xs
xsm
sm
md
lg

ผู้รับเหมา “คลองด่าน” แนะรัฐปัดฝุ่นบ่อบำบัดน้ำเสีย ยันค่าเสียหายที่ได้รับไม่ใช่ “ค่าโง่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
“วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง” หนึ่งในกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ผู้รับเหมาก่อสร้างคลองด่าน เสนอรัฐบาลปัดฝุ่นบ่อบำบัดน้ำเสีย ใช้งบซ่อมบำรุง 2-4 พันล้านเท่านั้น ระบุได้ประโยชน์กว่าคิดโครงการใหม่ที่หาทางออกแก้มลพิษไม่ได้ แจงกลุ่มผู้เลี้ยงหอยที่คัดค้าน น้ำเสียที่ผ่านบำบัดไม่ได้กระทบ ดีกว่าปล่อยให้น้ำที่ไม่ได้บำบัดลุกลามจนเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ได้ วอนขอความเป็นธรรมค่าเสียหายตามคำสั่งศาลที่ถูก ปปง.อายัด แจงไม่ใช่ค่าโง่ แต่เป็นค่าก่อสร้างที่ลงทุนไปแล้ว

วันนี้ (27 ก.ค.) ที่อาคารชวนะนันท์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่อเวลา 10.30 น. นายวรวิทย์ ชวนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ในฐานะอดีตผู้อำนวยการโครงการกิจการร่วมค้า NVPSKG ผู้รับเหมางานก่อสร้างโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ (โครงการคลองด่าน) ได้แถลงข่าวเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนนำโครงการคลองด่านกลับมาใช้ประโยชน์ โดยระบุว่าเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และใกล้เคียง ตลอดจนเพื่อให้ไม่สูญเสียเงินงบประมาณของประเทศไปโดยเปล่าประโยชน์ กิจการร่วมค้าฯ จึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนการใช้งานโครงการคลองด่าน ดีกว่าปล่อยให้จมดินและเสื่อมสภาพไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งขณะนี้สิทธิครอบครองโครงการก็เป็นของรัฐบาลอยู่แล้ว สามารถทำทันที เพียงแต่รัฐบาลต้องมีแนวนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้มีการศึกษาและนำไปสู่กระบวนการในการซ่อมบำรุงพื้นที่และอุปกรณ์บางส่วนที่อาจจะได้รับความเสียหายจากการที่ไม่ได้ใช้งานมากว่า 12 ปี ทั้งนี้ หากมีสิ่งใดที่ทางกิจการร่วมค้าฯ สามารถช่วยเหลือเพื่อให้การใช้โครงการคลองด่านเกิดขึ้นได้ ก็มีความยินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่เหมือนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

“ถ้ารัฐบาลคิดที่จะนำโครงการคลองด่านมาใช้จริง ก็จะถือเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนในพื้นที่โดยรอบ รวมไปถึง กทม.และปริมณฑล ในเรื่องเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำ ที่สำคัญการใช้งบประมาณและยุ่งยากน้อยกว่าการที่จะริเริ่มโครงการใหม่ขึ้นมา ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าแล้วน่าจะสูงขึ้นถึง 4-5 เท่าตัวของมูลค่าโครงการ แต่การค่าซ่อมบำรุงนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ราว 2-4 พันล้านบาท ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปีก็สามารถใช้งานได้แล้ว” นายวรวิทย์กล่าว

นายวรวิทย์กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปีที่ผ่านมา กิจการร่วมค้าฯ ถูกมองและเหมารวมว่าร่วมในขบวนการทุจริตเกี่ยวกับโครงการคลองด่าน แต่ก็ไม่ได้ออกมาชี้แจงในข้อกล่าวหาต่างๆ เนื่องจากมีขั้นตอนการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมหลายเรื่อง ด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม จึงสงวนสิทธิ์ในการตอบโต้เรื่อยมา จนบัดนี้หลายคดีได้มีการตัดสินถึงที่สุด และชี้ว่ากิจการร่วมค้าฯ มิได้มีส่วนร่วมในการทุจริต หรือทำให้โครงการหยุดชะงักแต่อย่างใด จึงอยากใช้โอกาสนี้ชี้แจงให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้าใจในความจำเป็นของโครงการคลองด่าน ที่มีผลต่อการแก้ไขปัญหามลพิษน้ำเสียในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และบางส่วนของ กทม. และปริมณฑล เนื่องจากโครงการนี้ได้เริ่มศึกษาและวิเคราะห์จนออกมาเป็นโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย ตั้งแต่ปี 2537 ที่พบว่าสภาวะมลพิษและน้ำเสียในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เลวร้ายจนกระทั่งมีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ จึงริเริ่มโครงการคลองด่านขึ้นมาเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่

