xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ถก ครม.-คสช. ชี้ชงชื่อนายกฯ จากพรรค รอบสองถึงคิวคนนอก โยนหน้าที่ กรธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ เผย ครม.-คสช.เข้าใจคำถามพ่วง ให้เสนอนายกฯ รอบแรก ใช้ชื่อจากนักการเมือง รอบสองชื่อคนนอก เป็นหน้าที่ กรธ.เคาะ ย้ำนายกฯ ต้องมีธรรมาภิบาลและยินยอม พร้อมแก้เพิ่ม 30 สนช. รับส่วนใหญ่เป็นทหาร ปัดสืบทอดอำนาจ ขออย่าสนแต่ประเด็นเดิม แนะตามเรื่องอนาคต ปลุกสร้างค่านิยม ปัดลงพื้นที่ร้อยเอ็ดเหตุประชามติไม่ผ่าน แต่จะถามเข้าใจตรงกันหรือไม่ รับตั้งใจลงทุกจังหวัด

วันนี้ (23 ส.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้มีการประชุมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประชุมวาระพิเศษของ ครม. และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งในที่ประชุมก็ครบองค์ประกอบที่เพียงพอ โดยมีการพูดถึงความเข้าใจของ ครม.และ คสช.ในเรื่องการทำประชามติ คือ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นความเข้าใจของตน ครม.และคสช.ทุกคนว่าเข้าใจแบบนี้

“5 ปีแรกในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา คือ ส.ส.500 คน และ ส.ว.250 คน จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรี จากเดิมให้ ส.ส.ฝ่ายเดียวเลือก เปลี่ยนไปให้ ส.ส.และส.ว.รวม 750 คนเลือกตั้งแต่ต้น จากรอบแรกที่จำเป็นต้องเลือกจากรายชื่อในตะกร้าที่แต่ละพรรคเสนอมาพรรคละ 3 คน ซึ่งรอบแรกต้องเลือกจากรายชื่อนี้เท่านั้น ถ้าใครได้ถึงครึ่งคือ 376 คนจาก 750 คน ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้ายังไม่ได้ก็เลือกรอบสอง คือ แก้ปัญหาเดิมที่เคยบอกว่าไปไม่ได้ก็ใช้มาตรา 7 ซึ่งแก้ตรงนี้ถ้าหากเลือกรอบแรกไม่ได้ก็เลือกใหม่ โดยคราวนี้จะสามารถเลือกจากนอกตะกร้าได้ ส่วนใครเสนอชื่อผมไม่รู้ เป็นเรื่องกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปพิจารณา ที่ไปหารือกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สนช.ต้องไปดูมติของ สนช.ด้วย และหลายอย่างที่มีการชี้แจงว่าคำถามพ่วงทำมาเพื่ออะไร ซึ่งมีรายละเอียดทั้งหมด มาพูดกันไปพูดกันมาอย่างนี้อย่างโน้นไม่ได้ ต้องเป็นไปตามตัวบทอักษร และตามความมุ่งหมายที่ออกคำถามพ่วงไป ในเรื่องของ 5 ปีที่ว่าจะเลือกกี่ครั้ง ก็คือในระยะเวลา 5 ปี ส.ส.และส.ว.ต้องเลือกภายใน 5 ปี” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ประเด็นของตนถ้าได้คนดีมาและ ส.ส.เสนอมา ใครจะไปปฏิเสธเขาได้ เขาก็ต้องยินยอมและใช้คะแนนเสียงครึ่งหนึ่งของสองสภา นี่คือความเข้าใจของตนและ ครม.ทั้งหมดซึ่งชี้แจงโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ที่เป็นผู้เชื่อมต่อเป็นฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลไปเชื่อมต่อกับ กรธ.ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ต่อไปจะได้หยุดสักทีว่าจะอย่างไร แต่ตนยืนยันว่าเป็นไปตามที่พูดมาคือสิ่งที่เราเข้าใจ

