xs
xsm
sm
md
lg

บัญญัติ 4 ข้อ หากจำเป็นต้องพาลูกขึ้นรถไฟ / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปีที่แล้วรถไฟตกรางเป็นว่าเล่น มาล่าสุดเกิดเหตุสะเทือนใจมากกว่าร้อยเท่าพันทวีถึงขนาดกล่าวกันว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์รถไฟไทยมากกว่า 100 ปี

กรณีของน้องแก้มวัย 13 ปีที่โดนข่มขืนแล้วฆ่าบนขบวนรถไฟ จากนั้นก็โยนศพทิ้งข้างทาง สร้างความสั่นสะเทือนให้กับผู้คนในสังคมอย่างมาก พร้อมทั้งออกมาประณามผู้ก่อเหตุที่มีจิตใจทรามมาก
ภาพตำรวจคุมตัวผู้ต้องหาฆ่าข่มขืน “น้องแก้ม” ด.ญ.วัย 13 ปี ขึ้นรถไฟคันเกิดเหตุทำแผนประกอบคำรับสารภาพที่สถานีรถไฟวังก์พง อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
ใครที่เคยเดินทางโดยรถไฟ คงจะรู้ดีว่ารถไฟบ้านเรามีหลากหลายประเภท มีแบบนั่ง นอน ปรับอากาศ สุดแท้แต่ใครจะเลือกบริการแบบไหน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับราคาและระยะทาง ถ้าเดินทางไกลๆ ก็มักจะเลือกแบบตู้นอน ซึ่งมีทั้งแบบปรับอากาศและพัดลม มีทั้งเตียงบนและเตียงล่าง เมื่อยังไม่ถึงเวลานอน ผู้โดยสารแต่ละล็อกจะนั่งข้างล่าง ซึ่งมีเก้าอี้แยกกัน เมื่อถึงเวลานอนจะนำที่นั่ง 2 ที่มาประกบเป็นเตียง

เรื่องที่นอนหรือที่นั่งก็เรื่องหนึ่งอยู่ที่ใครจะเลือกแบบไหน แต่ใครที่เคยใช้บริการก็คงจะได้ยินบ่อยๆ ถึงสารพัดปัญหาของรถไฟไทย ตั้งแต่เรื่องการบริการ ความไม่ปลอดภัย และอีกสารพัดปัญหาที่ได้ยินได้เห็นกันมาอย่างยาวนาน

แต่เชื่อไหม ผู้คนก็ต้องทนอยู่กับสภาพปัญหาอันยาวนานเช่นนี้มาโดยตลอด

และก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข หรือใส่ใจปัญหาอย่างจริงจังสักที !

กรณีที่เกิดขึ้นกับน้องแก้ม เป็นกรณีที่ช็อกความรู้สึกของผู้คนอย่างมาก เพราะคิดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์เยี่ยงนี้กับระบบขนส่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ

เราเคยตกตะลึงกับเหตุการณ์ในประเทศอินเดีย ที่เคยเกิดเหตุการณ์รุมข่มขืนหญิงสาวบนรถไฟ โดยที่มีผู้คนมากมายบนโบกี้ บ้านเราก็ออกมาประณามเรื่องนี้อย่างมาก

แล้วเหตุการณ์ของน้องแก้ม จะประณามใครล่ะ !!

เวลาเราขึ้นรถไฟ เรามักจะเห็นป้ายติดเพื่อแสดงความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยขณะเดินทางประมาณว่า

1. ควรขึ้นหรือลงจากรถ เมื่อรถได้จอดเทียบชานชาลาเรียบร้อยแล้ว

2. ควรนั่งให้เรียบร้อยก่อนรถไฟจะออก

3. ขณะนั่งรถไฟ ไม่ควรชะโงก หรือยืนส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายออกไป โดยเฉพาะ เมื่อรถไฟแล่นผ่านสะพานหรือถ้ำ

4. ไม่ควรขึ้นไปนั่งบนหลังคารถ และไม่ควรยืนหรือนั่งขวางประตู หรือเดินเล่นไปมาระหว่างตู้รถไฟ

ป้ายคำเตือนประเภทนี้ก็ประมาณคู่มือการเดินทาง ที่เน้นไปในเรื่องความปลอดภัยทางด้านร่างกาย ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุได้

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถไฟบ้านเรากลับไม่ใช่เรื่องเหล่านี้ แต่เป็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ภัยที่เกิดขึ้นแม้กระทั่งเป็นเงื้อมมือของเจ้าหน้าที่การรถไฟอีกต่างหาก

ที่ผ่านมา เราไม่เคยจริงจังกับเรื่องการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะเลย เรามักจะได้ยินข่าวคราวถึงภัยร้ายที่เกิดขึ้นรายวัน เวลาขึ้นรถเมล์ก็หวาดเสียว ขึ้นรถตู้ก็อันตราย นั่งแท๊กซี่ก็ต้องลุ้น ขึ้นมอเตอร์ไซค์ก็ต้องคอยสวดมนต์ สรุปคือผู้คนไม่รู้จะเลือกเดินทางด้วยวิธีไหนแล้ว

สุดท้ายผู้คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะซื้อรถยนต์เป็นของตัวเอง

จริงอยู่รถยนต์จำนวนมากที่มีอยู่บนท้องถนน ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้คนต้องการความสะดวกสบาย รวมไปถึงสามารถซื้อรถยนต์ได้ง่าย มีเงินไม่มากก็สามารถดาวน์รถได้แล้ว แต่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ คนจำนวนมากเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของครอบครัว เพราะไม่มั่นใจกับอุบัติภัยบนท้องถนนและความปลอดภัยในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

