xs
xsm
sm
md
lg

โดยสารพาหนะสาธารณะ คาถา 8 ข้อ กันไว้ดีกว่าแก้/คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไม่ใช่แค่รถไฟไทยที่ไม่น่าไว้วางใจ เดินทางแบบไหนก็ไม่ปลอดภัยทั้งนั้นหากไม่ระมัดระวังป้องกัน

โดยเฉพาะโดยยานพาหนะสาธารณะ

เวลาพูดถึงเรื่องความปลอดภัยกับการเดินทาง ผู้คนมักจะคิดถึงการเดินทางที่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ แล้วก็คำนึงว่าจะเลือกการเดินทางด้วยวิธีใดเพื่อความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถทัวร์ รถไฟ เครื่องบิน ฯลฯ ก็สุดแท้แต่ว่าใครจะชอบการเดินทางแบบไหน สะดวกแบบไหน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับความจำเป็นและค่าใช้จ่ายด้วย

แต่ความปลอดภัยอีกประการหนึ่งที่ผู้คนยังตระหนักกันน้อยและมักไม่ระมัดระวังตัว ก็คือภัยจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ข่าวล่าสุดที่สะเทือนสังคมกรณีของน้องแก้ม เด็กสาววัย 13 ปี ที่ถูกข่มขืนและฆ่าบนรถไฟ ก็เป็นอุทาหรณ์ของการใช้บริการรถสาธารณะของรัฐ

เมื่อไม่นานนี้ เพื่อนลูกชายคนเล็กของดิฉันวัย 15 ปี เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสนี่แหละ ก็ถูกกลุ่มมิจฉาชีพที่มาด้วยคราบขอบริจาคเงินใส่กล่องรับบริจาค แต่เพื่อนลูกไม่ให้ ก็ถูกรุมล้อมบังคับให้บริจาค ไม่งั้นไม่ให้กลับบ้าน เพื่อนลูกจึงหยิบกระเป๋าสตางค์ขึ้นมา ตั้งใจหยิบแบงค์ร้อยให้ แต่กลุ่มมิจฉาชีพมองเห็นแบงก์ 500 บาท ก็เลยหยิบจากกระเป๋าสตางค์ทันที เขาก็ได้แต่ขวัญเสีย รีบเดินจากไป และกลับบ้านทันที

ภัยรอบตัวเหล่านี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัย เพียงแต่วัยที่เสี่ยงมากก็คือเด็กและคนชรา และเพศหญิงก็เสี่ยงมากกว่าผู้ชาย เพราะเพศหญิงมีความเสี่ยงไม่ใช่แค่เพียงทรัพย์สิน แต่เสี่ยงต่อร่างกายด้วย

ฉะนั้น การเดินทางด้วยบริการสาธารณะในทุกรูปแบบปัจจุบัน จำเป็นเหลือเกินที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น ไม่ว่าคุณจะเลือกโดยสารด้วยยานพาหนะประเภทใดก็ตาม หรือมีความจำเป็นต้องให้ลูกเดินทางก็ต้องระมัดระวังไม่ใช่แค่เรื่องอุบัติเหตุเท่านั้น แต่ต้องสอนให้เขาต้องระวังตัวเองจากภัยน้ำมือมนุษย์ที่มาหลากหลายรูปแบบ
ภาพประกอบข่าว
8 ข้อที่ควรคำนึง

หนึ่งดูวัยของลูก

ถ้าเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ปล่อยให้ลูกเดินทางโดยลำพังอยู่แล้ว แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้เดินทางไปด้วย แล้วต้องฝากลูกวัยนี้ให้ไปกับคนอื่นก็ไม่ควรทำ เว้นแต่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดและรู้จักพื้นนิสัยของเด็กด้วย เช่น เด็กชอบวิ่งเล่นไปทั่ว ผู้ใหญ่ก็ต้องไม่ให้คลาดสายตา ฉะนั้น ถ้าเราฝากลูกเดินทางกับคนอื่น อาจจะไม่ได้รับการเอาใจใส่ได้เต็มที่ก็เป็นได้

กรณีที่เป็นเด็กโตวัยก่อนเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยรุ่น ถ้าเป็นลูกสาวไม่ควรให้เดินทางโดยลำพัง แม้พ่อแม่จำนวนไม่น้อยมีวิธีคิดที่ว่าควรให้ลูกเข้มแข็ง ปล่อยให้ลูกเดินทางโดยลำพังเอง ก็ต้องดูพื้นฐานนิสัยของลูกด้วยว่าเป็นเด็กแบบไหน เด็กบางคนมีทักษะการเอาตัวรอดเก่ง มีทักษะการป้องกันตัว แต่เด็กบางคนขาดทักษะเหล่านี้ พ่อแม่ก็ต้องดูด้วย แม้จะอยากให้ลูกได้เรียนรู้จักชีวิต ฝึกให้เดินทางโดยลำพัง แต่มีวิธีอื่นในการฝึกให้ลูกเรียนรู้จักชีวิตหรือเอาตัวรอด หรือความเข้มแข็งได้มากมาย เพราะปัจจุบันภัยอันตรายมีอยู่รอบตัวลูก