นายกฯ กล่าวอีกว่า ในการประชุมวาระพิเศษของ ครม.และ คสช. ในวาระที่ 2 คือ เรื่องความจำเป็นในการแก้ไขมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เดิมมี สนช.ไม่เกิน 220 คน จะเพิ่มอีก 30 คน ซึ่งต้องไม่เกิน 250 คน ทั้งนี้เหตุผลไม่เกี่ยวเรื่องนายกฯ เพราะวันนี้ต้องเร่งรัดการทำกฎหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ยังเหลืออยู่กว่า 50 ฉบับ และมีเรื่องกฎหมายอื่นตามนโยบายของรัฐบาลอีกหลายสิบฉบับ

“สนช.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกนายกฯ ต่างๆ ไม่เกี่ยวข้องและจะอยู่ไปถึงก่อนวันเลือกตั้งเท่านั้น ไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องกลับมาเป็น ส.ว. เพราะต้องมีกรรมการสรรหา มีวิธีการอีกมากและคุณสมบัติก็ต่างออกไป เช่น วันนี้ สนช.เป็นข้าราชการประจำได้ ส.ว.เป็นข้าราชการประจำไม่ได้ ไปเก็บไว้แบบนี้สิ ใส่เข้าไปจะได้เข้าใจกันสักที ที่ผ่านมาเรียนไปแล้วว่า ผมไม่เข้าไปคาบเกี่ยว มีอะไรก็เสนอเข้าไปให้ กรธ.พิจารณา ถ้า กรธ.เห็นชอบก็ทำใส่ไปในร่าง ส่วนเรื่องคำถามพ่วงเป็นเรื่องของสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นคนเริ่มมาด้วยซ้ำไปและเสนอ สนช.พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอไปที่ กกต.ให้เพิ่มไปประเด็นคำถามพ่วง และคำถามพ่วงก็ต้องไปดูว่าเขากำลังตีกรอบให้อยู่แค่ไหนอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่อง กรธ. กรธ.คือผู้ที่จะยุติทั้งหมด อย่าไปฟังคนอื่น เพราจะตีกันไปเองหมด ประเด็นของผมคืออย่าเอาผมไปเกี่ยวข้องอะไรเลยตรงนี้ ขอร้องเถอะ” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า ระยะเวลาการแต่งตั้ง สนช.ให้ครบ 250 คนเมื่อไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน การตั้ง สนช.เพิ่ม เพราะบางคนก็ตายบ้าง ลาออกบ้าง

“หลังการประชุมวันนี้ นายวิษณุจะประสานไปอีกครั้งหนึ่ง และยืนยันว่า สนช.จะมีระยะเวลาในกาทำงานแต่มีการเลือกตั้งใหม่ และการตั้ง สนช.เพิ่มไม่เกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจ พอได้แล้ว วันนี้ใช้อำนาจที่ประชาชนมอบหมายไว้ใจผมมาทำงานต่อให้ได้” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่าจะมอบหมายให้นายวิษณุไปหารือกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.อีกหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เขาคุยกันอยู่แล้ว เพราะเป็นฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล จะทำงานไม่คุยกับใครได้อย่างไร และจะทำข้อเสนอขึ้นไปว่าที่ประชุม ครม. คสช.ในวาระพิเศษรับทราบแบบนี้ ดูว่าตรงกันหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ตรงก็ให้ว่ากันมา ต้องคุยกันทุกวันนี้ตนก็ฟัง กรธ.คุย และไม่ได้ไปขัดแย้งท่านจะพูดอะไรก็พูดไป คสช.พูดมาก็พูดไป

