xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ คนใหม่ อาจจะไม่ได้มาง่ายๆ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

แม้จะมีเวลาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วงถึง 30 วัน แต่ก็รู้สึกว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะทำงานเสร็จก่อนกำหนด โดยขั้นตอนต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเนื้อความที่แก้ไขมานั้น เป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งมาตรา 37/1 กำหนดไว้ ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

ในส่วนเนื้อหานั้น เท่าที่ทราบยังไม่มีการเปิดเผยให้ประชาชนได้เห็น เว้นแต่ที่ทาง กรธ.ออกคำแถลงการณ์มา ว่าการแก้ไขนั้นจะแก้ไขเพียงให้เป็นไปตามคำถามพ่วงเท่านั้น คือให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่รวมถึง ส.ส. และ ส.ว.นั้นมีอำนาจเพียง “ให้ความเห็นชอบ” ตัวบุคคลที่จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

โดยที่ผู้มีอำนาจในการ “เสนอชื่อ” นั้นก็ได้แก่ ส.ส.เช่นเดิมตามที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติ

แม้ไม่กล่าวกันให้ชัดเจน แต่ก็เป็นการปฏิเสธข้อเสนอของทาง สนช.โดยปริยายที่เคยมีความเห็นประกาศต่อสาธารณชนไว้ว่า ในเมื่อให้อำนาจที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการ “ให้ความเห็นชอบ” ผู้จะมาเป็นนายกฯ ได้แล้ว ก็ควรจะต้องไปให้สุดกระบวนการ คือจะต้องให้ฝ่าย ส.ว.มีอำนาจในการเสนอชื่อบุคคลที่ควรจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย

ในเรื่องนี้เห็นว่าทาง สนช.ก็พร้อมจะยืนยันความเห็นของตน โดยพร้อมจะเสนอความเห็นแย้งดังกล่าวนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไปพร้อมกับเหตุผลของทาง กรธ.ด้วย ต้องว่ากันไปว่าตกลงแล้วศาลรัฐธรรมนูญท่านจะยอมรับความเห็นของฝ่าย สนช.หรือไม่

แต่หากว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นไปตามที่ทางฝ่าย กรธ. ว่าไว้จริง กระบวนการในการพิจารณาสรรหาตัวนายกฯ จะเป็นไปตามมาตรา 159 คือเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว จะต้องมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือทั้ง ส.ส. และ ส.ว.

แต่จะเป็นอำนาจของฝ่าย ส.ส.เท่านั้น ที่จะเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อของบุคคลที่ทางพรรคการเมืองเปิดเผยไว้ต่อประชาชนก่อนการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อดังกล่าวได้ จะต้องมี ส.ส.ได้รับเลือกเข้ามาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรที่ถ้าถือตัวเลข 500 คน ก็จะเท่ากับว่า พรรคที่จะเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีรายชื่อได้ จะต้องมีที่นั่งในสภา ฯ ไม่น้อยกว่า 25 ที่นั่ง ซึ่งบุคคลที่มีรายชื่อจากบัญชีพรรคการเมืองนี้จะเป็น ส.ส.หรือคนนอกก็ได้ แต่ต้องเป็นคนนอกที่ยินยอมพร้อมใจให้พรรคการเมืองนำชื่อของตนไปเสนอต่อประชาชนไว้ก่อนการเลือกตั้งนั่นเอง

จากนั้นที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะร่วมกันลงมติเลือกว่าที่นายกฯ คนต่อไป โดยคะแนนเสียงของผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งถ้าถือตัวเลข ส.ส. 500 ส.ว.อีก 250 ก็จะเป็น 750 ครึ่งหนึ่งของ 750 ก็เท่ากับ 375 เสียง ซึ่งรายละเอียดเรื่องนี้ได้เขียนถึงไปแล้วในสัปดาห์ที่แล้ว

มีข้อสังเกตว่า เดิมในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ จะกำหนดกรอบเวลาหาตัวนายกรัฐมนตรีเอาไว้ว่า ภายใน 30 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภาฯ จะต้องได้ตัวคนที่จะมาเป็นนายกฯ โดยจะต้องเลือกจากเสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญสมัยนั้น