สองฝึกให้ลูกมีทักษะการป้องกันตัว

จริงอยู่ว่าเราพ่อแม่ไม่สามารถจะดูแลลูกได้ตลอดเวลา ฉะนั้นควรให้ลูกเรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัวทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย และให้เรียนรู้จุดอ่อนของร่างกายผู้ชาย หรือของคนที่มีกำลังมากกว่า อาจลองสมมติสถานการณ์ว่า ถ้าหากลูกถูกทำร้ายในสถานการณ์นั้นๆ ลูกจะทำอย่างไร จะเอาตัวรอดได้อย่างไร ชวนลูกพูดคุยจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นและเป็นข่าวคราวก็ได้ และอย่าได้คิดเด็ดขาดว่าไม่มีทางเกิดขึ้นกับลูกเรา

สามแต่งกายมิดชิด

สอนลูกเสมอว่าเมื่อออกนอกบ้านให้แต่งตัวให้ถูกกาลเทศะ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนก็อย่าแต่งตัวประเภททำร้ายตัวเองหรือล่อแหลม เช่นนุ่งสั้น ใส่สายเดี่ยว เพราะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเอง

สี่สังเกตสิ่งรอบตัว

ไม่ว่าจะใช้บริการสาธารณะประเภทไหนก็ตาม ต้องสังเกตสิ่งรอบตัวเสมอ ทำให้เป็นนิสัย เช่น ขึ้นรถที่ไหน รถสีอะไร ทะเบียนรถอะไร มองหน้าคนขับหรือพนักงานทุกคนในรถสาธารณะนั้นๆ จากนั้นก็ใช้วิธีโทรศัพท์หาคนที่ใกล้ชิดบอกว่าตัวเองขึ้นรถแล้ว ขึ้นจากที่ไหน ทะเบียนอะไร น่าจะไปถึงที่หมายกี่โมง ก็เป็นการป้องปรามพวกที่เป็นมิจฉาชีพได้ระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ ต้องสังเกตคนที่ใช้บริการรอบข้างด้วย รวมไปถึงสังเกตจุดปลอดภัยภายในรถด้วย เช่น ประตูฉุกเฉินอยู่ตรงไหน ถ้าเกิดเหตุจะทำอย่างไร หากรู้สึกไม่ปลอดภัยให้ลงจากรถสาธารณะนั้นๆ แต่ต้องเลือกลงในแหล่งชุมชนที่มีผู้คนและมีแสงสว่างเพียงพอ

ห้าอย่าเอาแต่ใช้โทรศัพท์มือถือ

กลุ่มมิจฉาชีพจะชอบมากถ้าเห็นเหยื่อก้มหน้าก้มตาเล่นเกมหรือจมจ่อมอยู่กับการใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะจะทำให้ขาดความระมัดระวังตัว พวกมิจฉาชีพจะหาโอกาสเหมาะที่จะลงมือเมื่อมีโอกาส ฉะนั้น ควรมีสติเสมอขณะเดินทาง

หกหลีกเลี่ยงเส้นทางซ้ำๆ

การเดินทางซ้ำๆ เป็นประจำและในเวลาเดิมๆ ก็เป็นอันตรายได้เหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นสถานที่เปลี่ยว จะทำให้การเคลื่อนไหวถูกคาดเดาได้ง่าย เพราะฉะนั้นหลีกเลี่ยงเส้นทางที่เปลี่ยว มืด หรือต้องผ่านบริเวณที่ไม่ปลอดภัย มีอาชญากรรมสูง และไม่เดินทางคนเดียว

เจ็ดอย่าใส่ของมีค่า

เมื่อต้องเดินทางด้วยรถสาธารณะ พยายามอย่าใส่ของมีค่าติดตัว เพราะมันจะเป็นการล่อตาล่อใจพวกมิจฉาชีพ และควรเอาประเป๋าสะพายไว้ด้านหน้าด้วยทุกครั้ง

แปดอย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือ

ถ้าถูกคุกคามให้ใช้อะไรก็ตามที่จำเป็นเพื่อเรียกร้องความสนใจ และขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ จำไว้ว่า ความอับอายจากการระมัดระวังเกินไปนั้นดีกว่าการตกเป็นเหยื่อของอาชญากร เคยมีกรณีเด็กสาวคนหนึ่งพกนกหวีดเอาไว้ติดตัว และเธอเคยถูกคนร้ายลวนลาม เธอเลยเป่านกหวีด ซึ่งสุดท้ายเจ้านกหวีดก็ช่วยให้เธอไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

คาถา 8 ข้อนี้ ไม่ยากเกินไปที่จะนำไปปรับประยุกต์ใช้ตามสภาพเพื่อความปลอดภัยของคนที่เรารัก
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น