xs
xsm
sm
md
lg

กกต.สรุปกฎหมายพรรคการเมือง ยึดหลัก"3ยาก"ไม่เซตซีโร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (6ก.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงภายหลังการประชุมกกต.ว่าที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีสาระสำคัญว่า พรรคการเมืองต้อง ตั้งยาก อยู่ยาก และ ยุบยาก หมายถึง การจัดตั้งพรรคการเมือง มีความประสงค์ให้เป็นสถาบัน มีความต่อเนื่อง จึงมีการกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่ เช่น ต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5 พันคน และมีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ส่วนพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ ยังมีต่อเนื่อง ไม่มีการเซตซีโร่ หรือยุบพรรคเดิมเพื่อจดทะเบียนพรรคใหม่
"คิดว่าในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะไม่ทำให้ผู้ที่คิดตั้งพรรคต้องถึงขนาดใช้วิธีการซื้อตัวคนเข้าพรรคเพื่อจะได้จัดตั้งพรรคได้เร็ว การให้มีประชาชนมามีส่วนร่วมกับการตั้งพรรค 5พันคน ไม่ใช่เรื่องยาก โดยผู้ที่คิดจะตั้งพรรคตามกฎหมายใหม่ก็สามารถเริ่มกระบวนการดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการได้ เพื่อหาว่าที่สมาชิกพรรคไว้ล่วงหน้า แต่ทั้งนี้การตั้งพรรคยาก จะทำให้ผู้คิดตั้งเลือกใช้วิธีการซื้อหัวพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมมาดำเนินการหรือไม่ ไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับนักการเมืองคนนั้นจะดำเนินการอย่างไร"
นอกจากนี้ ยังมีกลไกสนับสนุนการทำงานพรรคการเมือง เช่น การให้สมาชิกเสียค่าบำรุงรายปี ไม่น้อยกว่า 200 บาทต่อคนต่อปี เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง โดยประชาชนทั่วไปสามารถบริจาคเงินภาษีรายได้บุคคลธรรมดาให้พรรคการเมืองได้ปีละ 500 บาท ส่วนผู้ประสงค์บริจาค ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้เป็น2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท ในกรณีเป็นบุคคลธรรมดา และไม่เกิน 2 แสนบาท ในกรณีเป็นนิติบุคคล
ส่วนการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมืองนั้น กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีข้อบังคับ ห้ามมิให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรค กระทำการใดๆ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือยินยอมให้บุคคลซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการครอบงำ หรือชี้นำการดำเนินกิจการโดยอิสระของพรรคการเมือง และกำหนดให้สาขาพรรค มีส่วนร่วมในการพิจารณา และเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ หรือที่เรียกว่า ไพรมารี่โหวต โดยให้คำนึงถึงสัดส่วนของชายและหญิงด้วย แต่ในส่วนนี้มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่า ภายใน 2 ปี นับแต่ประกาศใช้กฎหมายนี้ ยังไม่ให้นำหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้สมัครจากสาขา มาใช้บังคับ และให้พรรคการเมืองตามกฎหมายเดิม เป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายนี้ต่อไป
