xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชี้ใจคนยังไม่ปฏิรูป ความขัดแย้งยังอยู่ เลือกตั้งไปก็มีปัญหา “สมบัติ” ค้านประชามติ ลั่นไม่รับร่าง รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประวิช รัตนเพียร (แฟ้มภาพ)
กกต. ถกเลือกตั้งคุณภาพ “ประวิช"” ชี้ใจคนในสังคมยังไม่ปฏิรูป ความขัดแย้งยังอยู่ เลือกตั้งไปก็เจอปัญหาซ้ำรอยเดิม ระบุ อย่ามโนแค่จัดเลือกตั้งให้ดี แล้วจบ ระบุกลไกใหม่ ยังไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาการเมืองลงท้องถนน ด้าน "สมบัติ" อัดประชามติร่าง รธน. แค่รูปแบบ เชื่อ ปชช.โหวตตามการชี้นำของหัวคะแนน สุดท้ายวิกฤตการเมืองวนกลับ ประกาศด้วยสติสัมปชัญญะเตรียมโหวตไม่รับร่างรธน. ขณะที่นักวิชาการนิด้า อัดซ้ำทำประชามติผิดพลาดมหันต์ ย้ำ ปชช.จะตัดสินด้วยอารมณ์และการปลุกระดมเป็นหลัก

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "การเลือกตั้งคุณภาพโดยพลเมืองคุณภาพ" ซึ่งมีนายประวิช รัตนเพียร กกต. ด้านกิจการการมีส่วนร่วม นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สปช. และนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สภาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นวิทยากร

นายประวิช กล่าวว่า การเลือกตั้งคุณภาพโดยพลเมืองคุณภาพ กกต.กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ในอีก 5 ปีนับจากนี้ ที่ผ่านมาเรามองว่าถ้าในการเลือกตั้งมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ร้อยะล 70-75 ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นการมองเชิงปริมาณ แต่ในอนาคตเห็นว่าจำเป็นต้องเป็นการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ ซึ่งมีนัยยะความหมายหมายถึงการที่พลเมืองมีจิตสำนึกในการที่จะเลือกนักการเมือง พรรคการเมือง ที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ได้เลือกจากการซื้อสิทธิขายเสียง

นายประวิช กล่าวว่า วันนี้มีการพูดถึงการปฏิรูปเยอะมาก แยกย่อยถึงขนาดว่าจะปฏิรูปก่อนหรือเลือกตั้งก่อน ล่องลอยเป็นที่สนใจอยู่ในกระแสสังคม ส่วนตัวเห็นว่าเราเคยปฏิรูปการศึกษา ทำมา 20 ปี ทุกวันนี้ยังดำเนินการอยู่ มีการพูดถึงการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดประเทศไทยทำมาแล้วสะท้อนว่าการปฏิรูปต้องใช้เวลา ที่ผ่านมากกต. นำสิ่งที่เป็นปัญหาจากประสบการณ์ในอดีตมาเสนอขอแก้ไขกฎหมาย อย่างการเลือกตั้ง 2 ก.พ .57 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ ก็ได้ทำข้อเสนอแก้ไขกฎหมายปิดช่องปัญหาไปยัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะเราต้องการให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเกิดความสำเร็จ

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ มีถ้อยคำหนึ่งของคำวินิจฉัยที่เขียนไว้ว่าในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งแตกแยกของคนในชาติอย่างรุนแรง ยากที่จะทำให้การเลือกตั้งเกิดความสำเร็จ กกต.ได้มีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ เอาไว้ ยังไง กกต.ก็เอาตัวรอดได้ แต่จากข้อความดังกล่าว เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เมื่อใจคนในสังคมยังไม่ปฏิรูป แล้วเราไปเลือกตั้งจะไม่เจอปัญหาเดิมหรือ อย่าลืมว่าการอยุ่ร่วมกันได้ในสังคมไม่ได้อยู่ที่กฎหมายกำหนดอย่างไร แต่ต้องอยู่ด้วยใจที่ยอมรับ”