“ทั้งหมดอำนาจอยู่ที่ กรธ. จะทำหรือไม่ทำอยู่ที่ กรธ.และคนจะตัดสินว่าถูกหรือไม่ถูกอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ตี กรธ.เข้าไป ตี คสช. ตี ครม. ตีผมเข้าไป แล้วประเทศชาติจะไปตรงไหนได้ อยู่ที่เดิมนั่นแหละ ทำไมไม่มองว่าจะเปลี่ยนผ่านกันได้อย่างไร จะอย่างไรให้บ้านเมืองสงบสุข ทำอย่างไรให้บ้านเมืองมีการพัฒนา ให้ปัญหาเก่าๆ ไม่กลับมา เขาคิดกันแบบนี้อยู่ วันนี้วุ่นวายไปหมด ทุกคนหวังดี ทุกคนอยากได้นี่อยากได้โน่น เพราะเขาไม่ไว้ใจ ไว้ใจหรือยังคุณไว้ใจหรอ ไว้ใจ 100 เปอร์เซ็นต์ใช่ไหม ใครจะมาจะไปก็ช่าง ประเทศไทยเก่งอยู่แล้วหรือไง คุณไว้ใจเขาหรือเปล่า ผมไว้ในคนที่มีธรรมาภิบาล คนที่ไม่กระทำผิดกฎหมาย ผมต้องการคนเหล่านี้เข้ามา แต่ถ้าไม่ต้องการก็เรื่องของท่าน ผมต้องการแค่นั้น ไอ้ที่เขาเขียนคำถามพ่วง เพื่อต้องการแก้ปัญหาที่ทะเลาะกันแต่เดิมว่าทำอะไรไม่ได้ จะไปมาตรา 7 เขาชี้แจงมาอย่างนี้ไม่ใช่หรือ จึงมีทางออกมีรู มาให้ตรงนี้ แต่ก็สุดแล้วแต่ว่าจะมาจะไปยังไง ใครจะเลือก เลือกจะจากสวรรค์ชั้นฟ้าที่ไหนก็ไปเลือกมา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“สิ่งสำคัญที่ว่าคนถูกเลือกยอมหรือไม่ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะส่งใครมาก็ได้ คนถูกเลือกก็ต้องยอมด้วย เขาจะมาหรือไม่แบบนั้น ไม่รู้เป็นเรื่องของ กรธ. ให้เกียรติเขาบ้าง เขาทำงานกันแทบตาย ไปทวงบุญคุณอะไรเขาอีก เงินเดือน เบี้ยเลี้ยงใช้เปลือง ปั๊ดโธ่ ไอ้ที่ก่อนๆ ทำไมไม่ทวง ใช้มากกว่านี้หรือไม่ นี่เขาทำงานงกๆ ทุกวัน กฎหมายออกมาเท่าไหร่ 7 ปีออกกฎหมายกัน 120 ฉบับ นี่ 2 ปี กฎหมายออกมา 170 ฉบับ มันก็แตกต่างกันแล้วและกฎหมายต่างๆ ก็ออกมาในรัฐบาลบางอย่างที่ทำไม่ได้ก็แกะออกมาและเดินหน้าไปให้ได้ ทำให้เสร็จต้องแก้ไขทุกอย่างไม่ให้ติดเหมือนเดิม เพราะวันหน้าจะติดอยู่แบบเก่าหากไม่รื้อวันนี้ แต่ผมไม่ได้ต้องการไปรังแกใครทั้งสิ้น”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า วันนี้สื่อก็รื้อทุกวัน วุ่นวายทุกวัน ตนก็พยายามจะทำให้มันใหม่แต่ก็ติดของเดิมอยู่นั้นแหละ คดีความค้างอยู่เต็มไปหมดถึงทำให้เดินหน้าต่อไปได้ไม่มากนัก แต่เราก็พยายามจะเดิน วันนี้ตนได้สั่งการให้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปแยกให้ชัดเจนว่าเรื่องไหนเป็นงานในฟังก์ชันที่จำเป็นต้องปรับแก้วิธีการบริหารราชการที่มีการบูรณาการน้อยเกินไป ก็ต้องมีการบูรณาการข้ามกระทรวง ที่ผ่านมาถามว่าเคยทำกันหรือไม่ การใช้งบประมาณร่วมกันข้ามกระทรวง มีการทำกิจกรรมเดียวกันโดยแบ่งพื้นที่ให้มีความชัดเจนมากขึ้นก็จะทำให้เกิดโครงการย่อยมากขึ้น และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงานนี่คือสิ่งที่รัฐบาลทำใหม่ ส่วนประเด็นการทุจริตก็ต้องไปฟ้องร้องและสืบสวนกันมา ขอว่าอย่าเอามาปะปนกัน ไม่เช่นนั้นเราจะแก้ไขอะไรไม่ได้ เวลาคนเขาจะลงมือทำอะไรก็บอกว่าทุจริต ถามว่ามันทุจริตหรือยัง ก็ต้องไปตรวจสอบก่อน วันนี้ใครฟ้องร้องอะไรมาตนก็ตรวจสอบหมด ใครผิดก็ย้ายไปหมด ถามว่าวันนี้มีใครทำไหม โครงการไหนที่เป็นโครงการใหม่ เช่น โครงการไทยแลนด์ 4.0 โครงการปรับปรุงเศรษฐกิจฐานราก โครงการประชารัฐ ทำไมสื่อไม่ให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้ทั้งๆ ที่เป็นโครงการเหล่านี้เป็นเรื่องอนาคต