แต่เมื่อโครงการคลองด่านหยุดชะงักไปโดยการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทั้งที่การดำเนินการเสร็จเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และสามารถไปใช้งานได้ หากแต่มีการยกเลิกสัญญาอย่างไม่เป็นธรรมเสียก่อน ภาครัฐและประชาชนจึงไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ และที่สำคัญ นอกเหนือจากโครงการนี้แล้วก็ยังไม่มีโครงการหรือแผนงานใดๆ ในการควบคุมและแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่ จ.สมุทรปราการเกิดขึ้นอีกเลย ตรงนี้ถือเป็นความเสียโอกาสของทั้งประชาชนและประเทศชาติ จากกลุ่มบุคคลที่มุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองจนทำให้เกิดความเสียหายมาจนถึงทุกวันนี้

นายวรวิทย์กล่าวอีกว่า การนำโครงการคลองด่านมาใช้ประโยชน์ จะเป็นการพิสูจน์ความจริง และคุณภาพในการที่จะจะสามารถแก้ไขปัญหามลพิษน้ำเสียในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และบางส่วนของ กทม.และปริมณฑลได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาในการส่งมอบงานตลอด 98% ได้มีการตรวจรับงาน และทดลองการใช้งานจริงทุกครั้ง โดยบริษัทที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลกอย่างน้อย 3 แห่งด้วยกัน จึงสามารถพูดได้ว่าโครงการคลองด่านก่อสร้างและออกแบบอย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นไปตามมีคนบางกลุ่มพยายามโจมตีมาโดยตลอด

ส่วนที่มีการคัดค้านโดยอ้างว่าเป็นประชาชนในพื้นที่นั้น คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ หรือเลี้ยงหอยในพื้นที่ชายฝั่งใกล้กับคลองด่าน ก็เกรงว่าจะมีผลกระทบต่ออาชีพ แต่เราก็เคยนำน้ำที่ได้จากการบำบัดไปทดสอบ ปรากฎว่าไม่ได้ส่งผลต่อสัตว์น้ำ ในทางกลับกัน น้ำที่ได้จากการบำบัดยังมีส่วนของอาหารให้แก่สัตว์ทะเลอีกด้วย แต่หากยังปล่อยให้มีการปล่อยน้ำเสียโดยไม่มีการบำบัดลงในทะเลเพิ่มมากขึ้น พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำลดลงและลุกลามจนหลายจุดไม่สามารถเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลได้แล้วอย่างเช่นในปัจจุบัน

ส่วนที่มีข้อเสนอให้ใช้พื้นที่โครงการคลองด่านสำหรับเป็นที่เพาะเลี้ยงปลาหรือสัตว์ทะเลนั้น ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการมองว่า เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์ ผลที่ได้รับก็จะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะโครงการนี้ออกแบบมาเพื่อบำบัดน้ำสียโดยเฉพาะ

นายวรวิทย์กล่าวด้วยว่า อีกประการที่อยากให้สังคมได้เกิดความเข้าใจ คือค่าเสียหายที่ทางกิจการร่วมค้าฯ ได้รับชดเชยตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ชี้ว่า การยกเลิกสัญญาเมื่อปี 2546 เป็นไปโดยไม่ถูกต้องนั้น และเรากำลังเรียกร้องจากการอายัดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นั้น เป็นค่าอิฐหินดินทราย ค่าอุปกรณ์ ค่าจ้างคนงาน ที่ทางกิจการร่วมค้าฯ ได้ลงทุนไป มีหลักฐานจากการก่อสร้างและส่งมอบโครงการที่เสร็จสิ้นไปแล้วถึง 98% ต่างจากค่าชดเชยในโครงการใหญ่อื่นๆ ที่ถูกเรียกว่าเป็นค่าโง่ เนื่องจากโครงการเหล่านั้นมีการก่อสร้างไปเพียงบางส่วน ยังไม่สามารถใช้งานได้ การเรียกร้องค่าเสียหายของเอกชน จึงไปในลักษณะของค่าเสียโอกาสทางธุรกิจมากกว่า เงินลงทุนที่สูญเสียไปเหมือนอย่างที่กิจการร่วมค้าฯประสบอยู่มาตลอดระยะเวลา 12 ปี

