xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แย้มให้มหาดไทยจัดเลือกตั้งทำได้ - ย้ำไม่ได้ใช้ ม.44 สร้างเขื่อนแม่วงก์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกรัฐมนตรีไม่วิจารณ์ สปท.ชงให้มหาดไทยจัดเลือกตั้งแทน กกต. แต่ชี้ในอดีตเคยมี ถ้าจะจัดให้ก็ไม่ขัดร่างรัฐธรรมนูญ ใส่รายละเอียดในกฎหมายลูกได้ เตือนเปลี่ยนตัวประธาน กกต.เกรงเพิ่มพระราชภาระหากต้องกราบบังคมทูล ยันรัฐบาลไม่มีนโยบายถอด “กัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติด ไม่มีแนวคิดใช้มาตรา 44 สร้างเขื่อนแม่วงก์

วันนี้ (5 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่ายังไม่ขอวิจารณ์อะไร ใครอยากเสนออะไรให้เสนอมา เพราะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฟังอยู่ ส่วนที่มีการอ้างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กกต.มีอำนาจจัดการเลือกตั้งนั้นจริง แต่คำว่าจัดเลือกตั้งและควบคุมการเลือกตั้งในที่นี้หมายความว่าอย่างไร ขนาดไหน เป็นสิ่งที่ต้องไปขยายความในกฎหมายลูก

นายวิษณุกล่าวว่า การเสนอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนจัด ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ที่ผ่านมาไทยคิด 3 รูปแบบ คือ 1. ให้ กกต.เป็นคนจัดอำนวยการตั้งแต่ต้นจนจบ 2. ให้ กกต.เป็นคนจัดวางระเบียบหรือ เลกกูเลเตอร์ คือ เป็นผู้แจกใบเหลือง ใบแดง ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติหรือโอเปอร์เรเตอร์ ให้ใช้เจ้าหน้าที่ของฝ่ายบริหารปกติ ไม่จำเป็นต้องเป็นของกระทรวงมหาดไทย แต่สำหรับไทยอาจคิดว่าต้องเป็นกระทรวงมหาดไทย เพราะเคยจัดมาก่อน หลายประเทศใช้วิธีนี้ และ 3. ระบบที่ไม่มี กกต.เข้ามาจัดการ แต่ให้ฝ่ายบริหารจัดการ ซึ่งเป็นรูปแบบก่อนปี 40 แต่วิธีนี้อาจไม่เป็นที่นิยมและจะเป็นที่ครหาได้

“วันนี้เสียงที่ให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาจัดการเลือกตั้งคือ เสียงที่ให้ กกต.เป็นผู้วางระเบียบอย่างเดียว ส่วนระดับปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยดูแล ซึ่งหลายประเทศทำ แต่ที่ผ่านมาไทยให้ กกต.เป็นทั้งผู้วางระเบียบและผู้ปฏิบัติคือ ออกกฎระเบียบว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ยกหีบ นับคะแนน หรือรายงานคะแนนเอง เป็นสิ่งที่ใช้ในไทย แต่วันนี้ที่จะตัดตอนเพราะต้องการให้เกิดความสมดุลเท่านั้น ส่วนคนที่เสนอเรื่องนี้ผมไม่ทราบว่าเอาจริง เอาจังขนาดไหน แต่ความหมายอาจให้คนอื่นเข้ามาเป็นผู้ปฏิบัติ ส่วนจะจบอย่างไรไม่ทราบ เพราะทั้งหมดอยู่ที่ กกต. แต่ทำอย่างไรก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากรื้อทั้งระบบมาใช้แบบที่ 3 จะขัดกับรัฐธรรมนูญ ยืนยัน กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งและเป็นคนให้ใบเหลือง ใบแดง” นายวิษณุกล่าว

ส่วนข้อเสนอที่จะให้รื้อ กกต.จังหวัดนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายลูกจะเขียนอย่างไรก็ได้ อย่างสมัยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุชัดเจนไม่ให้มี กกต.จังหวัด เพราะไม่เชื่อถือในระบบ กกต.จังหวัด แต่อาจมีอย่างอื่นแทนได้ คือ เลือกตั้งแต่ละครั้งจะตั้งทีมขึ้น จะได้สกรีนคนได้ และจัดการกับ กกต.จังหวัดที่เคยมีปัญหาในการเลือกตั้งครั้งก่อนได้ ทั้งนี้ โครงสร้าง กกต.จังหวัดไม่ได้มีอยู่แล้ว เพราะหากทำ พ.ร.บ.เลือกตั้ง หรือ พ.ร.บ.กกต.ฉบับใหม่ โครงสร้างที่มีอยู่เดิมจะเป็นศูนย์ กล่าวคือเซตซีโร่วิธีบริหารงานของ กกต. แต่ไม่มี กกต.ไม่ได้ ยกตัวอย่างเซตซีโร่โดยมี กกต. แต่เปลี่ยนคนได้เซตซีโร่ กกต.โดยใช้คนเดิม แต่เปลี่ยนวิธีทำงานได้ เพราะ กกต.เป็นหน่วยงานต้องจัดระเบียบมากที่สุด ซึ่งจะต้องมีอีก 2 คนเพิ่มเข้ามา เพราะ 5 คนเป็นจำนวนที่น้อยไป การบริหารจัดการงานอาจไม่เพียงพอเพราะภารกิจของพรรคการเมืองมีมาก จึงต้องมีมากกว่า 5 คน

ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วต้องยกเลิก กกต.ที่มีอยู่ แล้วสรรหาใหม่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีแนว ไม่มีโน้ม สื่อถามตนก็ตอบ ต้องไปทำกฎหมาย โอกาสแบบนี้เกิดได้กับทุกองค์กรว่าจะเขียนกฎหมายลูกอย่างไร

เมื่อถามว่า หากเลือกให้ กกต.ทำงานในรูปแบบที่ 2 คือ ให้เป็นผู้จัดวางระเบียบนั้น กลไกที่จะมาช่วยทำงานต้องเขียนไว้ที่ไหน นายวิษณุกล่าวว่า เขียนในกฎหมายลูก แต่อย่าให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุให้ กกต.เป็นทั้งผู้วางระเบียบและผู้ปฏิบัติ แต่หากให้หน่วยงานอื่นมาทำงานในระดับปฏิบัติก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุกล่าวถึงกระแสข่าวความขัดแย้งภายใน กกต. หลังมีการเรียกร้องให้นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ลาออกหลังเคยตกลงภายใน กกต.ว่าจะดำรงตำแหน่งประธาน กกต.2 ปี แล้วเลือกคนใหม่ว่า หากจะมีการสลับสับเปลี่ยนผู้ดำรงตำแหน่งใน กกต.เองโดยไม่มีการสรรหา รับสมัคร หรือคัดเลือก ไม่เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนหน้านี้ เพราะไม่ได้เป็นการสรรหาใหม่ แต่เป็นข้อตกลงภายในของแต่ละหน่วยงาน แต่ละองค์กร ไม่ได้ไปผูกมัด หรือเกี่ยวพันกับคนอื่นที่จะรับรู้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่าจะนำไปสู่การนำความกราบบังคมทูลหรือไม่ เพราะจะเป็นการเพิ่มพระราชภาระ ดังนั้น จะต้องพิจาณาหลายชั้น ต้องดูว่าจำเป็นหรือไม่ ขนาดรัฐบาลจะปรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รัฐบาลยังต้องคิดว่าเมื่อไรจะถึงเวลาอันสมควร

นายวิษณุกล่าวถึงข้อเสนอของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เสนอให้แม่น้ำ 5 สายเว้นวรรค 5 ปี หลังจากมีการเลือกตั้งว่า ไม่รู้ ไม่ตอบ ในเมื่อในรัฐธรรมนูญไม่ห้ามแล้วพวกคุณจะให้ทำอย่างไร จะให้เว้นกันไปหมดจนกระทั่งเหลือแค่พวกคุณเท่านั้นหรือที่อยู่กันไม่กี่คน หรืออย่างไร นี่อาจเป็นความคิดที่ดีก็ได้นะ แต่ไม่มีอยู่ในกติกา จึงไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร

นายวิษณุยังกล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ศึกษาการถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการส่งผลการศึกษากลับมายัง ครม. จึงยังตอบอะไรไม่ได้ รัฐบาลยังไม่มีนโยบายถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด จนกว่าจะมีการเสนอความเห็นเข้ามา ทั้งยังต้องถามความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก รอให้เขาทำมาก่อนแล้วค่อยแสดงความคิดเห็น ยืนยันเรื่องนี้ยังไม่มีการเสนอขึ้นมาในชั้นของ ครม. อยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ระดับกรม กอง

เมื่อถามว่า ควรศึกษาการดำเนินการเกี่ยวกับยาเสพติดแต่ละชนิดไปในคราวเดียวหรือไม่ เพราะนอกจากกัญชาแล้ว ยังมีการพูดถึงเรื่องยาบ้าด้วย นายวิษณุกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุขเขาทำอยู่ แต่ข่าวมันออกมาทีละตัว เรื่องนี้ต้องพิจารณาในแง่สังคม ทั้งคุณและโทษเชิงประจักษ์ และพันธะสัญญาระหว่างประเทศ

นายวิษณุกล่าวถึงกระแสข่าวที่จะมีการเสนอให้ใช้มาตรา 44 ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ว่าไม่ทราบ และใน ครม.ยังไม่มีการหารือถึงเรื่องนี้ เข้าใจว่าในระดับกระทรวงยังคุยกันไม่จบ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันถึงการบริหารจัดการน้ำ แต่ไม่ได้เจาะจงที่เขื่อนแม่วงก์ เป็นการพูดถึงการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทั่วไปซึ่งที่แม่วงก์นี้ทุกคนรู้ดีว่ามีการคัดค้านของประชาชนอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น