xs
xsm
sm
md
lg

สภากทม.ติดเบรก “บีอาร์ที” แฉ 6 ปี ขาดทุนบักโกรกพันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 6ก.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา สมาชิกสภากทม. ยื่นญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาและทบทวนการดำเนินโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ(บีอาร์ที)โดยกล่าวว่า นับแต่เปิดให้บริการปี 2553 กทม.ได้ทำการว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการเส้นทางสาทร-ราชพฤกษ์ เป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 53-60 ใช้งบประมาณรวมกว่า 2,009.7 ล้านบาท มีผู้โดยสารใช้งานเฉลี่ยปีละ 18,000เที่ยว/คน/วัน

ที่ผ่านมากทม.มีรายได้รวมจากค่าโดยสาร ตั้งแต่เริ่มดำเนินการทั้งสิ้น 199.8 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายในการบริหารจัดการรวมกว่า 1,237.6 ล้านบาท ทำให้กทม.อยู่ในภาวะขาดทุนกว่า 1,037.8 ล้านบาท เฉลี่ยการขาดทุนปีละกว่า 200 ล้านบาท ทำให้เสียงบประมาณจากภาษีของประชาชน เพื่อไปใช้ในการดำเนินโครงการไปเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งโครงการบีอาร์ที ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการเพื่อลดปัญหาการจราจรก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเส้นทางการเดินรถยังคงมีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก จำนวนผู้โดยสารที่ตั้งเป้าในการใช้บริการไว้ที่ 30,000คน/เที่ยว/ปี ยังมีจำนวนไม่ถึงเป้าหมาย และการเดินทางไม่ได้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพราะมีรถอื่นเข้าร่วมใช้ช่องทาง ซึ่งสัญญาจ้างเดินรถจะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.ปี 2560 ซึ่งมีแนวทางในการพัฒนาเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลโดยจะใช้สถานีเดิมของบีอาร์ทีที่มีอยู่ และยังมีโครงการศึกษารูปแบบอื่นๆ ทั้งการขยายเส้นทางบีอาร์ทีเพื่อให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้

ดังนั้นจึงเห็นว่า สภากทม.ควรมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษา ทบทวนก่อนที่จะให้ความเห็นชอบงบประมาณในการดำเนินโครงการต่อไปว่า ควรจะเลือกแนวทางใดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ด้านนายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า รถโดยสารบีอาร์ที เป็นโครงการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน ซึ่งมุ่งเน้นการเดินทางรูปแบบปลอดภัยและทันสมัย ซึ่งตั้งแต่การเปิดให้บริการรถบีอาร์ทีแก่ประชาชนระยะเวลากว่า 6 ปี นั้น มีผู้ใช้บริการจำนวนมากกว่า 33 ล้านเที่ยว ซึ่งมีผู้ใช้งานเป็นนักเรียนจำนวนมากถึงร้อยละ 35 โดยการให้บริการรถบีอาร์ที ถือเป็นบริการที่มีความปลอดภัยสูง เกิดอุบัติเหตุเพียงครั้งเดียว ตั้งแต่การดำเนินโครงการ

อย่างไรก็ตาม กทม.ต้องยอมรับในปัญหาหลายๆด้าน ในหลายด้าน ทั้งช่องทางเดินรถ ที่ต้องเป็นช่องทางพิเศษ แต่กลับมีรถอื่นๆ เข้ามาใช้ช่องทางร่วม อีกทั้งเมื่อเกิดปัญหาการการจราจรติดขัด ตำรวจจราจรยังมีการประสานขอเปิดใช้ช่องทางรถโดยสารบีอาร์ทีสำหรับรถอื่นๆ ด้วย ดังนั้นการเดินทางจึงไม่สามารถรวดเร็วดังที่กำหนดไว้ได้

ส่วนการจัดเก็บค่าโดยสาร กทม.ได้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ และต้องการช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายประชาชน และเป็นการชัดจูงประชาชนให้มาเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ จึงกำหนดการจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราที่ต่ำกว่าที่ได้ศึกษาไว้ที่ 13-19 บาท ตามระยะทาง โดยปัจจุบันมีการจัดเก็บค่าโดยสารอยู่ที่ 5 บาท ตลอดสาย อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ทำการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบการดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าจะมีการปรับปรุงโครงการบีอาร์ทีให้ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมสภากทม. มีมติเห็นชอบในการตั้ง ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาและทบทวนการดำเนินโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษบีอาร์ที โดยกำหนดระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 120 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น