โฆษก กรธ.แจงมาตรา 44 นายกฯ สั่งคุ้มครองทุกศาสนา ไม่ได้กีดกันจำกัดเสรีภาพนับถือศาสนา ไม่เลือกปฏิบัติ คาดส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคำถามพ่วงต้น ก.ย. ย้ำหน้าที่กรธ.ดูขอบเขต เชื่อไม่กระทบบทหลักรธน. แนะฟังทุกฝ่ายค้นหาเจตนารมณ์ปชช. ลั่นไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลใคร
วันนี้ (23 ส.ค.) นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ให้อุปถัมถ์และคุ้มครองทุกศาสนา โดยยืนยันว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กีดกันศาสนาอื่น หรือจำกัดเสรีภาพในการนับถือศาสนา ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา และทุกศาสนาได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกัน แต่เพราะที่บัญญัติคุ้มครองศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท เป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือ แต่ก็ไม่ได้เป็นการกีดกันศาสนาอื่น การที่รัฐบาลออกคำสั่งตามมาตรา 44 มองว่าเป็นการทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ส่วนความชัดเจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงประชามติ โฆษก กรธ.กล่าวว่า ตนยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีขอบเขตแค่ไหน ต้องรอหารือในที่ประชุมก่อน โดยจะมีการประชุมในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (24 ส.ค.) นี้ คาดว่าจะสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ในช่วงต้นเดือนกันยายนซึ่งจะมีหลักการและเหตุผลประกอบด้วย แต่ยืนยันว่า กรธ.จะพิจารณาให้ตรงตามเจตนารมณ์มากที่สุด โดยจะรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายเพื่อจะได้ผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องต่อเวลาอีก 15 วันในการปรับแก้อีก
นายอุดม กล่าวต่อว่าตนเข้าใจดีว่า ทุกฝ่ายที่เสนอความเห็นแม้ต่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ต่างก็คิดถึงบ้านเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นหน้าที่ของ กรธ.ที่ดูว่าคำถามพ่วงฯนั้นควรจะมีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ถ้าหากดูตามเนื้อหาของคำถามพ่วงฯนั้นเขียนหลักการว่าไม่เกินกว่าวาระแรก 5 ปี กรธ.ก็เข้าใจว่าคงจะไม่เกินกว่านั้น และคงไม่ไปกระทบบทหลักด้วย
เมื่อถามว่าเข้าใจว่าคำถามพ่วงฯนั้นเป็นกระบวนการ 2 ขยัก หรือจะเป็นการโหวตเพื่อหานายกรัฐมนตรีในการประชุมครั้งแรกเลย นายอุดมกล่าว่ายังลงความเห็นไม่ได้ คงต้องรอการตัดสินใจของที่ประชุม กรธ.ก่อนแต่ขอยืนยันว่า กรธ.ไม่ได้คิดเหมือน สนช.อยู่แล้ว เพราะมิฉะนั้นคงไม่มีคำถามพ่วงฯแต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคำถามพ่วงฯผ่านประชามติ กรธ.ก็ต้องมาดูว่าจะแก้ไขอย่างไร ให้มีความสอดคล้อง
เมื่อถามต่อว่าประชาชนที่ลงมติรับคำถามพ่วงฯทราบแค่ว่า ส.ว.มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ทราบว่า ส.ว.จะร่วมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย นายอุดมกล่าวว่าก็ต้องไปถาม สนช. ด้วย แต่ตนขอเรียนว่าเรื่องการค้นหาเจตนารมณ์ของประชาชนที่มาลงมตินั้น ก็ต้องฟังจากทุกฝ่ายที่ได้นำเสนอความเห็นมา แม้แต่ข้อวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน
เมื่อถามว่ามีข้อเสนอออกมาว่ามีความเห็น สนช.บางคนกล่าวว่าถ้าภายใน 30 วันยังเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ก็ให้ยกเว้นบทบัญญัติที่จะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง นายอุดมกล่าวว่าตนให้ความเห็นไม่ได้ คงต้องรอความเห็นในที่ประชุม กรธ. การที่ตนให้ความเห้นส่วนตัวออกไปนั้นอาจทำให้สังคมสับสนเปล่าๆ เพราะอาจจะความเห็นไม่ตรงกับที่ประชุม กรธ.
นายอุดมกล่าวว่า กรธ.จะมีการประชุมในวันที่ 24 ส.ค. ก็คงจะพิจารณาความเห็นและข้อเสนอต่างๆ เพื่อให้เวลาส่งร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกแก้ไขไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญจะได้ไม่ส่งกลับมายัง กรธ.อีกครั้ง ทำให้ต้องเสียเวลาเพิ่มอีก 15 วัน ขอยืนยันว่า กรธ.ต้องการให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดยเร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการวางกรอบปรับแก้บทบัญญัติให้สอดคล้องกับคำถามประกอบฯ ที่ต้องไม่กระทบกับบทหลักจะมีขอบเขตอย่างไร นายอุดม กล่าวว่า ส่วนตัวเข้าใจว่าในสาระของคำถามประกอบฯ ที่กำหนดให้ใช้ใน 5 ปีแรก ต้องดำเนินการให้ไม่เกินระยะเวลา 5 ปี ส่วนที่อาจจะกระทบกับบทหลักนั้นอาจมีได้แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาดังกล่าวด้วย
ถามต่อถึงข้อเสนอของบางฝ่ายที่เสนอให้ปรับแก้ไขในส่วนบทเฉพาะกาล โดยระบุเงื่อนไขให้งดเว้นการใช้บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น มาตรา 159 ว่าด้วยการเลือกนายกฯ ในสภาฯ โฆษก กรธ. กล่าวว่า “ผมมองว่าต้องพิจารณาในสาระด้วยว่าหากจะกระทบจะมีระยะเวลาแค่ไหน หากกระทบเพียง 5 ปี ถือว่าโอ.เค. แต่ผมยืนยันว่าการเขียนบทบัญญัติใดๆ ของกรธ. จะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ใด”