นายประวิช กล่าวว่า ระบบการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราใช้ระบบปาร์ตี้ลิสต์ มีส.ส.ทั้งหมด 450 คน ถ้ากกต.ประกาศรับรองผลร้อยละ 95 จึงเปิดสภาได้ แต่ขณะนี้ มีการแก้ไขระบบเลือกตั้งที่ใช้ระบบสัดส่วน คะแนนจากทุกหน่วยจะต้องถูกนำมานับรวม จะมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 250 คน และกำหนดไว้ว่า ถ้า กกต.ประกาศรับรองผลเพียงร้อยละ 90 ก็เปิดสภาได้ แต่ถามว่าถ้าคะแนนขาดเพียงหน่วยเดียวก็นับหรือประกาศผลไม่ได้ ถึงตรงนั้นอาจกลายเป็นกว่าร้อยละ 50 ที่ไม่สามารถประกาศผลได้ ความวุ่นวายจะเกิดขึ้น ปัญหาเหล่านี้ ตนเคยพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายสุเทพ เทือกสุวรรณ เลขาฯ กปปปส ว่าการแก้ไขวิกฤติประเทศต้องเริ่มที่ต้นน้ำ ทำให้พลเมืองมีความรู้ ตระหนักถึงการไม่ซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ซึ่งนายสุเทพเห็นว่าต้องแก้ไขที่พรรคการเมือง ไม่ให้พรรคเป็นของคนใดคนหนึ่ง ทำให้เกิดคำถามในวันนี้ที่อยู่ในช่วงการปฏิรูปว่า เราได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาที่จะไม่ทำให้การเมืองลงถนนอีกหรือไม่ ตนไม่อยากให้มีการมโนหรือพูดเรื่องปฏิรูปอย่างล่องลอย การปฏิรูปจะใช้เวลาเท่าไหร่ ตนไม่ทราบ แต่ถ้าสองตัวอย่างดังกล่าวเกิดขึ้นอีกโดยที่เราไม่แก้ไขอะไรเลย ถามว่าจะเกิดการเลือกตั้งที่มีคุณภาพได้อย่างไร

“ต่อให้เราเตรียมการเลือกตั้งที่ดีมีคุณภาพ หรือทำพลเมืองให้แข็งแรงอย่างไร ถ้าบรรยากาศพิเศษเหมือนที่ผ่านมา ถ้ายังไม่ปฏิรูปเพื่อลดความขัดแย้ง จะยุติปัญหาได้อย่างไร ยังสงสัยว่าจะเกิดการเลือกตั้งได้จริงหรือไม่ ผมไม่ใช่โฆษก คสช. แต่ในฐานะที่เป็น กกต. ยังเห็นว่าเรื่องนี้ต้องทำให้ได้ เพื่อเป็นกลไกในการเลือกตั้ง อย่างไม่มโนหรือพูดเพียงแค่ว่าให้จัดเลือกตั้งที่ดี เราเคยคิดว่ากฎหมายเลือกตั้งครอบคลุมทุกอย่าง สุดท้ายเมื่อเจอเหตุการณ์ก็ไปไม่เป็น จึงต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งให้จบเพื่อการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ อีกทั้ง กกต.ต้องมีการทบทวนตัวเองจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหาข่าว การซื้อสิทธิ์ขายเสียง ต้องขึ้นบัญชีบรรดาหัวคะแนนไว้ ปรับปรุงกระบวนการสืบสวนสอบสวน ตอนเริ่มต้น กกต.คึกคักแข็งแกร่ง เพราะมีภารกิจเดียวคือการเลือกตั้งระดับชาติ จนมาถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีความซับซ้อน

