xs
xsm
sm
md
lg

มติ สปท.เห็นชอบข้อเสนอ กม.ลูก กกต.ให้ มท.จัดเลือกตั้ง ชี้ 10 ปีจับโกงได้นิดเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปท.พิจารณารายงาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง ปมข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.กกต. ให้บริหารร่วมไม่แบ่งงาน ห้ามสับเปลี่ยนตำแหน่งกัน ชี้ 10 ปีจับโกงได้น้อยมาก ยันให้อำนาจมหาดไทยแค่ช่วยจัดเลือกตั้ง ต้องมีคำวินิจฉัยส่วนตัว แจ้งบัญชีทรัพย์สิน ตั้งกองทุนปราบปรามทุจริต ให้เข้าชื่อยื่นสอบ กกต.จว.ได้ ห้ามคนท้องถิ่นนั่ง จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วหาข่าวเชิงลึก แนะชุดนี้จัดโหวตไปก่อนแล้วค่อยเลือกใหม่ ก่อนที่ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 150 ต่อ 5 งดออกเสียง 10

วันนี้ (3 ต.ค.) ที่รัฐสภา ที่ประชุมสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เรื่องข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้ กกต.ดำเนินตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่ต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมใช้บังคับสำนักงานและหน่วยงานเพื่อรักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ ก่อให้เกิดการเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม เกิดความเชื่อถือของประชาชน ภายใต้หลักสำคัญ 7 ประการ

1. ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นแบบอย่างที่จะไม่กระทำการใดอันเป็นประโยชน์ส่วนตัว 2. ให้ทำงานอย่างเป็นระบบมีความสัมพันธ์ประสานเชื่อมโยงกันระหว่างความเป็น กกต.ด้วยกัน 3. การบริหารงานให้รับผิดชอบต่อการทำงานร่วมกัน ไม่ควรแบ่งความรับผิดชอบเป็นส่วน 4. ให้สร้างวัฒนธรรมองค์กรต่อการทำงานของ กกต.ร่วมกัน 5. ไม่กระทำการใด ให้ประชาชนขาดความศรัทธา น่าเชื่อถือ 6. ใช้งบประมาณอย่างจำเป็น และ 7. การสับเปลี่ยนตำแหน่งประธานหรือกรรมการ โดยมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย เป็นการกระทำอันไม่สมควร หากฝ่าฝืนให้พ้นจากตำแหน่ง นอกจากนี้ในรายงานยังระบุไปถึงอำนาจหน้าที่ กกต. ซึ่งยึดหลักตามรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติ เพื่อทำให้เกิดการเลือกตั้งอย่างสุจริต

นายวิทยา แก้วภราดรัย สปท. และกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปด้านการเมือง กล่าวว่า ผลการวินิจฉัยผล 10 ปีที่ผ่านมาจับการซื้อเสียงได้น้อยมาก ที่กรรมาธิการฯ เสนอให้กระทรวงมหาดไทยช่วยจัดการเลือกตั้งเพราะมีประสบการณ์และมีบุคลากร ซึ่งเพียงแค่ช่วยจัดการเลือกตั้งเท่านั้น สำหรับการควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรม ยังเป็นเรื่องของ กกต.

“เรื่องของการวินิจฉัยของ กกต. เมื่อมีเหตุอันควรสงสัย ที่เพียงแค่สงสัย อำนาจ กกต.สามารถตัดสินชีวิตของนักการเมืองได้ วันข้างหน้า กกต.จะมี 7 คน เมื่อวินิจฉัยต้องมีคำวินิจฉัยส่วนบุคคลที่สาธารณะตรวจสอบได้ ไม่เช่นนั้น องค์กรที่ตัดสินอนาคตบ้านเมือง ชีวิตนักการเมือง กลายเป็นองค์กรที่วินิจฉัยแล้วตรวจสอบไม่ได้ รวมทั้งต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน จึงเสนอให้ กกต.จัดตั้งกองทุนปราบปรามทุจริตเลือกตั้ง หากใครชี้ช่องนำไปสู่ กกต.ลงโทษ คนชี้เบาะแสจะได้รางวัล กระบวนการทั้งหมดที่เสนอเพื่อเตรียมไว้ สำหรับเลือกตั้ง 2560 ไม่ต้องการให้ย้อนรอยไปอย่างเดิม คนชนะเพราะโกงมา จึงต้องมาปฏิวัติอีก ไม่อยากให้ปฏิวัติเสียของ อยากให้ลองสิ่งใหม่ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม” นายวิทยากล่าว

