xs
xsm
sm
md
lg

เตือนบิ๊กตู่จะพังเพราะคำป้อยอ ค้านส.ว.เสนอนายกฯคนนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รองประธาน สนช.ชี้ให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ ไม่ขัดเจตนารมณ์คำถามพ่วง แจงเป็นกลไกแก้วิกฤต ด้านนักการเมืองทั้ง ปชป.-เพื่อไทยรุมอัด ชี้การขยายอำนาจให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้ เป็นการบิดเบือนเจตนารมย์คำถามพ่วง เตือน"บิ๊กตู่" อย่าฟังแต่เสียงป้อยอ จะพากันพัง

วานนี้ (21ส.ค.) นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง กล่าวว่า ตนได้ชี้แจงไปแล้วการเสนอชื่อนายกฯในครั้งแรกหรือก๊อกแรกนั้นเป็นกระบวนการของพรรคการเมืองที่เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี แต่ส.ว.ชุดแรกที่จะทำหน้าที่ใน 5 ปีแรก มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นไปตามคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติ แต่หากว่า แต่กระบวนการแรกไม่สำเร็จก็จะเข้าไปสู่กระบวนการที่สองที่ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯได้ แต่ตรงนี้อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ โดยส่วนตัวก็คิดว่าไม่น่าจะมี อย่างไรก็ตามก็ได้มีการคิดแนวทางแก้ไขไว้หากมีปัญหาขิ้นมาจริงๆ จึงได้มีการเสนอให้ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯได้ ซึ่งไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของคำถามพ่วง

ส่วนพรรคการเมืองจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องของพรรคการเมือง จะรู้เจตนารมย์ของสนช.ได้อย่างไร เพราะสนช.เป็นผู้ตั้งคำถามพ่วง และได้ก็ยึดอยู่ในหลักการอยู่แล้วจะไม่มีการทำเกินเลยไปจากคำถามพ่วงประชามติ โดยได้แจ้งให้คณะกรรมการร่ารัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทราบแล้ว ก็เป็นเรื่องกรธ.ที่จะพิจารณาต่อไป ซึ่งเราเป็นองค์กรเป็นสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ในปัจจุบัน ยืนยันว่าไม่ได้เอาใจคสช.เพราะกว่าจะถึงกระบวนการนั้นคสช.แค่รักษาความสงบเรียบร้อยและประคองสถานการณ์เพื่อเข้าไปสู่โรคแมประยะที่สาม นำไปสู่การเลือกตั้ง มีการตั้งรัฐบาลใหม่

“ไม่ต้องคิดไกลว่าจะสืบทอดอำนาจให้คสช. อีกทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.และพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯก็ประกาศชัดเจนว่า จะไม่เป็นนายกฯอีกแล้ว แต่การที่เราเสนอเช่นนี้เพื่อให้เป็นกลไกพิเศษไม่ให้เกิดการล้มรัฐธรรมนูญ ถ้าเลือกนายกฯไม่ได้ก็ให้ใช้กลไกนี้ ตรงนี้ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญไหนมาก่อนเลย นี่คือจุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกลไกแก้วิกฤติให้ ” นายพีระศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า จะไปชี้แจงกับประชาชนอย่างไรว่าข้อเสนอของสนช.ไม่ได้ทำเพื่อสืบทอดอำนาจหรือเพื่อวางกลไกให้สนช. คสช.เข้าสู่ตำแหน่งอีกสมัย นายพีระศักดิ กล่าวว่า คนที่คิดใช่พี่น้องประชาชนหรือไม่ ที่เราถามประชาชนจะให้ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯหรือไม่ ซึ่งพี่น้องประชาชนก็ลงมติเห็นชอบแล้ว อย่าไปคิดกันไกลเกินไป ว่า เป็นการสืบทอดอำนาจหรือปูทางให้คสช.หรือสนช. ให้กลับเข้ามาอีก แต่เป็นเรื่องของระบบที่ต้องการไม่ให้เกิดวิกฤติเหมือนที่ผ่านๆม ส่วนบุคคลที่จะเข้ามาสู่ระบบในอนาคตค่อยมาว่ากัน ยืนยันไม่ได้สร้างระบบขึ้นมาเพื่อคนใดคนหนึ่งแน่นอน ซึ่งคนที่คัดค้านเรื่องนี้ก็คือคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติ

เมื่อถามว่า มีความเป็นห่วงว่า หากกรธ.ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่สนช.เสนอ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญ อาจทำให้โรดแม๊ปต้องล่าช้าออกไป นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ยังมีเวลาอยู่แล้วหากศาลรัฐธรรมนูญตีความบทเฉพาะกาลขัดกับเจตนารมณ์คำถามพ่วง ก็ส่งกลับมาให้กรธ.แก้ไขซึ่งมีเวลา 15 วัน ที่กรธ.จะแก้ไขตามที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกอย่างสุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

เตือนบิ๊กตู่ขืน “บ้ายอ” อาจทำพัง

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับนักการเมืองว่ายังไม่ถึงเวลาแต่งตัวเพราะเลือกตั้งมีปีหน้าว่า เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มองนักการเมืองอยู่ในสายตา ฟังแต่คำสรรเสริญเยินยอ แต่อยากให้ทบทวนถึงประวัติศาสตร์การเมืองเกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร นายทักษิณ ชินวัตร ที่เคยได้รับเสียงแซ่ซร้องเช่นนี้มาก่อน ว่าขณะนี้มีสถานะเป็นอย่างไร ไม่อยากให้ฟังแต่คนที่ไม่อยากเลือกตั้ง แต่อยากเป็นส.ว. ที่คอยเอาใจนายกฯ จนเกินพอดี เพราะอาจจะนำ พล.อ.ประยุทธ์ไปสู่หายนะได้ จึงอยากให้ฟังเสียงคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีเจตนาร้ายว่า เมื่อมีอำนาจควรแก้ปัญหาให้ประชาชน และใช้อำนาจตามกฎหมาย

"ตอนที่ภริยาท่านแต่งตัว ท่านยังรอได้ ก็ขอให้ท่านนายกฯ อดทนรอ และให้เวลากับนักการเมืองในการดำเนินการพรรคการเมือง อย่างใช้ระบบทหาร มากดปุ่ม สั่งซ้ายหัน ขวาหัน หรือจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือในอนาคต เนื่องจากไม่การปฏิรูปพรรคการเมืองอย่างแท้จริง"

นายวัชระ ยังกล่าวถึงความเห็นของ นายพีรศักดิ์ พอจิตต์ รองประธาน สนช. ที่ออกมาระบุว่า การแก้ไขร่างรธน. ตามคำถามพ่วง หมายถึงให้ ส.ว.สามารถเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ได้ว่า เป็นความพยายามของคนที่ไม่อยากเลือกตั้ง แต่อยากเป็น ส.ว. ซึ่งตนอยากให้ นายพีรศักดิ์ กลับไปดูแลความเดือดร้อนของประชาชนที่จ.พิษณุโลก จะดีกว่า

ย้ำ ส.ว.ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ที่สมาชิก สนช. ตีความคำถามพ่วงหรือประเด็นเพิ่มเติม ที่ผ่านความเห็นชอบจากการออกเสียงประชามติมาแล้วให้ ส.ว.มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาเห็นชอบว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรต้องตีความไม่ว่าจะตีความแบบกว้าง หรือตีความแบบแคบ เพราะเนื้อหาสาระในคำถามพ่วงชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า ให้ส.ว.มาร่วมเห็นชอบ หรือเลือกนายกฯ เท่านั้น ไม่มีข้อความไหนในคำถามพ่วง ที่ระบุว่าให้ ส.ว.เสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกฯ ถ้าสนช. ต้องการให้ส.ว.เสนอชื่อด้วย ก็ควรใส่คำว่า“เสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”ไว้ในคำถามพ่วงตั้งแต่ตอนทำประชามติเลย ไม่ควรมามีกรอบเสนอให้ตีความแบบกว้าง หรือแบบแคบแต่อย่างใด อีกทั้งการอธิบายคำถามพ่วงของสนช. ระหว่างการทำประชามติ ก็ไม่ได้บอกว่าจะให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯแต่อย่างใด

