xs
xsm
sm
md
lg

สั่งศึกษารถไฟฟ้าสีทอง ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360 - ครม.ไฟเขียว กทม.ลงทุนสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง วงเงิน 3.8 พันล. "กรุงธนบุรี-ถนนประชาธิปก" เป็นขนส่งขนาดรอง หรือฟีดเดอร์ แบบไร้คนขับ เชื่อม BTS-สีม่วงใต้ สั่งออกแบบรายละเอียดทำ EIA ก่อนเสนอ ครม.ขอยกเว้นเกณฑ์สร้างใต้ดินเกาะรัตนโกสินทร์ ด้าน ก.คมนาคม คาด ก.ย.ชงครม.ขออนุมัติประมูลรถไฟทางคู่ 3 สายรวด วงเงินกว่า 7 หมื่นล.

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังการประชุมคระรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (6 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบ โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-เขตคลองสาน-ถนนประชาธิปก) ระบบรถไฟฟ้านำทางอัตโนมัติ (Automated Guided Transit : AGT) ระยะทาง 2.68 กม. วงเงินประมาณ 3,845.6 ล้านบาทซึ่งเป็นโครงการในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร(กทม.) โดยจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 จาก สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรีของ BTS -เขตคลองสาน (หน้าร.พ.ตากสิน) ระยะทาง 1.72 กม. มี 3 สถานี ระยะที่ 2 จากถนนสมเด็จเจ้าพระยา (รพ.ตากสิน)-ถนนประชาธิปก (วัดอนงคารามวรวิหาร)ระยะทาง 0.96 กม. โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้เห็นชอบในหลักการโครงการแล้ว โดยถือเป็นโครงข่ายระบบรองหรือ ฟีดเดอร์ รวมอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 ซึ่งกทม.จะให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (กทม.ถือหุ้น 99.98%) เป็นผู้ดำเนินการ

** อาจมุดใต้ดินช่วงเกาะรัตนโกสินทร์

นายอาคม กล่าวต่อว่า เนื่องจากโครงการอยู่ในพื้นที่ 25 ตร.กม. เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งตามมติ ครม.เดิมกำหนดให้การก่อสร้างเป็นระบบใต้ดิน ซึ่ง ครม.ครั้งนี้ยังไม่พิจารณายกเว้น ขณะที่ กทม.เสนอแผนก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้ายกระดับ ซึ่ง ครม.มอบหมายให้กทม. สำรวจและออกแบบรายละเอียดก่อนพร้อมศึกษาและจัดทำรานงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะพิจารณาต่อไป ส่วนการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนด้วยนั้นจะต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าสายสีทอง มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ)ที่สถานีประชาธิปก ซึ่งขณะนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มเติมคาดว่าจะเสนอครม.ได้เร็วๆนี้และเชื่อมสายสีแดงส่วนใต้ (หัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย) ที่สถานีคลองสานซึ่งขณะนี้ ยังติดปัญหา EIA ทั้งนี้ กทม.จะต้องประสานกับกระทรวงคมนาคมและ รฟม. เพื่อออกแบบสถานีเชื่อมต่อที่ประชาธิปก ให้เกิดความสะดวก ระหว่างระบบฟีดเดอร์กับรถไฟฟ้าสายหลัก สำหรับเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีทองเริ่มต้นสถานีกรุงธนบุรี (G1) เชื่อมต่อกับบีทีเอสสถานีกรุงธนบุรี โดยแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก บนเกาะกลางถนนกรุงธนบุรี แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเจริญนคร จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่สถานีเจริญนคร (G2) ตั้งอยู่บริเวณสะพานข้ามคลองวัดทองเพลง แล้วมุ่งหน้าต่อไปยังแยกคลองสาน เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อเข้าสู่สถานีคลองสาน (G3) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเยื้องกับโรงพยาบาลตากสิน ส่วนสถานีประชาธิปก (G4) ตั้งอยู่บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับซอยสมเด็จเจ้าพระยา 8 ช่วยแก้ปัญหาการจราจรในเขตกรุงธนบุรี

**จ่อชง ครม.ประมูลรถไฟทางคู่ 3 สาย

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคมกล่าวว่า ภายในเดือนก.ย.นี้ คาดว่าจะเสนอครม.ขออนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทางได้แก่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม.วงเงิน 26,000.4 ล้านบาท ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,036.53 ล้านบาทและ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,840.54 ล้านบาท ส่วน ทางคู่ช่วง ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,249.90 ล้านบาทนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2559 ได้มีการการปรับปรุงร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ให้เปิดกว้างมากขึ้น และได้ชี้แจงต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แล้ว โดยประกาศในเวปไซด์ 2 ครั้งแล้วคาดว่าจะขายแบบประกวดราคาได้ในก.ย.-ต้นเดือนต.ค.นี้ โดยTOR ใหม่เปิดกว้างให้มีผู้ยื่นประกวดราคาได้15 ราย.
กำลังโหลดความคิดเห็น