“ถ้าท่านมัวแต่ไปสนใจประเด็นเดิม ว่านายกฯต้องมาจากไหน จะมาจากไหนก็มาเถอะ สิ่งสำคัญต้องสง่างาม นอกนั้นผมไม่รู้ ขอร้องวันนี้ขอให้ประเทศชาติได้สงบบ้างเถอะ วันนี้ผมให้ไปทำโครงการแผนระยะยาว เช่น ร่างแผนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ถนนหนทาง ทั้งในประเทศและกลุ่มจังหวัด การวางสายไฟฟ้าแรงสูง การวางผังเมือง ซึ่งเราต้องทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เคยมีใครทำได้ วันนี้เราจะปล่อยให้ประเทศเจริญเติบโตแบบนี้ต่อไปหรือ ทุกอย่างไร้ขีดจำกัด ไม่มีกติกา ไม่มีอะไรทั้งสิ้น วันนี้เราต้องสร้างทางด่วนอีกกี่เส้น ที่จะเดินทางเข้าเมือง แล้วทำไมเราไม่คิดว่า เราจะทำเส้นทางเชื่อมโยงกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไปกลุ่มจังหวัดต่างๆ ให้ทุกพื้นที่มีความเจริญออกไปข้างนอก วันนี้เราจะมัวมาสร้างทางด่วน ทางรถไฟ จนเต็มกรุงเทพฯ เพื่อรองรับคนที่จะเดินทางเข้ามาในเมืองเพิ่มเติมอีกหรือ มันไม่ได้แล้ว เราต้องนำคนกรุงเทพฯ ออกไปทำงานข้างนอก หรือนำคนกลับไปบ้านเขา เราต้องดูการศึกษา การวิจัยพัฒนา รวมถึงเศรษฐกิจพิเศษ” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า อยากให้ทุกคนมองในระดับมหภาคด้วย อย่ามองแค่จุดๆ เพราะรัฐบาลนี้มองแบบนั้น ต้องมองประเทศถึงจะกลับมาสู่ฐานราก แล้วทุกอย่างจะปรับเข้าหากันในเชิงบูรณาการ นี่แหละคือสิ่งที่ไม่อยากจะบอกว่าเป็นรัฐบาลนี้เท่านั้นที่จะทำได้ เพราะที่ผ่านมาหลายอย่างแก้ปัญหาเดิมๆ ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ศึกษากันมานานแต่ก็ติดขัดต้องเข้าใจว่าบางอย่างอาจมาไม่ทันใจ เพราะมันติดกฎหมาย บางอย่างอยู่ในชั้นคดีความ แต่หากรอคดีอีก 10 ปี ก็คงไม่ได้ทำ ตรงนี้พวกท่านจะเอาอย่างไร ท่านไม่สร้างก็ไม่ต้องสร้างผมไม่เดือดร้อนอะไร คนที่เดือดร้อนคือคนไทยทุกคน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนคิดทุกวันว่าอะไรที่ประชาชนต้องการ แต่ไม่ใช่เพื่อคะแนนนิยม ตนไม่มีเงินมากมายขนาดนั้นเป็นของรัฐบาล เพราะไม่ใช่ของตน ตนต้องใช้เงินให้คุ้มค่า ประชาชนทุกภาคส่วนมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างสังคมที่ปลอดภัย เพื่อลูกหลานของเรา ตนจึงสั่งการให้ช่วยกันทำความเข้าใจการสร้างค่านิยม เพราะทุกวันนี้ดีแต่พูด แต่ไม่รู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร เช่น ค่านิยมความพอเพียง เรื่องสังคมผู้หญิงและเด็ก ความจริงกฎหมายมีไว้ป้องปราม คือไม่ให้ทำ แต่ไอ้นี่มีกฎหมายทำทุกอัน แล้วก็มาเรียกร้องให้ละเว้น ยกเลิก ให้อภัย มันได้ที่ไหน ขอย้ำว่ากฎหมายเขามีไว้เพื่อป้องกัน และไม่อยากให้ใครมาติดคุก เพราะมันเปลืองข้าว และต้องสร้างคุกเพิ่มอีก คิดแบบนี้สิไม่ใช่คิดว่ารัฐบาลไม่จับคนโน้นคนนี้ ถามว่าเขารู้กฎหมายทุกตัวแล้วเขาทำทำไม

พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกการลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดในวันพรุ่งนี้ (24 ส.ค.) ว่า ตนไม่ได้เลือกพร้อมที่จะไปในทุกๆ ที่ ทำไมต้องเลือก เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เขามีการวางแผนไว้อยู่ก่อนแล้ว ว่าจะไปที่ไหน จังหวัดใดบ้าง มีการวางไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับที่ว่าจังหวัดร้อยเอ็ดไม่ผ่านประชามติ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็ต้องไปอีกกี่จังหวัดที่ไม่ผ่าน และผมก็บอกไปแล้วว่าพยายามจะลงพื้นที่ไปในทุกๆ จังหวัด ไม่ได้ไปเพราะประชาชนไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ จากการทำประชามติ แต่จะไปถามว่าเข้าใจตรงกันหรือเปล่า

จากนั้น พ.อ.ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดของนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ในวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ว่า เวลาประมาณ 08.45 น. ณ ห้องประชุมกันเกรา ชั้น 3 โรงแรมราชภัฏกรีนวิว มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลกับหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยทางจังหวัดร้อยเอ็ดเตรียมเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดล “ร้อยเอ็ด 4.101” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจ และนำไปสู่ภาวะที่เอื้อต่อการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชน

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมนิทรรศการ และกิจกรรมต่างๆ ณ บริเวณด้านหน้าหอประชุม 60 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ ได้แก่ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีร้อยเอ็ด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด งานวิจัย สู่อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ ของมหาวิทยาลัยร้อยเอ็ด และข้าวหอมมะลิทุ่งกลาร้องไห้ร้อยเอ็ด จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะพบปะกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับ และในช่วงบ่าย ณ อ่างเก็บน้ำธวัชชัย อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด นายกรัฐมนตรีจะรับฟังบรรยายสรุปการพัฒนาอ่างเก็บน้ำธวัชชัยด้วยรูปแบบประชารัฐ เพื่อเป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์





กำลังโหลดความคิดเห็น