xs
xsm
sm
md
lg

เดินทอดน่องท่องฝั่งธนฯ “บางกอกใหญ่-บางกอกน้อย” ยลหลากศาสนสถาน ผ่านเรื่องเล่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“คลองมอญ” ที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตบางกอกใหญ่กับเขตบางกอกน้อย
ตั้งแต่มีโครงการ “กรุงเทพฯ เดินเที่ยว : Walking Bangkok” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นั้น ได้นำเสนอไปหลายเส้นทางจนกลายเป็นที่รู้จัก เพื่อให้ชาวกรุงได้ช่วยกันเผยภาพมนต์เสน่ห์ของเมืองหลวงที่มีหลากหลายเรื่องราว คราวนี้ก็ถึงตาที่ฉันจะได้ร่วมทริปเดินเที่ยวเส้นทางใหม่ ที่ไม่ว่าใครๆ ย่อมรู้จักดี นั่นคือ “ย่านบางกอกใหญ่และบางกอกน้อย” ถือว่าเป็นย่านเก่าแก่ที่มีมานาน ไม่ว่าจะเป็นวัดต่างๆ พร้อมสถานที่ชอปปิ้งยอดฮิตอย่างวังหลัง
 “พระวิหารฉางเกลือ”  ที่ “วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร”
การเดินทางของฉันในวันนี้จะเริ่มแรกกันที่ “วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร” หรือ "วัดท้ายตลาด" เป็นวัดโบราณสร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดท้ายตลาด เพราะอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม และทรงขนานนามใหม่ว่า “วัดโมลีโลกย์สุธารามอาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง” เรียกสั้นๆ ว่า “วัดโมลีโลกย์สุธาราม” ซึ่งภายหลังเรียกว่า “วัดโมลีโลกยาราม” ซึ่งถ้ามาวัดนี้แล้วไม่ควรพลาดนั่นคือ “พระวิหารฉางเกลือ” เป็นศิลปกรรมไทย-จีน ปูชนียสถานที่เก่าแก่ที่สุดของวัด สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เป็นสถานที่เก็บเกลือ เพราะสมัยนั้นเกลือมีความสำคัญในการถนอมอาหารในการเดินทัพ นับเป็นยุทธปัจจัยสำคัญในการรบ จึงเรียกกันว่ามีหนึ่งเดียวในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
“พระปรเมศ”
ภายใน  “พระวิหารฉางเกลือ”
พระวิหารแห่งนี้มีลักษณะพิเศษที่หาดูได้ยาก เพราะภายในกั้นเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเป็นห้องโถงใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยต่างๆ ส่วนตอนหลังเป็นห้องเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ นามว่า “พระปรเมศ” ผนังและเพดานเขียนลวดลายงดงาม ประตูและหน้าต่างทุกช่องเขียนลายรดน้ำ สวยสดงดงามอย่างยิ่ง
 “วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร”
ต่อมาเราเดินเท้ามาถึง “วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร” ที่อยู่ไม่ไกลนัก เป็นพระอารามสำคัญที่เคยเป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงชักชวนสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ร่วมบูรณปฏิสังขรณ์วัดหงส์ เนื่องจากอยู่ใกล้พระราชวังของพระองค์ แต่การยังไม่แล้วเสร็จ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีก็สิ้นพระชนม์ก่อน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับพระราชภาระในการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อ จนกระทั่งการบูรณะเสร็จแต่ยังไม่บริบูรณ์นัก ก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงปฏิสังขรณ์ต่อมาจนแล้วเสร็จสวยงาม และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดหงส์รัตนาราม” นอกจากนั้นวัดหงส์รัตนารามนี้ ถือว่าเป็นวัดประจำพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย
“หลวงพ่อแสน” เป็นพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียง
โดยภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นวโลหะ "หลวงพ่อแสน" เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถเบื้องหน้าพระองค์พระประธาน จัดเป็นพระพุทธรูปสำคัญและงามเป็นพิเศษแตกต่างจากบรรดาพระพุทธรูปอื่นๆ เป็นพระเก่าโบราณที่หาชมได้ยาก
“หลวงพ่อโคนสมอมหาลาภ” ภายใน “วัดนาคกลางวรวิหาร”