นอกจากนี้ ในการกำหนดนโยบายพรรคการเมืองที่จะให้ในการโฆษณาของพรรคการเมือง ให้คำนึงดึงความเห็นของที่ประชุมสาขาพรรค และก่อนประกาศนโยบายเพื่อใช้ในการประกาศโฆษณาดังกล่าวพรรคการเมืองต้องจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงของนโยบายนั้น และส่งให้กกต. เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ หากพรรคการเมืองไม่ดำเนินการ แต่ได้ประกาศโฆษณานโยบายดังกล่าว กกต. มีอำนาจสั่งระงับการโฆษณานโยบายนั้นได้ และมีบทลงโทษกรณีที่พรรคการเมืองฝ่าฝืน ไม่เสนอ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ กกต.จะไม่มีสิทธิไปชี้ว่าการเสนอนโยบายดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าว จะช่วยให้พรรคการเมืองต้องมีความรอบคอบ และรับผิดชอบต่อประชาชน ไม่ใช่แค่หาเสียงด้วยนโยบายแค่ประโยคเดียว
ส่วนประเด็นที่บอกว่า พรรคการเมืองจะยุบยากนั้นคือ การจะยุบพรรคจะต้องมีเหตุร้ายแรง คือ กระทำการล้มล้าง หรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีการกำหนดเหตุแห่งการสิ้นสภาพพรรคการเมืองเอาไว้เปลี่ยนแปลงจากเดิม คือ ถ้าไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 ครั้ง หรือเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน จะเป็นเหตุให้สิ้นสภาพพรรคการเมือง ถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปแล้วพรรคการเมืองไม่ส่งผู้สมัคร ก็เป็นเหตุให้สิ้นสภาพได้แล้ว ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องพรรคการเมืองบอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง นอกจากนี้ มีการเปลี่ยนโทษปรับทางปกครอง เป็นโทษทางอาญาทั้งหมด
สำหรับพรรคการเมืองที่มีความเห็นในเรื่องนี้ นายสมชัย กล่าวว่า ควรเสนอไปยังกรธ.อย่างเป็นทางการ เพื่อพิจารณาประกอบ ซึ่งกรธ. มีสิทธิที่จะไม่เอาตามที่กกต.ส่งไปเลยก็ได้ ร่างกฎหมายของกกต. เป็นเพียงแค่ต้นเรื่อง ส่วนผลจะออกมาอย่างไร อยู่ที่กรธ.ว่าจะเขียนอย่างไร ส่วนกฎหมายลูกอีก 3 ฉบับนั้น มีปฏิทินในการพิจารณาเรียงลำดับ ดังนี้ คือ อังคารที่ 13 ก.ย.59 พิจารณา กม.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ส. 20 ก.ย.59 พิจารณากฎหมาย กกต. และในวันที่ 27 ก.ย.59 จะพิจารณากม.การได้มาซึ่งส.ว.
ด้านนายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ. กล่าวว่า กรธ.จะเปิดรับฟังข้อเสนอแนะการร่างกม.ลูกทั้ง 10 ฉบับ ในลักษณะเปิดกว้าง โดยองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง ประชาชน ตลอดจนภาคประชาสังคม สามารถส่งข้อเสนอแนะมาให้กรธ.พิจารณาได้ นอกจากนี้ กรธ.จะจัดสัมนาใสรูปแบบปลายเปิด เพื่อให้ทุกภาคส่วนมาร่วมแสดงความคิดเห็น และจะนำความคิดเห็น และข้อเสนอที่ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ต่อไป
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงข้อเสนอของ สปท. ให้มหาดไทย จัดการเลือกตั้งแทน กกต. ว่าประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการจัดการเลือกตั้งเป็นเรื่องของ กกต. ซึ่งคำว่า กกต. นั้นมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีอำนาจ จะตั้งเป็นองค์กรอิสระได้อย่างไร ฉะนั้น กกต.จึงเกี่ยวกับการเลือกตั้งอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ในรธน. กำหนดให้กกต.เป็นผู้ดำเนินการเลือกตั้ง แต่ผู้ปฏิบัติอาจใช้เจ้าหน้าที่ของมหาดไทย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ กกต.อาจจะขอยืม หรือใช้นักศึกษาวิชาทหาร มากกว่าที่จะใช้ข้าราชการ น่าจะเป็นอย่างนั้น ซึ่งตนยังไม่รู้ว่าเขาจะใช้แบบไหน เรื่องนี้ต้องให้กกต.เป็นคนสรุป ซึ่งคสช.จะไม่ไปกำหนดอะไร
ส่วนแนวคิดการเซตซีโรพรรคการเมืองนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จะเป็นเซตที่ไหนก็ไปเถอะ ในคสช.ไม่ได้คุยกันเรื่องนี้ เป็นคำถามที่ตลกที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น