"ดังนั้น สชน.ควรทำเรื่องนี้ตรงไปตรงมา อย่าหัวหมอไม่ควรคิดว่าประชาชนส่วนมากลงประชามติเห็นชอบคำถามพ่วงแล้วจะมาปู้ยี่ปู้ยำทำตามอำเภอใจอย่างไรก็ได้"

นายองอาจ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้การนำคำถามพ่วงมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ กรธ. ควร คำนึงถึงเจตนารมณ์ของคำถามพ่วง ที่ประชาชนส่วนมากออกเสียงประชามติเห็นชอบ ดำเนินการตามเนื้อหาสาระที่ระบุไว้ในคำถามพ่วงอย่างเคร่งครัดเป็นหลัก การนำคำถามพ่วงมาใส่ไว้ในร่าง ไม่ควรกระทบกับเนื้อหาสาระหลัก จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประชาชนส่วนมากให้ความเห็นชอบไปแล้ว และไม่ควรให้คำถามพ่วง ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง หวังว่า กรธ.จะดำเนินการด้วยความสุขุม รอบคอบ ชอบธรรม และคำนึงถึงหลักการที่ถูกต้องบนพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อให้รัฐธรรมนูญสามารถประกาศใช้ ประเทศชาติเดินหน้าไปด้วยความราบรื่นตามโรดแมปต่อไป

อย่าบิดเบือนเจตนารมย์คำถามพ่วง

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต ทีมสำนักเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่วว่า การจะขยายอำนาจให้ส.ว. สามารถเสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้ ทั้งๆที่ไม่ได้เขียนไว้ในคำถามพ่วงนั้น ถือเป็นการตีความคำถามพ่วงเกินเลยจากเจตนารมณ์ของผู้ลงประชามติ เพราะในคำถามพ่วงถามประชาชนแค่เพียงว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ทึ่ประชุมร่วมรัฐสภา มีสิทธิให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ได้ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ที่ส.ว.สรรหา จะมีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งเรื่องนี้ คำถามพ่วงเขียนไว้ชัดเจน จะแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้

นอกจากนี้ ในมาตรา 159 ของร่างรธน. ที่เพิ่งผ่านประชามติ ก็ได้แยกกระบวนการเสนอชื่อนายกฯ ออกจากกระบวนการให้ความเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ ไว้เป็นคนละขั้นตอนกัน โดยกระบวนการเห็นชอบนายกฯ เขียนอยู่ในวรรคแรก ส่วนวิธีการเสนอชื่อนายกฯ เขียนไว้ในวรรคที่สอง

ดังนั้นการดึงดันของสมาชิก สนช. ที่จะตีความเป็นอย่างอื่น ถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน และขยายอำนาจของตัวเองอย่างน่าเกลียด อันที่จริง หากพวกท่านต้องการให้ส.ว.สรรหา มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯได้ ทำไมไม่ระบุไว้ในคำถามพ่วงให้ชัดเจนตั้งแต่แรก มาเปลี่ยนทีหลังอย่างนี้ จะเรียกว่าหลอกต้มประชาชนได้หรือไม่

ทึ่ผ่านมา ผู้ที่ออกมาเปิดโปง หรือตั้งคำถามเรื่องเหล่านี้ กลับถูกดำเนินคดีราวกับเป็นกบฎ และถูกตั้งข้อหาเผยแพร่รธน.ปลอม ทั้งๆที่ พวกเขาเพียงเป็นห่วงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจเผด็จการ อันที่จริงคำถามพ่วงที่ถูกบิดเบือนต่างหากที่สมควรถูกเรียกว่าเป็นคำถามพ่วงปลอม แล้วเอามาหลอกให้คนไปโหวตรับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น