โดยถ้าภายใน 30 วัน ยังหาผู้ที่ได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งไม่ได้ รัฐธรรมนูญจะบังคับให้ถือว่าผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดจากสภาฯ จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ และให้ประธานสภาฯ จะต้องนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 15 วัน หลังจากพ้นกำหนด 30 วันนั้น ซึ่งข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ ดังกล่าว มีไว้แก้ปัญหาในกรณีที่คะแนนเสียงออกมาแตกกันมากๆ จนหาเสียงข้างมากเกินครึ่งไม่ได้ ผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงที่สุด อาจจะไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งก็ได้ เช่น สภาฯ มี 500 คน นาย ก. ได้คะแนนเสียง 180 นาย ข. ได้คะแนน 150 นาย ค. ได้คะแนน 120 นาย ง. ได้คะแนน 50 ก็ต้องถือว่า นาย ก. ได้เป็นนายกฯ เพราะได้คะแนนเสียงมากที่สุด แม้ว่าจะไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ เกิน 250 ก็ตาม แต่เมื่อพ้นระยะเวลา 30 วัน ยังไงก็ต้องมีนายกฯ ใหม่ให้ได้

แต่ข้อจำกัดนี้ไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อีกต่อไปแล้ว นั่นคือเท่ากับจะไม่มีการกำหนดเวลาในการหาผู้ที่จะได้เสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาอีกแล้ว

ดังนั้น ถ้ายังไม่มีใครที่หาเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งได้ กระบวนการเลือกหานายกฯ นี้ก็จะดำเนินต่อไปแบบไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด

และเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงว่า ในการเลือกนายกฯ คนแรกหลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ ส.ว.มีอำนาจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย โอกาสที่ว่าที่นายกฯ จะได้คะแนนเสียงเกิน 375 เสียงนั้น ถ้าสองพรรคใหญ่ไม่จับกันเอง ก็ต้องให้ ส.ว.โอเคกับตัวว่าที่นายกฯ ใหม่นั้นด้วย ซึ่งถ้าตกลงกันไม่ได้ รัฐสภาอาจจะเสนอให้ใช้ “ทางแก้” หรือประตูฉุกเฉินตามมาตรา 272 ที่บัญญัติแก้ปัญหาในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ก็ให้อำนาจ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อก็ได้

นั่นคือช่องทางของคนนอก 100% ที่ไม่จำเป็นต้องเคยเป็นคนที่พรรคการเมืองเสนอไว้ก่อนเลือกตั้งก็ได้

แต่กรณีนี้ยังไม่ชัดเจนเท่าไรว่า ตกลงแล้ว เมื่อมีการแก้รัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วงนี้ไปแล้ว ทาง กรธ.จะถือว่า เสียงที่จะมา “ปลดล็อก” เสนอญัตติให้งดใช้รัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวนั้น จะเป็นมติของใคร จะถือเป็นมติของ ส.ส.หรือไม่ หรือจะต้องรวม ส.ว.เข้าไว้ด้วย จึงจะเสนอให้ขอปลดล็อกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้

ไม่รู้ว่าเป็นเจตนาหมกเม็ดหมกโคนอะไรหรือไม่ แต่การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังจากการเลือกตั้งนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แน่นอน รวมถึงอาจจะกินเวลายาวนานกว่าที่คิด อาจจะเป็นเดือนเป็นปีก็ได้ จนกว่าสภาฯ จะตกลงกันได้ ไม่ว่าจะตกลง “เลือก” นายกฯ ที่ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ต่างยอมโอเค หรือถ้าหาที่โอเคไม่ได้จริงๆ ก็ต้องดูเกมการเมืองว่า ฝ่าย ส.ส.จะยอมถอย และเสนอญัตติให้งดใช้รัฐธรรมนูญว่าด้วยบัญชีรายชื่อนายกฯ จากพรรคการเมืองเป็นการชั่วคราวหรือไม่ ซึ่งถ้ายังตกลงกันไม่ได้ไม่ว่าจะเรื่องอะไร ก็จะยังไม่มีรัฐบาลใหม่แน่ๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐบาลชุดเก่าซึ่งก็น่าจะเป็นรัฐบาลของนายกฯ คนปัจจุบันนี้ก็จะยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปได้เรื่อยๆ ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 หากยังไม่สามารถตั้งนายกฯ คนใหม่ได้เสียที

ดังนั้น ถึงจะมีเลือกตั้งได้ตามโรดแมป ภายในปี 2560 ก็จริง แต่กว่าจะมีนายกฯ คนใหม่ กว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะถือเป็นการเริ่มต้นการบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญใหม่อย่างเต็มตัว ก็เป็นไปได้ว่ายืดเยื้อไปอีกนานเกินกว่าจะคาดหมาย ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลปัจจุบันก็จะอยู่ไปได้อีกยาว.
กำลังโหลดความคิดเห็น