xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ระบุ สนช.ตีความ “คำถามพ่วง” โหวตได้ก็ต้องเสนอได้ คาดเอาแค่ระยะแรกเริ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมคิด เลิศไพฑูรย์ (ภาพจากแฟ้ม)
สนช.ระบุกรณี ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก เหนือคำถามพ่วง ขึ้นอยู่กับ 3 ฝ่าย เข้าใจว่าส่วนใหญ่ตีความถ้าโหวตได้ต้องเสนอได้ด้วย คาด กรธ.อาจให้แค่สมัยแรก 5 ปี หวั่นเมื่อมี ส.ว.ชุดใหม่อาจมีปัญหา

วันนี้ (18 ส.ค.) นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 จะเสนอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน นอกจากมีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรีตามคำถามพ่วงแล้ว ให้มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีด้วยว่า ขึ้นกับผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายจะตัดสินใจ ได้แก่ 1. สนช.ในฐานะที่รับผิดชอบตั้งคำถามพ่วงแล้วไปชี้แจงกับประชาชน จะเสนอปรับแก้อย่างไร 2. กรธ.ในฐานะผู้ยกร่างฯ ก็จะต้องนำความคิดเห็นของตัวเองมาหารือกับ สนช. และ 3. ศาลรัฐธรรมนูญก็จะคอยวินิจฉัยในขั้นสุดท้ายว่าร่างแก้ไขที่ กรธ.เสนอนั้นเป็นอย่างไร

“ส่วนตัวไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ แต่ที่เข้าใจมาจากสมาชิก สนช.รายอื่น คือ เดิมในบทหลักรัฐธรรมนูญ ส.ส.จะเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี จากบัญชีที่ไปหาเสียงไว้ เพื่อให้ ส.ส.ด้วยกันเองเป็นคนเลือก ไม่เกี่ยวกับ ส.ว. แต่คำถามพ่วงที่ให้ ส.ว.มีอำนาจร่วมกับ ส.ส.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี จึงตีความว่าเมื่อมีสิทธิโหวตก็ต้องมีสิทธิเสนอด้วย” นายสมคิดกล่าว

เมื่อถามว่า ทำไม สนช.จึงไม่ชี้แจงประชาชนให้ชัดเจนว่า คำถามพ่วงหมายถึงให้ ส.ว.แต่งตั้ง มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ นายสมคิดกล่าวว่า คงไม่มีใครนึกถึง แต่พอมันผ่านก็ต้องขึ้นกับการตีความ ที่ทำได้ทั้งแคบและกว้าง ซึ่งก็ต้องคอยติดตามว่า กรธ.จะแก้ไขกี่มาตรา เช่นมาตรา 272 ที่กำหนดเงื่อนไขการเลือกนายกนอกบัญชี ใช้คำว่า “ระยะแรกเริ่ม” ที่นักกฎหมายหมายถึงครั้งแรกเพียงอย่างเดียว ก็ต้องแก้ไขตามคำถามพ่วงที่ใช้คำว่า 5 ปี

“ถ้าไม่แก้ให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ด้วยตอนนี้ เชื่อว่าในอนาคตเมื่อมี ส.ว.ชุดใหม่อาจจะมีปัญหา เพราะพวกเขาก็จะต้องตีความว่าตัวเองมีอำนาจ แต่ผมเชื่อว่า ประเด็นนี้จะจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ” นายสมคิดกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น