xs
xsm
sm
md
lg

รอง ปธ.สนช.ยันชงบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.เสนอนายกฯ ได้หากชื่อจาก ส.ส.ไม่ผ่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เผยคำถามพ่วงเกือบได้ข้อยุติแล้ว รอประชุมรายละเอียดพรุ่งนี้ พร้อมคิดขั้นตอนและปัญหาที่ติดขัดเผื่อในอนาคตส่งให้ กรธ.พิจารณา ใส่ในบทเฉพาะกาลหวังไม่ให้กระทบร่างรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้หากการเลือกนายกฯ ที่มาจากบัญชี ส.ส.ครั้งแรกไม่ผ่าน



วันนี้ (17 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการหารือของ สนช.ที่เตรียมไปชี้แจงต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการบรรจุคำถามพ่วงลงไปในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้เกือบได้ข้อยุติแล้ว โดยจะมีการประชุมต่อในวันที่ 18 ส.ค.นี้ อีกครั้งเนื่องจากเป็นเรื่องของรายละเอียดและขั้นตอน ความจริงสามารถบอกได้ถึงความมุ่งหมายของคำถามพ่วงอยู่ตรงไหน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่มีเรื่องของวิธีการขั้นตอนต่างๆ และมองไปถึงเรื่องของปัญหาที่ติดขัดในบางเรื่อง หากทำไม่ได้และไม่เกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งจะต้องมีการคิดเผื่อล่วงหน้าเพื่อเป็นข้อมูลให้กับ กรธ.ได้นำไปประกอบการพิจารณา

“บางเรื่องที่มี สนช.บางคนเสนอเข้ามามีส่วนที่เราคิดว่าไปกระทบต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลัก ซึ่งเราไม่อยากให้มีอะไรไปกระทบต่อส่วนนี้ เพราะอยากให้อยู่แต่เฉพาะบทเฉพาะกาล เวลาครบกรอบระยะเวลา 5 ปีก็สามารถเดินต่อไปได้เลย ไม่ต้องกลับมาแก้ไข แต่หากมีอะไรไปกระทบต่อบทหลัก พอครบ 5 ปีก็ต้องกลับมาแก้ไขอีกเพื่อให้กลับไปสู่ในอีกสภาวการณ์หนึ่ง ตรงนี้เป็นรายละเอียดของกระบวนการและวิธีการในการจะช่วย กรธ.คิด และออกแบบในการแก้รัฐธรรมนูญ มันยากตรงที่เราลูกล็อกว่าเราไม่อยากไปแตะบทหลัก” นายสุรชัยกล่าว

เมื่อถามว่า ขณะนี้คนกำลังสับสนว่าตอนที่ สนช.ไปชี้แจงประเด็นคำถามพ่วงกับประชาชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว.มีอำนาจในการเสนอชื่อนายกฯ ตั้งแต่แรก หรือมีอำนาจแค่โหวตอย่างเดียว นายสุรชัยกล่าวว่า เราคิดว่าในตอนเสนอนายกฯ ครั้งแรกซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอมาตอนนี้มีอยู่สองขยัก คือ การริเริ่มโดยพรรคการเมือง จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ต่อ กกต.พรรคละ 3 รายชื่อ และมีบทเฉพาะกาลที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า หากขั้นตอนการเลือกนายกฯ ด้วยวิธีการดังกล่าวไม่ผ่านก็จะมีอีกขั้นตอนหนึ่งที่ให้สิทธิเสนอคนนอกมาเป็นนายกฯ ได้ ขั้นตอนตรงนี้เราจะหยิบมาพิจารณาว่าควรจะเป็นขั้นตอนของใครบ้างซึ่งในคำถามพ่วงไม่ได้พูดไว้ แต่มีคนเสนอประเด็นนี้มาพิจารณาเหมือนกัน

เมื่อถามย้ำว่า ช่วงที่ สนช.เดินสายชี้แจงคำถามพ่วง มีการบอกหรือไม่ว่าอยากให้ ส.ว.สามารถเสนอชื่อคนนอกบัญชีพรรคการเมืองมาเป็นนายกฯ ได้ นายสุรชัยกล่าวว่า ในช่วงชี้แจงคำถามพ่วงมีการแบ่งออกเป็น 9 กลุ่มจังหวัด การชี้แจงเขาจะรับผิดชอบกันเองโดยไม่ได้มีการกำหนดหรือกะเกณฑ์วิธีการพูดหรือการตอบคำถามอะไร แต่สิ่งที่กำหนดให้เป็นนโยบายต้องปฏิบัติคือห้ามชี้นำ ในที่ประชุมที่พิจารณาการนำเสนอต่อ กรธ. ตนได้นำประเด็นนี้มาซักถามด้วย โดยแต่ละกลุ่มบอกว่ามีทั้งพูด และไม่ได้พูดประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม การประชุมวันที่ 18 สค.จะนำทุกปัญหาที่มีคนหยิบยกมาพิจารณาคุยต่อให้ได้คำตอบทุกปัญหา


กำลังโหลดความคิดเห็น