นายประวิช กล่าวอีกว่า กกต.ไม่มีปัญหาเรื่องจัดเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ตำอกตำใจคือการซื้อเสียงขายเสียงจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เราพยายามทำอยู่ เราก็ดูตัวเราเองที่เรานั่งพิจารณาสำนวนคดี เรารับข้อเท็จจริงหรือไม่ สำนวนที่มาจากจังหวัดมาถึงเรานั้น ในฐานะที่เคยเป็นนักการเมือง ตนรู้ดีว่าอะไรที่พ้นมาจากจุดเกิดเหตุมันเกิดความเพี้ยนไปหรือไม่ เรากำลังคิดว่า กกต.จัดเลือกตั้งแค่ระดับชาติอย่างเดียวจะดีหรือไม่ ให้เรื่องท้องถิ่นจบที่จังหวัด การสร้างพลเมืองต้องใช้เวลา กกต. 5 คน ตัดสินใจว่าจะใช้เวลานี้ดำเนินการ จะเลิกไม่ได้หรือหวังผลทันทีไม่ได้ ซึ่ง กกต.กำลังจับมือกับหน่วยงานอื่น อย่างกระทรวงศึกษาธิการ ที่พยายามรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 49 ล้านคนมีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า วันนี้เราสรุปกันว่าประชาธิปไตยต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่สนใจว่าการเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ ระบอบประชาธิปไตยในประเทศด้อยพัฒนา ทำให้คนที่รวยอยู่แล้วรวยเพิ่มมากขึ้น จึงมีคำถามเยอว่าระบอบนี้จะทำให้คนอยู่ดีกินดีจริงหรือไม่ ประชาธิปไตยจะเป็นระบอบที่ดีก็ต่อเมื่อประชาชน พลเมือง มีความรู้ที่จะเลือกคนดีมาเป็นผู้ปกครอง ถ้าคุณเลือกคนโกงเข้ามาปกครองคุณก็จะได้ทรราชมาหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง เราจะสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบมีเหตุมีผลได้อย่างไร ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีตรรกะที่เห็นชัดคือพลเมืองเขามีคุณภาพ โครงสร้างประชากรเหมือนเป็นสี่เหลี่ยม คนจนน้อย คนรวยน้อย มีแต่ชนชั้นกลางที่มีความรู้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคนเหล่านี้มักมีความสามารถในการหาข้อมูล รู้ประวัติผู้สมัครเลือกตั้งว่าเป็นอย่างไร

นายสมบัติ กล่าวว่า ส่วนประเทศด้อยพัฒนาโครงสร้างจะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่ว คนรวยน้อย คนจนเยอะ ความรู้น้อย ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าเรื่องปากท้อง เวลาทำประชามติไปแจกร่างรัฐธรรมนูญถามว่าชาวบ้านจะอ่านหรือไม่ เค้าไม่อ่านแต่ก็ต้องแจก เวลาลงมติรับไม่รับเขาตัดสินใจอย่างไร เขาก็จะถามหัวคะแนน ไปหลงคิดได้อย่างไรว่าประชาชนตัดสินใจเอง มันเป็นเพียงแค่รูปแบบในความเป็นจริงมันไม่ใช่ ประเทศไทยวันนี้ ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เรายังปล่อยให้ชาวบ้านถูกทอดทิ้ง ไม่มีรัฐบาลใดแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนได้อย่างจริงจัง ถามว่ามีทางหรือไม่ ตนสนใจการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โดยเฉพาะผลคะแนนครั้งล่าสุด ถ้าหากว่าการพัฒนาประเทศทำให้คนมีความรู้มากขึ้น มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น พูดได้เลยว่าทุกบ้านที่มีรั้วในกรุงเทพไม่เคยมีการซื้อเสียง

“การสร้างวัฒนธรรมที่ให้ประชาชนมีเหตุมีผลนั้น อันดับแรกคือประชาชนต้องคิดได้เองว่าเมื่อมีคนมาซื้อสิทธิ์ขายเสียงนั้นคนนั้นคือคนโกง หากคิดเช่นนี้ไม่ได้ปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ แต่หากคิดในทางกลับกันได้โอกาสที่ประชาธิปไตยจะประสบคววามสำเร็จก็มี”

นายสมบัติ กล่าวว่า ส่วนคำถามว่ากลไกในร่างรัฐธรรมนูญจะสอดคล้องกับการเลือกตั้งคุณภาพหรือแก้ไขวิกฤติทางการเมืองได้หรือไม่นั้น ร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดมาวันนี้ใครๆไม่ว่าทำอะไรก็แก้ปัญหาซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่ได้ แต่อาจสามารถลดอิทธิพลของการใช้เงินในการซื้อสิทธิ์ได้บ้าง เราดูการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ชนะเพราะกระแสการเมืองไม่ใช่อิทธิพล หรือการซื้อเสียง จึงต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองที่ให้ประชาชนเลือกนายกฯ-ครม.โดยตรง การที่เราไม่ไว้ใจตัวเราเอง แต่ไว้ใจผู้แทนที่มาจากการซื้อเสียงให้ไปตัดสินใจแทนเป็นเรื่องแปลก

