xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทร่วมค้าฯ ยื่น ปปง.ขอถอนอายัดค่าโง่คลองด่าน อ้างไม่มีเอี่ยวโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลุ่ม NVPSKG ยื่น ปปง.ขอเพิกถอนอายัดค่าชดเชยการเลิกสัญญาบ่อบำบัดคลองด่าน กว่า 5 พันล้าน วอนสังคมอย่าเหมารวมมีเอี่ยวโคตรโกง ต้องแยกแยะใครทำให้เกิดปัญหา ยันไม่เกี่ยว “วัฒนา” ถูกตัดสินมีความผิดเรื่องที่ดิน

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ถ.พญาไท นายไพสิฐ อิ่มเจริญกุล ทนายความและผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือและหลักฐานเอกสารต่อ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง. เพื่อขอให้เพิกถอนการอายัดทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องการรับค่าเสียหายในโครงการออกแบบร่วมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ หรือโครงการโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน งวดที่ 2 และ 3 ที่กรมควบคุมมลพิษ ต้องชำระให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยมี ร.ต.อ.ไพรัตน์ เทศพานิช เลขานุการกรม เป็นผู้รับมอบหนังสือ

จากนั้นนายไพสิฐได้ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 สำนักงาน ปปง.ได้มีหนังสือถึงกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ เพื่อแจ้งอายัดการชำระเงินงวดที่ 2 และ 3 ของกรมควบคุมมลพิษ โดย ปปง.อ้างว่า เป็นการดำเนินการตามที่ นักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ประสานมา โดยได้กล่าวหาว่าเงินดังกล่าวได้มาจากการกระทำความผิด ซึ่งเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3(5) (15) และ (18) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รวมทั้งอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีที่พิพากษาให้นายวัฒนา อัศวเหม ถูกฟ้องเกี่ยวกับที่ดิน และคำพิพากษาศาลอาญาที่ข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ ถูกฟ้องว่าทุจริต มาเป็นหลักฐานในการกล่าวหา ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า กรณีที่นายวัฒนาถูกตัดสินความผิดเรื่องบังคับข่มขืนใจข้าราชการเกี่ยวกับที่ดินเกิดตั้งแต่ช่วงปี 2534-2536 ขณะที่โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่านเกิดขึ้นช่วงปี 2538 และกิจการร่วมค้าฯ ตั้งขึ้นหลังจากนั้น หากนายวัฒนามีความผิดเรื่องที่ดินก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกิจการร่วมค้าฯ อีกทั้งคดีของนายวัฒนามีคำพิพากษาตั้งแต่ปี 51 แต่เหตุใด ปปง.จึงเพิ่งยกคำพิพากษาดังกล่าวขึ้นมาใช้กล่าวหากิจการร่วมค้าฯ ในขณะนี้

“คำสั่งอายัดดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องของบริษัทฯ และส่งผลต่อความเชื่อมันของนักลงทุน ทั้งยังอาจส่งผลให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของภาครัฐ จึงเดินทางเข้ายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และขอยืนยันว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าฯไม่ได้ทำกระทำความผิดในการให้การสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำการทุจริต ตามที่ ปปง.กล่าวหา ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้น ป.ป.ช.ได้เคยมีมติไม่ชี้มูลความผิดมาก่อนแล้ว ทาง ปปง.จึงไม่ควรนำมากล่าวหาซ้ำ”

นายไพสิฐกล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ปปง.และผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อเท็จจริงการถูกยกเลิกสัญญาอย่างไม่เป็นธรรมของกิจการร่วมค้าฯ ซึ่งทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับถูกกล่าวอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะจากเหตุผลทางด้านการเมืองในช่วงที่เกิดปัญหา โดยมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รัฐบาลพรรคไทยรักไทย) เป็นผู้มีส่วนทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงการ เมื่อสั่งการให้ข้าราชการยกเลิกสัญญากับทาง กิจการร่วมค้าฯ แม้จะมีผู้ท้วงติงก็ตาม อีกทั้งก่อนหน้านั้นนายประพัฒน์ก็ยังให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม NGO ที่ประท้วงไม่เอาโครงการอย่างเต็มที่ จนโครงการฯต้องล่าช้าออกไป ซึ่งนายประพัฒน์ก็ได้เบิกความในชั้นศาลว่า พยายามหาทางชะลอโครงการไว้ โดยกล่าวอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะเพื่อดึงเอกชนให้เข้ามาเจรจาอีกด้วย ที่สำคัญนายประพัฒน์ยังเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่ามีการนำโครงการคลองด่านมาเป็นเครื่องมือเพื่อบีบนักการเมืองใหญ่บางคนให้เข้าร่วมพรรคไทยรักไทย (ในตอนนั้น)

ส่วนแนวคิดการรื้อฟื้นคดีความต่างที่ภาครัฐเสียประโยชน์ของรัฐบาลที่มีคดีคลองด่านรวมอยู่ด้วยนั้น นายไพสิฐกล่าวว่า กิจการร่วมค้า NVPSKG เห็นด้วยกับรัฐบาลว่า ในการหาผู้รับผิดชอบในความเสียหายอย่างมหาศาล ทั้งเงินภาษีกว่าหลายหมื่นล้านบาท และเสียประโยชน์จากการใช้ประโยชน์จากโครงการ เพียงเพื่อสนองตัณหาข้าราชการ และนักการเมืองที่ต้องการตำแหน่ง และอำนาจทางการเมือง แต่ควรดำเนินการตามข้อเท็จจริง นำคนผิดที่แท้จริงมาลงโทษ และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยต้องระมัดระวังว่าการรื้อฟื้นคดีจะไม่ได้เป็นไปในลักษณะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคดีโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่านในส่วนของกิจการร่วมค้าฯนั้นถือว่าเป็นที่สุดแล้ว ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการรื้อฟื้นคดีในส่วนนี้

“ที่ผ่านมากิจการร่วมค้าฯ ตกเป็นเหยื่อทางการเมือง และเป็นจำเลยสังคม ถูกตราหน้าว่าร่วมทุจริต ถูกกล่าวหาด้วยข้อความอันเป็นเท็จในหลายกรณี ตลอดจนถึง ปปง.ในครั้งนี้ ทั้งที่ได้รับความเสียหายอย่างมากในฐานะคนทำงานแต่ไม่ได้รับค่าจ้างมาเป็นเวลานาน รวมทั้งอยากให้สังคมพิจารณาด้วยใจที่เป็นธรรมว่า โครงการคลองด่านไม่ใช่มหากาพย์แห่งการโกงอย่างที่เข้าใจกัน มิฉะนั้นแล้วเหตุใดเอกชนชนะคดีในชั้นศาล ทั้งๆ ที่มีการประโคมข่าวตลอดมาว่ามีหลักฐานการโกงชัดเจน ต้องดูว่าโครงการมีปัญหาเพราะใคร ใครที่มากล่าวอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะ ทั้งๆ ที่โครงการใกล้แล้วเสร็จเหลืออีกเพียง 2% เท่านั้น เหตุใดถึงมีการกล่าวอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะในช่วงนั้น ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหับกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ประกอบด้วย บริษัท วิจิตรภัณฑ์ ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด, บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด, บริษัท เกตเวย์ ดิเวล ลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด โดยเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้างและค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 9 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 90 วัน ให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2558 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จ่ายเงินงวดแรกให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2559 คณะกรรมการธุรกรรม สำนักงาน ปปง.มีมติอายัดทรัพย์สิน และสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามข้อตกลงที่กรมควบคุมมลพิษต้องชำระให้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ จำนวน 2 งวดที่เหลือ รวมมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น