ออกเดินทางไปที่ วัดนาคกลางวรวิหาร วัดนาคกลางเดิมเป็นวัดโบราณ ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ความเป็นมาตอนหนึ่งว่า เดิมมี 3 วัด ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มีพระพุทธรูปสำคัญที่รู้จักกันดีอย่าง หลวงพ่อโคนสมอมหาลาภ เป็นพระพุทธรูปปางฉันสมอ หรือปางถือสมอ นั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวรวิชัย ห่มจีวรคล้ายทางจีนและทิเบต พระเกศเป็นแบบบัวตูม พระหัตถ์ซ้ายทรงผลสมอ สันนิษฐานว่าลอยน้ำมาจากทิศเหนือ ถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ วัดนาคกลางวรวิหาร หลายร้อยปีแล้ว
“ศาลาสุธรรมภาวนา” ภายในวัดนาคกลางวรวิหาร
นอกจากนั้นยังมี “ศาลาสุธรรมภาวนา” ศาลาที่ประทับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐานพระพุทธนิมิตฯ (หลวงพ่อทอง) และพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในพระอิริยาบถต่างๆ จำนวน 9 พระองค์ครึ่ง พร้อมทั้งทหารเสือคู่พระทัย ไว้ให้กราบสักการะอีกด้วย
หอไตรที่ “วัดระฆังโฆสิตาราม”
ภายใน “วัดระฆังโฆสิตาราม”
จิตรกรรมภายในหอไตร
ต่อจากนั้นเราก็เดินทางสู่ "วัดระฆังโฆษิตาราม" ชมหอไตรที่มีความงดงาม หรือในอีกชื่อเรียกว่า “ตำหนักจันทน์” เดิมเคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งทรงรับราชการเป็นที่พระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกฝ่ายขวา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงรื้อไปถวายวัดบางหว้าใหญ่ ในคราวเสด็จเป็นแม่ทัพไปตีเมืองโคราช เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์เพื่อใช้เป็นหอพระไตรปิฎก โดยขุดพื้นที่บริเวณที่พบระฆังออกเป็นรูปสี่เหลี่ยม ก่ออิฐกั้นเป็นสระแล้วรื้อพระตำหนักจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เมื่อดำเนินการเสด็จโปรดให้มีการสมโภชและปลูกต้นจันทน์ไว้ 8 ต้น อันเป็นเหตุให้เรียกหอไตรนี้ว่า “ตำหนักจันทน์”
กำแพงวังหลังดั้งเดิม
ต่อไปเราจะมุ่งหน้าไปที่โรงพยาบาลศิริราช โดยเดินผ่านสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตอย่าง "วังหลัง" ซึ่งมี กำแพงวังหลัง ที่เหลือเพียงช่วงเดียวในพื้นที่ได้โชว์ไว้ให้ดูอีกด้วย เมื่อถึงโรงพยาบาลศิริราชแล้ว ฉันเดินไปที่ "พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน" ที่นี่เมื่อก่อนนั้นเคยเป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อยมาก่อน รวมทั้งเป็นที่จัดแสดงเรื่องราวประวัติของวังหลัง หรือ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข, เรื่องราวสงครามมหาเอเชียบูรพา, นิทรรศการกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช และภูมิปัญญาบางกอกน้อย เอาไว้เป็นที่ระลึกถึง ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีมากแห่งหนึ่งในประเทศ
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
นิทรรศการกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช
หัวจักรรถไฟ ในโรงรถจักรธนบุรี
ต่อจากนั้นเราเดินทะลุไปตามเส้นทางรถไฟเพื่อไป "โรงรถจักรธนบุรี" สถานที่เก็บรักษาหัวรถจักรไอน้ำที่ยังใช้งานได้ อาทิ หัวรถจักรไอน้ำมิกาโด หัวรถจักรไอน้ำแปซิฟิก และหัวรถจักรไอน้ำ C56 ผ่านเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับทางรถไฟสายใต้ 
“พิพิธภัณฑ์ชุมชนตรอกข้าวเม่า”
และมาถึงที่สุดท้ายที่เราจะเดินไปนั้น นั่นก็คือ "พิพิธภัณฑ์ชุมชนตรอกข้าวเม่า" พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตบางกอกน้อยแห่งที่ 2 ที่นำเสนอนิทรรศการของภูมิปัญญาชาวบ้านตางๆ ที่มีมาแต่ในอดีต นอกจากนั้นชมการสาธิตการทำข้าวเม่าหมี่ อาหารทานเล่นของคนในสมัยก่อน เป็นอาหารที่สร้างชื่อให้กับชุมชนแห่งนี้ รวมทั้งเป็นตำนานความอร่อยในฝั่งธนบุรีที่ขึ้นชื่ออีกด้วย
ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีหลังจากได้เดินเที่ยวเดินชม “ย่านบางกอกใหญ่-บางกอกน้อย” แห่งนี้ ได้รู้ทั้งเรื่องราว ประวัติท้องถิ่นที่มีเรื่องราวถ่ายทอดกันมา เป็นความรู้ความทรงจำที่ดี คุ้มค่ากับการเดินทางที่ได้ชมเสน่ห์ย่านแห่งนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น