นายวันชัย สอนศิริ สปท. ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองฯ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมหากเห็นว่า กกต.จังหวัดปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นธรรม ประชาชนสามารถเข้าชื่อเกินกว่า 300 คนเพื่อยื่นต่อ กกต.ขอให้มีการตรวจสอบได้ ให้พรรคการเมืองยืนยันการเป็นสมาชิกของพรรค เพื่อให้ความเป็นสมาชิกพรรคเป็นปัจจุบัน ตรวจสอบได้ ขอให้ กกต.ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปในพื้นที่จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วแสวงหาข่าวในเชิงลึก เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับประธาน กรธ.ที่อยากให้ กกต.ทำงานเชิงรุก เอาจริงสำหรับคนทุจริตสัก 5 คนจะแก้ปัญหาเลือกตั้งได้ การเสนอโทษที่เน้นให้แรง การสอบสวนและวินิจฉัยต้องรวดเร็วให้แล้วเสร็จใน 15-30 วัน

นายคำนูณ สิทธิสมาน สปท.กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อถกเถียงว่า กกต.ควรอยู่ทำงานจนครบวาระหรือไม่ มีบางส่วนที่กังวลว่าในรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมี กกต.7 คน หากยังให้กรรมการชุดเดิม 5 คนทำงาน และสรรหา กกต.เข้ามาเพิ่มอีก 2 คน จะเกิดความลักลั่น วาระแต่ละคนไม่เท่ากัน จะเกิดปัญหาตามมาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีอีกข้อเสนอที่มีการพูดถึงแต่ไม่ได้ระบุในรายงานคือ ให้ กกต.ชุดเก่าที่ไม่มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญใหม่อยู่จัดการเลือกตั้งเฉพาะการเลือกตั้งสมัยหน้าให้แล้วเสร็จ จากนั้นค่อยมีการสรรหา กกต.ใหม่ทั้งหมด ทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอ แต่ไม่ได้ฟันธงว่าควรใช้แนวทางใด

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน สปท.เสนอว่า ไม่ควรให้คนที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดเพื่อเป็น กกต.ในจังหวัดนั้น สำหรับองค์ประกอบการสอบสวน ไม่ใช่เพียงแค่ชุดเคลื่อนที่เร็วตามที่เสนอ ขอให้ถอนคำนี้อีก โดยองค์ประกอบสอบสวนควรมีทั้งในส่วนของ กกต. และส่วนของทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ในกระบวนการสืบสวน สอบสวนต้องทำอย่างต่อเนื่อง มีความหลากหลาย ต้องทำทั้งปี ไม่ใช่เพียงแค่ก่อนเลือกตั้ง การสืบสวนหลายมิติ และต้องมีการตรวจสอบเพื่อถ่วงดุล แล้วนำข้อมูลมารวมกันทีเดียว ประชุมเป็นวงรอบ ดูว่าใครมีท่าทีทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง หากทำเช่นนี้ใครจะกล้าทำผิดเลือกตั้ง ข้อเสนอของตนอาจตรงกันข้ามกับกรรมาธิการ หากไม่ถอน ไม่ถอย ตนจะลงความเห็นไม่เห็นชอบ

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น โดย พล.อ.ต.นพ.เฉลิมชัย เครืองาม สปท.กล่าวว่า ขอเสนอให้เซตซีโร่องค์กรอิสระ เริ่ม กกต.เป็นที่แรก เพราะเวลานี้องค์กรอิสระมีการจัดหลักสูตรอบรมกันมาก เป็นการใช้งบประมาณมาก และได้รับสัญญาณว่าน่าจะเซตซีโร่

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. ประธานที่ประชุม กล่าวว่า ขอให้คำนึงถึงอีก 5 องค์กรอิสระด้วย เมื่อมีการเสนอให้เซตซีโร่ หรือไม่เซตซีโร่ก็ตาม องค์กรเหล่านั้นก็อาจมีสภาพเหมือน กกต. เพราะจะถูกนำไปใช้กับองค์กรอื่นอีกหรือไม่ เพราะต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ กรธ. เรามีการเลือกตั้งมา 85 ปีที่แล้ว กฎหมาย กกต.เกิดขึ้นพร้อมๆ กับมีรัฐธรรมนูญปี 2540 การให้อำนาจ กกต.ครั้งนั้นไม่ว่าจะใช้รูปแบบโมเดลใด การทุจริตเลือกตั้งก็ยังมีมาก เราไม่ได้คนดีมาบริหารบ้านเมือง เลยตัดสินใจให้มี พ.ร.บ.กกต.ให้มีอำนาจเด็ดขาดเลย เป็นทั้งศาลทั้งฝ่ายบริหารจัดการทั้งหมด แต่มีข้อคิดทำไม 20 ปี การเลือกตั้งไม่ดีขึ้น แต่แน่นอนไม่ใช่เพราะ กกต.ฝ่ายเดียว เมื่อเรามีโอกาสปฏิรูปและนำเสนอความเห็นต่อ กรธ. ก่อนส่งให้ สนช. แต่ขณะที่องค์กรอิสระต่างๆ มีสิทธิเสนอได้เช่นกัน ดังนั้นต้องดูฝ่ายอื่นๆ ด้วย

จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 150 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ทั้งนี้ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมืองจะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกไปแก้ไข ก่อนนำเสนอ ครม., กรธ., สนช. และ กกต.ต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น