xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ชู 3 คำ “ตั้งยาก-อยู่ยาก-ยุบยาก” กฎหมายพรรคการเมือง ยันไม่มีเซตซีโร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง (ภาพจากแฟ้ม)
กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ส่งร่างกฎหมายพรรคการเมืองให้ กรธ. แล้ว ไม่เซตซีโรพรรคเดิม วางหลัก 3 ยาก “ตั้งยาก อยู่ยาก ยุบยาก” หวังพรรคเป็นสถาบันการเมือง ให้เวลา 2 ปี ก่อนใช้ไพรมารีโหวตเลือกผู้สมัคร ส.ส. ตั้งกฎบอยคอตเลือกตั้งถูกยุบ วางเกณฑ์ป้องกันนโยบายประชานิยม ให้ส่งแผนจัดงบ ความคุ้มค่า ความเสี่ยง ผลกระทบ ไม่ทำ กกต. มีอำนาจระงับโฆษณาได้

วันนี้ (6 ก.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญว่า ตั้งยาก อยู่ยาก และ ยุบยาก หมายถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองมีความประสงค์ให้เป็นสถาบันมีความต่อเนื่องจึงมีการกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ เช่น ต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่าห้าพันคน และมีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ส่วนพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ยังมีต่อเนื่องไม่มีการเซตซีโร หรือยุบพรรคเดิมเพื่อจดทะเบียนพรรคใหม่

“คิดว่า ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะไม่ทำให้ผู้ที่คิดพรรคต้องถึงขนาดใช้วิธีการซื้อตัวคนเข้าพรรค เพื่อจะได้จัดตั้งพรรคได้เร็ว การให้มีประชาชนมามีส่วนร่วมกับการตั้งพรรค 5,000 คน ไม่ใช่เรื่องยาก โดยผู้ที่คิดจะตั้งพรรคตามกฎหมายใหม่ก็สามารถเริ่มกระบวนการดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการได้ เพื่อหาว่าที่สมาชิกพรรคไว้ล่วงหน้า แต่ทั้งนี้ การตั้งพรรคยากจะทำให้ผู้คิดตั้งเลือกใช้วิธีการซื้อหัวพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมมาดำเนินการหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ขึ้นอยู่กับนักการเมืองคนนั้นจะดำเนินการอย่างไร” นายสมชัย กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีกลไกสนับสนุนการทำงานพรรคการเมือง เช่น การให้สมาชิกเสียค่าบำรุงรายปีไม่น้อยกว่าสองร้อยบาทต่อคนต่อปีเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง โดยประชาชนทั่วไปสามารถบริจาคเงินภาษีรายได้บุคคลธรรมดาให้พรรคการเมืองได้ปีละห้าร้อยบาท ส่วนผู้ประสงค์บริจาคก็สามารถลดหย่อนภาษีได้เป็นสองเท่าของเงินบริจาคแต่ไม่เกินห้าหมื่นบาทในกรณีเป็นบุคคลธรรมและไม่เกินสองแสนบาทในกรณีเป็นนิติบุคคล

ส่วนการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมืองนั้นกำหนดให้พรรคการเมือง ต้องมีข้อบังคับห้ามมิให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคกระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมหรือยินยอมให้บุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการครอบงำ หรือชี้นำการดำเนินกิจการโดยอิสระของพรรคการเมือง และกำหนดให้สาขาพรรคมีส่วนร่วมในการพิจารณา และเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อหรือที่เรียกว่าไพรมารีโหวต โดยให้คำนึงถึงสัดส่วนของชายและหญิงด้วย แต่ในส่วนนี้มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าภายในสองปีนับแต่ประกาศใช้กฎหมายนี้ยังไม่ให้นำหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้สมัครจากสาขามาใช้บังคับ และให้พรรคการเมืองตามกฎหมายเดิมเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายนี้ต่อไป

นอกจากนี้ ในการกำหนดนโยบายพรรคการเมืองที่จะให้ในการโฆษณาของพรรคการเมืองให้คำนึงถึงความเห็นของที่ประชุมสาขาพรรค และก่อนประกาศนโยบายเพื่อใช้ในการประกาศโฆษณาดังกล่าวพรรคการเมืองต้องจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงของนโยบายนั้น และส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ หากพรรคการเมืองไม่ดำเนินการแต่ได้ประกาศโฆษณานโยบายดังกล่าว กกต. มีอำนาจสั่งระงับการโฆษณานโยบายนั้นได้ และมีบทลงโทษกรณีที่พรรคการเมืองฝ่าฝืนไม่เสนอต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ กกต. จะไม่มีสิทธิ์ไปชี้ว่าการเสนอนโยบายดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้พรรคการเมืองต้องมีความรอบคอบ และรับผิดชอบต่อประชาชนไม่ใช่แค่หาเสียงด้วยนโยบายแค่ประโยคเดียว

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่บอกว่าพรรคการเมืองจะยุบยากนั้น คือ การจะยุบพรรคจะต้องมีเหตุร้ายแรง คือ กระทำการล้มล้าง หรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีการกำหนดเหตุแห่งการสิ้นสภาพพรรคการเมืองเอาไว้เปลี่ยนแปลงจากเดิม คือ ถ้าไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสองครั้ง หรือเป็นเวลา 8 ปี ติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน จะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพพรรคการเมืองมาเป็นถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วพรรคการเมืองไม่ส่งผู้สมัครก็เป็นเหตุให้สิ้นสภาพได้แล้ว ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องพรรคการเมืองบอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนโทษปรับทางปกครองเป็นโทษทางอาญาทั้งหมด

สำหรับพรรคการเมืองที่มีความเห็นในเรื่องนี้ นายสมชัย กล่าวว่า ควรเสนอไปยัง กรธ. อย่างเป็นทางการเพื่อพิจารณาประกอบ ซึ่ง กรธ. มีสิทธิที่จะไม่เอาตามที่ กกต. ส่งไปเลยก็ได้ ร่างกฎหมายของเราเป็นเพียงแค่ต้นเรื่อง ส่วนผลจะออกมาอย่างไรอยู่ที่ กรธ. ว่า จะเขียนอย่างไร ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกสามฉบับนั้นมีปฏิทินในการพิจารณาเรียงลำดับ ดังนี้ คือ ในสัปดาห์หน้าอังคารที่ 13 กันยายน 2559 พิจารณา กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ส. 20 กันยายน 2559 พิจารณากฎหมาย กกต. และในวันที่ 27 กันยายน 2559 จะพิจารณากฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยถือว่าการพิจารณากฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญในการทำงานของ กกต. ขณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น