“ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดตุลาการประชุมพิจารณารับหรือไม่รับพิจารณาคำร้องแก้ไข รธน.ตามคำถามพ่วง 7 กันยาฯ หากคำถามสมบูรณ์เริ่มคิดออฟนับ 1 ได้ทันทีโดยต้องพิจารณาให้เสร็จใน 30 วัน ด้าน “มีชัย” หมดห่วงศาลฯนัดพิจารณาร่าง รธน.พรุ่งนี้ ส่วนให้มหาดไทยจัดเลือกตั้งแทน กกต.ต้องดูรายละเอียดก่อน ติง กกต.ที่ผ่านมาทำงานเชิงรับมากกว่ารุก
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ก.ย.นี้ จะมีวาระการพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรื่องร่างรัฐธรรมนูญซึ่งแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติประเด็นเพิ่มเติมเพื่อให้พิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่
โดยหลักฐานที่ กรธ.ยื่นประกอบคำร้องนั้นถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะให้รับเป็นคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว แต่ตุลาการก็ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ คือ ต้องพิจารณาก่อนว่าจะรับหรือไม่รับเป็นคำร้อง จากนั้นก็จะเป็นการอภิปรายของตุลาการว่าข้อมูลมีเพียงพอแล้วหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็ต้องขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม หรืออาจจะให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง คาดว่าจะมีความชัดเจนในการประชุมวันพรุ่งนี้ อีกทั้งคำร้องดังกล่าว ตุลาการประจำคดีจะเป็นการพิจารณาทั้งองค์คณะ เนื่องจากมีเงื่อนไขระยะเวลาที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนด โดยตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.เป็นต้นไปก็จะถือว่าเริ่มนับเป็นวันที่ 1 ของการพิจารณา
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ก.ย.นี้ว่า ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน อย่าไปคาดเดาล่วงหน้า เนื่องจากมีเวลา 30 วัน หากต้องแก้ไข กรธ.ก็เอากลับมาแก้ แต่หากไม่แก้ไขก็เดินหน้าต่อ
ส่วนการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณากฎหมายลูกนั้น ถ้า สนช.จะแก้ไขอะไรที่ต่างไปจากรัฐธรรมนูญ หากองค์กรอิสระ หรือ กรธ.เห็นว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญสามารถทักท้วงได้ เมื่อทักท้วงแล้ว สนช.ต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม ประกอบด้วย สนช.5 คน กรธ.5 คน และองค์กรอิสระ 1 คน เพื่อพิจารณากรณีมีการแก้ไข หาก สนช.ไม่เห็นด้วย ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หากเสียงไม่ถึง ก็ต้องให้เป็นตามที่ กมธ.ร่วมพิจารณา
ส่วนที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้กระทรวงมหาดไทย ช่วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูแลการเลือกตั้ง นายมีชัยกล่าวว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดในข้อเสนอของ สปท.ว่าเป็นอย่างไร แต่ที่จริงวันนี้ กกต.เป็นฝ่ายจัดการเลือกตั้ง โดยใช้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายปฏิบัติอยู่แล้ว จึงต้องดูว่าข้อเสนอดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายอย่างไร และจะไปลดอำนาจ กกต.หรือไม่ ต้องดูหลายแง่มุม
ส่วนข้อกังวลที่ว่าหากกระทรวงมหาดไทยเข้ามาช่วยดูแลการเลือกตั้ง อาจจะถูกแทรกแซงทางการเมือง ก็อาจเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สปท.ได้ส่งรายงานเบื้องต้นมายัง กรธ.แล้ว แต่ยังไม่ใช่ตัวกฎหมาย ขณะนี้ตนกำลังให้เจ้าหน้าที่ช่วยสรุปเนื้อหาอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอยุบ กกต.จังหวัดจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า กกต.จังหวัดไม่เคยอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ในกฎหมายลูกจะมีหรือไม่มีก็ได้ ถามย้ำว่าต้องเซตซีโร่ กกต.หรือไม่ ประธาน กรธ.กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ อย่าเพิ่งพูดอะไรที่ทำให้ขวัญกระเจิง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า การทำงานของ กกต.ที่ผ่านมาทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก กรธ.จึงพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้ กกต.ทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น ทั้งนี้ หาก กรธ.ได้ร่างกฎหมายลูกจาก กกต.ก็อาจจะจัดสัมมนาโดยเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงฝ่ายการเมืองได้อ่านตัวร่าง และดูว่าจะมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง เราต้องรับฟังหลายๆ ทาง อย่าเพิ่งคิดร้าย เมื่อฟังเสร็จแล้วก็นำมาเปรียบเทียบและปรับปรุง