“เราลำบากใจที่ถูกมองว่าค่าชดเชยส่วนนี้เป็นค่าโง่ เพราะแท้จริงแล้วค่าชดเชยที่เกิดขึ้นถือเป็นเงินค่างานที่เกือบเสร็จสิ้นแล้วเกือบ 100% และถือเป็นเงินค่าอิฐกินปูนทรายที่กิจการร่วมค้าฯ ลงทุนลงแรงไป แตกต่างจากคำว่าค่าโง่ที่เกิดขึ้นจากหลายๆ กรณีที่เกี่ยวกับโครงการของรัฐ ที่เป็นการเรียกร้องค่าเสียโยชน์ทางการธุรกิจมากกว่าเงินที่ลงทุนไปกับโครงการ” นายวรวิทย์ระบุ

นายวรวิทย์กล่าวอีกว่า สำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ภาครัฐต้องไปเรียกร้องกับผู้ที่ยกเลิกโครงการนี้อย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษเองก็ได้มีหนังสือให้บุคคลชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายต่อกรมควบคุมมลพิษ ทั้งการเป็นต้นเหตุให้รัฐเสียค่าชดเชยโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่อ้างสัญญาเป็นโมฆะ และสั่งยุติโครงการ จนทำให้รัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์โครงการ ตลอดจนค่าปรับปรุงอุปกรณ์ระบบเพื่อให้กลับมาใช้งานได้จริง ก็ต้องเรียกร้องจากคนกลุ่มนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลในการยกเลิกสัญญาที่ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ในขณะนั้นระบุว่ามีบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียถอนตัวออกจากกิจการร่วมค้าฯ ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญา ส่งผลให้สัญญาเป็นโมฆะ นายวรวิทย์กล่าวยืนยันว่า ในขณะที่มีการลงนามในสัญญา บริษัท นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ยังอยู่ในกิจการร่วมค้าฯ แต่ได้ถอนตัวไปในภายหลัง ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง

ในขณะที่กรมควบคุมมลพิษพิจารณาว่าสัญญาเป็นโมฆะก็ไม่เคยให้โอกาสกิจการร่วมค้าฯ เข้าไปชี้แจง เรื่องนี้ได้มีการไต่สวนจนเป็นสิ้นสุดแล้วในชั้นศาล ที่ชี้ว่าสัญญาโครงการนี้ถูกต้อง ไม่ได้เป็นไปอย่างที่นักการเมืองและข้าราชการบางคนกล่าวหา เป็นที่มาของคำสั่งให้รัฐชดใช้ค่าเสียหายแก่กิจการร่วมค้าฯ ขณะเดียวกันก็ลงโทษนักการเมืองและข้าราชการบางคนที่เกี่ยวข้องตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว

ส่วนความคืบหน้าในการอุทธรณ์ต่อ ปปง. ให้ถอนอายัดเงินและสิทธิการเรียกร้องค่าชดเชยที่กิจการร่วมค้าฯ ต้องได้รับตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดนั้น นายวรวิทย์เปิดเผยว่า ทาง ปปง.มีระยะเวลาในการพิจารณา 90 วัน ซึ่งขณะนี้ผ่านไปแล้ว 60 กว่าวัน และทางกิจการร่วมค้าฯ ก็ได้ส่งคำชี้แจงไปแล้ว 2-3 ครั้ง ก็กำลังรอผลการพิจารณาของทาง ปปง.อยู่ หากไม่มีความคืบหน้าหรือยังยืนยันที่จะอายัดในส่วนนี้ต่อไป ก็คงต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล

อนึ่ง วันเดียวกัน ผู้แทนกิจการร่วมค้า NVPSKG ได้เข้ายื่นหนังสือถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อร้องขอความเป็นธรรมกรณีที่ ปปง.สั่งอายัดเงินและสิทธิการเรียกร้องค่าชดเชยที่กิจการร่วมค้าฯ ต้องได้รับตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น