เราอยู่กับความหละหลวมในเรื่องความปลอดภัยมาโดยซ้ำซาก ในทุกประเภทของรถโดยสาร

ล่าสุด เรื่องน้องแก้มที่กลายเป็นประเด็น Talk of the Town ก็ซ้ำซากอีกเช่นกัน

นี่ยังไม่นับรวมกับการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการการรถไฟคนปัจจุบันที่ให้สัมภาษณ์ ประมาณว่าเป็นเพราะงบประมาณไม่เพียงพอ คนไม่เพียงพอ ไม่สามารถเพิ่มคนได้อีก ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง

เป็นคำตอบที่มักง่าย และสรุปความก็คือ ไม่มีเงิน ไม่มีคน

นั่นก็หมายความว่าตัวใครตัวมัน ปล่อยให้ผู้คนดูแลความปลอดภัยด้วยตัวเอง และคอยลุ้นโชคชะตาว่าขอให้ไม่ใช่ครอบครัวของตัวเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ตราบใดที่มาตรฐานยังคงเป็นแบบนี้ และยังไม่มีมาตรการในการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการได้ ถ้าหลีกเลี่ยงได้หรือมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ไม่ควรขึ้นรถไฟไทยเลยตราบใดที่ไม่มีการปฏิรูปใหญ่ในระดับปฏิวัติให้เห็นเป็นประจักษ์

แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เราก็ต้องพยายามหาทางป้องกันตัวเอง ด้วยการสอนลูกหลาน และปลูกฝังเรื่องความปลอดภัยให้กับเขา ว่าสิ่งที่ต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยหากต้องใช้บริการรถไฟมีอะไรบ้าง

หนึ่ง อย่าวางตา

เมื่อต้องเดินทางด้วยรถไฟกับลูก ไม่ว่าลูกจะอายุเท่าไรก็ตาม ก็อย่าได้วางตาเด็ดขาด ยิ่งถ้าลูกเล็ก ต้องมีคนประกบด้วยทุกครั้ง เพราะไม่ใช่แค่ประเด็นความปลอดภัยจากอุบัติเหตุเท่านั้น เรื่องมิจฉาชีพ หรือการพลัดหลง หรือการลักพาตัว ก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง ฉะนั้นต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มาก

กรณีที่เป็นเด็กโตหรือแม้แต่วัยก่อนเข้าสู่วัยรุ่น ก็ไม่ควรวางตาเช่นกัน ขอให้จัดที่นั่งให้อยู่ติดกัน โดยเฉพาะเด็กสาว เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องหาทางจัดการวางแผนชีวิตด้วย ไม่ควรให้เดินทางโดยลำพัง

สอง อย่าวางใจ

ทุกครั้งที่ต้องเดินทาง ต้องบอกลูกว่าอย่าไว้วางใจคนแปลกหน้าเด็ดขาด ฝึกให้มีความระมัดระวังตัวเอง ให้สังเกตเรื่องความปลอดภัย สังเกตที่นั่งของตัวเอง และคนรอบข้างว่าเรานั่งใกล้ใคร และมีใครที่มีพิรุธหรือไม่ หรืออาจจะสมมติสถานการณ์ก็ได้ ว่าหากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นมา จะหาทางหนีทีไล่อย่างไร หรือถ้าเป็นไปได้ควรจะให้ลูกมีทักษะเรื่องการป้องกันตัวไว้บ้าง ให้เรียนรู้จุดอ่อนของอีกฝ่าย หากเกิดเหตุการณ์ไม่ดี ให้มีสติและพยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้

สาม อย่าแต่งตัวล่อแหลม

ประเด็นนี้สำคัญมาก พ่อแม่ควรให้ลูกแต่งตัวมิดชิด โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ไม่ใช่แต่งตัวตามสบายหรือนุ่งสั้น พยายามทำให้ลูกติดเป็นนิสัยตั้งแต่เล็ก เมื่อออกจากบ้านต้องแต่งกายไม่เป็นการทำร้ายตัวเอง เพราะเราไม่รู้เลยว่ามีผู้ชายโรคจิตหรือเป็นพวกอาชญากรเมื่อไร บางครั้งการแต่งกายล่อแหลมก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเอง

สี่ อย่าเอาแต่สนใจมือถือ

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเด็กๆ ส่วนใหญ่มักติดสมาร์ทโฟน หรือสนใจแต่กับเครื่องมืออิเลคทรอนิคส์ของตัวเอง จึงทำให้บรรดามิจฉาชีพฉวยโอกาสได้ง่ายที่จะคิดไม่ดี หรือก่อเหตุได้ง่าย เพราะรู้ว่าเด็กไม่ระมัดระวังตัว เพราะฉะนั้นต้องสอนให้ลูกฝึกทักษะการสังเกตสิ่งรอบตัว สังเกตความเป็นไปของผู้คนด้วย

หรือแม้แต่ตัวของผู้ใหญ่เองที่จมจ่อมอยู่กับมือถือของตัวเอง ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหากับลูกได้เช่นกัน

เหตุการณ์ครั้งนี้ พ่อแม่ก็ควรจะนำมาเป็นอุทาหรณ์และบทเรียนชีวิต พูดคุยในครอบครัวด้วย

ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อย่างแน่นอน แต่ถ้าเราจะรอมาตรการให้ภาครัฐดำเนินการล่ะก็ ไม่ทันการณ์แน่ค่ะ !!

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น