหนดเสร็จเปิดให้บริการภายในปีหน้า
เมื่อ ไอคอนสยามเปิดตัวแล้ว แน่นอนว่า จะทำให้การจราจรบนถนนเจริญนคร และรอบๆ รถติดอย่างมากมายมหาศาล ไอเดียเรื่องรถไฟฟ้าสีทองนี้จึงเกิดขึ้น จากฝ่ายเอกชน ที่มีเจตนาดีต้องการลดผลกระทบด้านการจราจร เป็นการทำเพื่อส่วนรวม
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นรถไฟฟ้าที่ขนคนเข้ามาใช้บริการของไอคอนสยาม โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสนามกีฬา บางหว้า ที่สถานีธนบุรี ตรงนี้ คือ ผลประโยชน์ส่วนตัว
ไอคอนสยามประกาศว่า จะออกเงินให้ กทม. สร้างรถไฟฟ้าสายนี้ ซึ่งเป็นระบบโมโนเรล ใช้พื้นที่เกาะกลางถนน ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน ใช้งบประมาณ 2.5 พันล้านบาท ในการก่อสร้าง ช่วงแรก สามสถานี ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร เมื่อเสร็จแล้ว จะจ้างบริษัทบีทีเอส เป็นผู้เดินรถ โดยไอคอนสยามได้สิทธิในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีและตัวรถโดยสาร
ผู้บริหารไอคอนสยาม เข้าพบ พลอากาศเอกประจิณ จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม เพื่อขอไฟเขียวโครงการนี้ หลังจากนั้น กทม. ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นไปแล้ว 2 ครั้ง ก่อนจะเสนอ ขออนุมัติในหลักกการ จาก คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา
นับว่า เป็นการดำเนินการอย่างรวดเร็ว ต่างจากรถไฟฟ้าสายอื่นๆที่อยุ่ในแผนแม่บท ที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี กว่าจะได้ฤกษ์ลงมือก่อสร้าง เพราะเป็นโครงการของเอกชนคือ ไอคอนสยาม ที่ต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อรองรับศูนย์การค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น ยอมควักเงินลงทุนเอง เพียงแต่ขอใช้พื้นที่สาธารณะคือ ถนน ในการก่อสร้างโครงการ และเพราะอิทธิพล บารมีของ ซีพี
การที่ไอคอนสยาม ยอมควักกระเป๋าเอง ทำให้ลดข้อครหาเรื่อง ผลประโยชน์ส่วนตัวลงไปได้ เพราะโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองนี้ ไม่มีความจำเป็นเลย มิฉะนั้นแล้ว คงได้บรรจุอยู่ใน แผนแม่บท รถไฟฟ้า 12 เส้นทาง ของ คณะกรรมการนโยบายขนส่งและจราจรหรือ คจร. ไปแล้ว
** พื้นที่บริเวณถนนเจริญนคร หรือ คลองสานนั้น เป็นย่านที่พักอาศัย วัด และสถานที่ราชการ การจราจรไม่ได้หนาแน่น การอ้างปริมาณรถในท้องถนน ว่ามีจำนวนมาก เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้โครงการสมเหตุสมผล เช่นเดียวกับการอ้างจำนวนผู้โดยสารว่า มีจำนวนมากพอ ที่จะทำให้การก่อสร้างโครงการคุ้มค่า ก็เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ตัวเลขจริง มักจะต่ำกว่าหลายเท่าตัวเสมอ
** เหมือนกับโครงการรถเมล์บีอาร์ที ของ กทม.เอง ที่ตอนเปิดตัว โฆษณาสรรพคุณอย่างสวยงาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ มีผู้โดยสารน้อยมาก และต้องขาดทุนเป้นเงินถึงหนึ่งพันล้านบาท จนต้องงยุบโครงการทิ้งในปีหน้า
โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง เมื่อก่อสร้างเสร็จ เปิดให้บริการ มีแนวโน้มสูงว่า จะมีผู้มาใช้บริการน้อย เพราะเป็นทางเลือกในการเดินทางทางเลือกหนึ่งเท่านั้น เพราะเป้าหมายของรถไฟฟ้าสายนี้คือ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่จะมาใช้บริการของไอคอนสยาม