ประธาน กรธ.ไม่สนใครมีความเห็นอย่างไรปม ส.ว.เสนอชื่อนายกฯ คนนอกได้ทันทีหรือไม่ ยันต้องปรับแก้รัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติมาแล้ว บอกไม่ยาก และไม่กดดัน ให้รอดู 24 ส.ค.นี้ชัดเจนแน่
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงก่อนที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะฟังสิ่งที่ สนช.เสนอมา ส่วนจะเขียนอย่างไรก็เป็นความรับผิดชอบของ กรธ. เพราะเราจะต้องไปเผชิญกับศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องเขียนตามที่เราคิดว่าอ่านได้จากคำถามพ่วง จากการหารือร่วมกันระหว่าง กรธ.กับ สนช.เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมายังไม่มีข้อสรุปร่วมกัน กรธ. เพียงแต่ฟังว่าทาง สนช.คิดเห็นอย่างไรกับคำถามพ่วงกว้างหรือแคบแค่ไหน และหากมีเพิ่มเติม สนช.ก็สามารถมาพบ กรธ.ได้วันที่ 24 ส.ค.นี้ที่จะมีการปรับแก้ หากไม่มีก็ไม่ต้องมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเป็นไปอย่างที่ สนช.เสนอโดยให้ ส.ว.เป็นผู้เสนอชื่อนายกฯจะเป็นการตบตาประชาชนว่าให้รับไปก่อนแล้วมามัดมือชกแก้ที่หลังหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เรื่องนี้ตอบไม่ได้ เพราะหลักมีอยู่แค่ว่า กรธ.ต้องเขียนตามคำถามพ่วง มีแค่ไหนก็แค่นั้น คำบางคำในคำถามพ่วงใช้ภาษาชาวบ้าน เราอยากแก้ เพราะจะเกิดปัญหา แต่เราก็ไม่แก้ เพราะภาษาในคำพ่วงว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น
ต่อข้อถามว่าทาง กรธ.จำเป็นต้องถามความเห็นรัฐบาลหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า คำถามพ่วงไม่ได้จากรัฐบาล ถ้าไปถามรัฐบาลก็ได้แต่ตอบตามความรู้สึก จึงอย่านำไปเกี่ยวกับรัฐบาล เมื่อคำถามพ่วงมาจาก สนช.ก็ควรฟังจาก สนช. แต่ฟังแล้วไม่ได้แปลว่า กรธ.ต้องทำตาม เพราะถ้าเห็นด้วยก็โอเค แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะเขียนไปตามที่เราเห็น
ส่วนหาก ส.ว.จะเสนอชื่อนายกฯ ได้จริง ภาพการเมืองในอนาคตจะเป็นปัญหาหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า อย่าเพิ่งไปกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ขอให้รอดูสิ่งที่ กรธ.เขียนก่อน เมื่อถามย้ำว่าทาง สนช.โยนความรับผิดชอบกลับมาให้ กรธ.ว่า หาก กรธ.อยากเขียนหรือไม่เขียนก็ได้ นายมีชัยกล่าวว่า ไมใช่ความอยากของ กรธ. หรือ กรธ.จะอยากหรือไม่อยากอย่างไร อยู่ที่คำถามพ่วงว่าเขียนอย่างไรก็อย่างนั้น เพราะ กรธ.เองก็อยากเพิ่มคำถามพ่วงเป็นอีก 1 มาตรายังไม่กล้าเลย เพราะตอนไปทำประชามติถามประชาชนมี 279 มาตรา ดังนั้นจึงต้องมาทางแทรกเพื่อคง 279 มาตราไว้ ดังนั้นต้องยึดหลักว่าเมื่อไปทำประชามติแล้วประชาชนก็โหวตรับแล้วก็แปลว่ารับตามนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า สนช.ตีความคำว่า “ร่วมพิจารณา” หมายถึงให้ ส.ว.ร่วมเสนอชื่อนายกฯ ตั้งแต่แรก นายมีชัยกล่าวว่า ใครคิดอะไรก็แสดงออกได้ไม่มีปัญหาอะไร ตนไม่สามารถตอบได้ ดังนั้น จึงขอให้รอวันที่ 24 ส.ค.นี้ ถ้า กรธ.เขียนเสร็จก็จะนำมาเปิดเผย โดยจะมีคำอธิบายกำกับ และจะเขียนออกมาให้ชัดไม่ต้องไปแปลความ ยกเว้นบางคำที่เราแก้ไม่ได้ เช่น คำว่า นับแต่วันที่มีรัฐสภา เป็นต้น ซึ่ง กรธ.คิดว่าเป็นภาษาชาวบ้าน ทั้งทีความจริงอยากเขียนให้ชัดกว่านี้ แต่เมื่อใช้คำนี้ไปถามประชาชน กรธ.ก็ต้องใช้คำนี้
ต่อข้อถามว่า การปรับแก้มีประเด็นอะไรที่เป็นกังวลหรือกดดันบ้างหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ไม่กดดัน เพราเป็นหน้าที่ของ กรธ.ที่ต้องปรับแก้ไข ถามว่าต้องรับข้อเสนอของเครือข่ายแม่น้ำ 5 สายมาปรับแก้ไขทั้งหมดด้วยหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า “เหมือนกับที่ผู้หญิงไปรับหมั้นชายหนุ่มแล้ว ภายหลังมีหนุ่มมาชอบ ก็คงจะสายไปแล้ว”
ส่วนข้อเสนอของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ที่มองว่าในกระบวนการเสนอชื่อนายกฯ ส.ว.ควรเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหากรณีที่คนที่ประชาชนชอบไม่ได้รับเลือกตั้งเพื่อแก้ไขเดดล็อกทางการเมือง นายมีชัยกล่าวว่า หากเสนอตอนทำร่างรัฐธรรมนูญก็อาจเป็นไปได้ แต่ตอนนี้มันผ่านไปแล้ว
“ในร่างรัฐธรรมนูญมีทางออกโดยธรรมชาติอยู่แล้ว คือ ให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งหากสภาฯ ชุดแรกหลังจากการเลือกตั้ง คุยกันไม่ลงตัว รัฐบาลปัจจุบันก็จะอยู่ไป ทั้งนี้การนับวาระของรัฐบาลใหม่นั้นให้เริ่มจากวันเลือกตั้ง ดังนั้น หากนักการเมืองตกลงกันไม่ได้จนเวลาเลยไปกว่า 2 ปี รัฐบาลปัจจุบันก็จะอยู่ต่อไป และหากในช่วงผ่านไป 2 ปีแล้วตั้งรัฐบาลได้ เขาจะมีวาระอยู่ในตำแหน่งเพียง 2 ปีที่เหลือ ดังนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่นักการเมืองต้องรีบตกลงกันให้ได้โดยเร็ว”