นายสมบัติ กล่าวว่า ถ้า ส.ส.ไม่สามารถเลือกนายกญ อำนาจต่อรองและระบบอุปถัมภ์จะลดลง การที่ฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรงก็ไม่จำเป็นต้องมาดูแลคนแบบนี้ อย่างไรก็ตาม หากร่างรัฐธรรมนูญญฉบับนี้ผ่าน ภายใต้ระบบรัฐสภาแบบนี้ วิกฤติการเมืองไม่หายไป เลือกตั้งก็จะมีแต่นักการเมืองหน้าเก่าๆ กลุ่มการเมืองเก่าๆ เข้ามา เกิดรัฐบาลผสม พรรคแกนนำจะมีเสียงไม่ถึงครึ่ง เหมือนตอนสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แทบไม่มีกระทรวงให้บริหาร สูตรการเลือกตั้งขึ้นอยู่กบพรรคการเมืองใหญ่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ใครจะไปแย่งชิงกล่มการเมือง พรรคการเมืองขนาดกลางมาผสมพันธุ์ จัดตั้งเป็นรัฐบาลได้สำเร็จ

"ถ้าถามว่าแล้วผมจะโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ไหม ผมมีคำตอบตั้งแต่แรก ผมไม่รับรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ผมพูดและพิจารณาด้วยสติสัมปชัญญะของผมไม่เกี่ยวกับใคร"

ด้าน นายพิชาย กล่าวว่า เห็นด้วยที่กกต.จะเลิกมองการเลือกตั้งเชิงปริมาณ และกำหนดทิศทางการเลือกตั้งคุณภาพโดยมองเรื่องผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง การทำให้การเลือกตั้งมีคุณภาพจะต้องมีการปรับปรุงในหลายส่วน ทั้งวิธีคิดของพรรคการเมืองและนักการเมือง ที่ต้องคิดว่าตนเองเป็นตัวแทนของปวงชนไม่ใช่กลุ่มผลประโยชน์ใด กระบวนการเลือกตั้งต้องมีคุณภาพ กกต.ต้องสร้างระบบกลไกการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ต้องมีคลังข้อมูลข่าวสารของผู้สมัครพรรคกาเมืองให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประกอบการตัดสินใจเลือก ต้องกำหนดการหาเสียงที่มีคุณภาพ ไม่ให้นำลัทธิประชานิยมมาหาเสียงเพราะถือเป็นการซื้อเสียงของนักการเมืองอย่างหนึ่ง พยายามทำให้นักการเมืองหาเสียงโดยให้ความจริงกับประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่เพียงครึ่งเดียวเหมือนตอนนี้

“ที่ให้มีการทำประชามติ ถือเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะเป็นการใช้ความจริงเป็นครึ่งเดียว ประชามติของประชาชนจะถูกตัดสินใจด้วยอารมณ์และการปลุกระดมเป็นหลัก ไม่มีใครจะตัดสินใจลงประชามติโดยพิจารณาจากเนื้อหาว่ามีผลดีผลเสียจ่อประเทศอย่างไร”

ส่วนตัวเห็นว่าถ้าทำประชามติ ทำเฉพาะในประเด็นขัดแย้งในร่างรัฐธรรมนูญ เช่นถามว่า นายกฯควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่ หากทำเช่นนี้ก็สามารถเปลี่ยนทิศทางของประเทศได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้จะต้องมีการเตรียมในเรื่องพลเมือง ซึ่งการทำให้พลเมืองมีคุณภาพต้องทำให้พลเมืองเข้าใจการเชื่อมการเลือกตั้งและการบริหารประเทศ และผลลัพธ์จากการบริหารประเทศที่จะมีผลต่อการดำรงชีวิต ขณะเดียวกัน กกต.ต้องปรับองค์กรภายใน พร้อมกับสร้างเครือข่าย ภาคีหุ้นส่วน จึงจะได้การเลือกตั้งที่มีคุณภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น