xs
xsm
sm
md
lg

มติ กรธ.เคาะ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษก กรธ.แถลงผลที่ประชุม เคาะ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ แต่สามารถลงมติบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ได้ ชี้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งต้องดำเนินการโดย ส.ส.เท่านั้น



วันนี้ (24 ส.ค.) เวลา 17.00 น. นายนรชิต สิงหเสนี พร้อมด้วยนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. แถลงว่าที่ประชุมได้พิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ระบุให้ ในช่วง 5 ปีให้ ส.ว.มีอำนาจในการพิจารณาเลือกบุคคลเป็นนายกฯ นั้น โดย กรธ.ได้ยืนยันตามหลักการเดิมของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ โดยให้ ส.ส.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯได้เท่านั้น เพราะ ส.ส.เป็นผู้ที่ประชาชนเลือกเข้ามา ดังนั้น ส.ส.จึงต้องมีส่วนสำคัญที่จะทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร แต่ขณะที่ ส.ว.มีหน้าที่ร่วมลงมติบุคคลที่จะเป็นนายกฯ เท่านั้น ในระยะเวลา 5 ปี ตามคำถามพ่วง ดังนั้น ในกรณีถ้ามีการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯแล้ว จะต้องยืนยันตามผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ ตามมาตรา 88 และ 159 ตามเดิมหลักการเดิม แต่หากรัฐสภาไม่สามารถเลือกบุคคลได้ตามบัญชีของพรรคการเมือง จะเป็นหน้าที่ของ ส.ส.เท่านั้น ที่จะปลดล็อกให้เลือกบุคคลนอกบัญชีรายชื่อนายกฯ ตามมาตรา 272 โดยต้องใช้เสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 จาก 500 เสืยงขึ้นไป เพื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เรียกประชุมเพื่อหาเสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 เพื่องดเว้นการเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชี โดยยืนยันว่า ส.ส.จะเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก ทั้งนี้ กรธ.ยืนยันว่ามีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 272 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล

นายอุดมกล่าวว่า สำหรับการจะนำบุคคลนอกบัญชีมาเป็นนายกฯนั้น จะสามารถทำได้ครั้งเดียว ตามมาตรา 272 วรรคสอง ดังนั้น หากสภาชุดแรกหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ยุบสภา มาตรา 272 วรรคสอง ก็จะไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป โดย ส.ว.จะมีสิทธิเห็นชอบบุคคลตามที่พรรคการเมืองเสนอตามบัญชีรายชื่อภายใน 5 ปีเท่านั้น นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทั้งนี้ ทั้งหมดหลักการเป็นสิ่งที่ กรธ.สรุปแล้ว หลังจากนี้ กรธ. จะนัดประชุมเพื่อปรับถ้อยให้เหมาะสมก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ภายในสัปดาห์หน้า จากนี้จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ กรธ.ปรับแก้ ก็จะทำความเห็นเป็นข้อๆ ส่งมาให้ กรธ. ปรับตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำเพื่อไม่ต้องกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญอีกหลังการปรับแก้

เมื่อถามว่า สาเหตุที่ กรธ.ไม่สนองความต้องการของ สนช.ที่อยากให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอนายกฯ ได้เป็นเพราะอะไร นายนรชิตกล่าวว่า ตามหลักการสำคัญของมาตรา 159 บัญญัติขึ้นให้สอดคล้องกับหลักการแต่งตั้งนายกฯของประเทศที่ปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะต้องมาจากการดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.เพื่อให้การดำเนินการบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น สำหรับมาตรา 272 เป็นบทเฉพาะกาลที่ใช้เป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศให้ประชาชนทราบ เพราะเมื่อได้รับการยกเว้นแล้วก็ต้องย้อนกลับไปให้ ส.ส.ดำเนินการต่อไป

เมื่อถามว่า หาก สนช.ไม่เห็นด้วยกับสี่งที่ กรธ.ปรับแก้จะขอยื่นเรื่องเพื่อคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายนรชิตกล่าวว่า กรธ.ไม่ได้พิจารณาช่องทางนี้ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นชอบกับสิ่งที่ กรธ.ปรับแก้ก็พร้อมปฏิบัติตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาในการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วงของ สนช.นั้น เบื้องต้นจะมีการแก้ไขเพียงมาตรา 272 เพียงมาตราเดียว โดยเพิ่มวรรคที่ 1 โดยระบุว่า “ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

ส่วนในวรรคสองมีการปรับแก้ไขเป็น “ในวาระเริ่มแรกเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้นให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไปโดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น