xs
xsm
sm
md
lg

“พีระศักดิ์” ชี้ให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ ไม่ขัดเจตนารมณ์คำถามพ่วง แจงเป็นกลไกแก้วิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
รอง ปธ.สนช. แจง ให้ ส.ว. เสนอชื่อนายกฯ ไม่ขัดเจตนารมณ์คำถามพ่วง ไม่สนการเมืองว่ายังไง ปัดเอาใจ คสช. อย่าคิดไกลว่าสืบทอดอำนาจ เผย ทำเพื่อเป็นกลไกแก้วิกฤต ไม่ต้องล้ม รธน. ปัดสร้างระบบขึ้นมาเพื่อใคร

วันนี้ (21 ส.ค.) นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง กล่าวว่า ตนได้ชี้แจงไปแล้ว การเสนอชื่อนายกฯในครั้งแรก หรือก๊อกแรกนั้น เป็นกระบวนการของพรรคการเมืองที่เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี แต่ ส.ว. ชุดแรกที่จะทำหน้าที่ใน 5 ปีแรก มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นไปตามคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติ แต่หากว่า กระบวนการแรกไม่สำเร็จ ก็จะเข้าไปสู่กระบวนการที่สอง ที่ ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกฯได้ แต่ตรงนี้อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ โดยส่วนตัวก็คิดว่าไม่น่าจะมี อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีการคิดแนวทางแก้ไขไว้หากมีปัญหาขิ้นมาจริง ๆ จึงได้มีการเสนอให้ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกฯได้ ซึ่งไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของคำถามพ่วง

ส่วนพรรคการเมืองจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องของพรรคการเมือง จะรู้เจตนารมณ์ของสนช. ได้อย่างไร เพราะ สนช. เป็นผู้ตั้งคำถามพ่วง และได้ก็ยึดอยู่ในหลักการอยู่แล้ว จะไม่มีการทำเกินเลยไปจากคำถามพ่วงประชามติ โดยได้แจ้งให้คณะกรรมการร่ารัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทราบแล้ว ก็เป็นเรื่อง กรธ. ที่จะพิจารณาต่อไป ซึ่งเราเป็นองค์กร เป็นสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ในปัจจุบัน ยืนยันว่า ไม่ได้เอาใจ คสช. เพราะกว่าจะถึงกระบวนการนั้น คสช. แค่รักษาความสงบเรียบร้อยและประคองสถานการณ์ เพื่อเข้าไปสู่โรดแมประยะที่สาม นำไปสู่การเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาลใหม่

“ไม่ต้องคิดไกลว่าจะสืบทอดอำนาจให้ คสช. อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก็ประกาศชัดเจนว่า จะไม่เป็นนายกฯอีกแล้ว แต่การที่เราเสนอเช่นนี้ เพื่อให้เป็นกลไกพิเศษ ไม่ให้เกิดการล้มรัฐธรรมนูญ ถ้าเลือกนายกฯไม่ได้ ก็ให้ใช้กลไกนี้ ตรงนี้ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญไหนมาก่อนเลย นี่คือ จุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีกลไกแก้วิกฤตให้” นายพีระศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า จะไปชี้แจงกับประชาชนอย่างไรว่าข้อเสนอของ สนช. ไม่ได้ทำเพื่อสืบทอดอำนาจ หรือเพื่อวางกลไกให้ สนช. คสช. เข้าสู่ตำแหน่งอีกสมัย นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า คนที่คิดใช่พี่น้องประชาชนหรือไม่ ที่เราถามประชาชนจะให้ ส.ว. ร่วมโหวตนายกฯหรือไม่ ซึ่งพี่น้องประชาชนก็ลงมติเห็นชอบแล้ว อย่าไปคิดกันไกลเกินไป ว่า เป็นการสืบทอดอำนาจ หรือปูทางให้ คสช. หรือ สนช. ให้กลับเข้ามาอีก แต่เป็นเรื่องของระบบที่ต้องการไม่ให้เกิดวิกฤตเหมือนที่ผ่าน ๆ มา ส่วนบุคคลที่จะเข้ามาสู่ระบบในอนาคตค่อยมาว่ากัน ยืนยันไม่ได้สร้างระบบขึ้นมาเพื่อคนใดคนหนึ่งแน่นอน ซึ่งคนที่คัดค้านเรื่องนี้ ก็คือ คนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงประชามติ

เมื่อถามว่า มีความเป็นห่วงว่า หาก กรธ. ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ สนช. เสนอ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ขัดรัฐธรรมนูญ อาจทำให้โรดแมปต้องล่าช้าออกไป นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ยังมีเวลาอยู่แล้วหากศาลรัฐธรรมนูญตีความบทเฉพาะกาลขัดกับเจตนารมณ์คำถามพ่วง ก็ส่งกลับมาให้ กรธ. แก้ไข ซึ่งมีเวลา 15 วัน ที่ กรธ. จะแก้ไขตามที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกอย่างสุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น