รองนายกฯ ระบุหลัง ปปง.อายัดทรัพย์เรียกร้องหนี้ของเอกชนคดีคลองด่าน รัฐจึงยังไม่ต้องจ่ายค่าโง่งวดที่ 2 และ 3 เพื่อรอกระบวนการพิจารณาให้จบ ส่วนจะยื่นศาลปกครองสูงสุดให้รื้อฟื้นคดีหรือไม่ ยังไม่ขอตอบ กังขา ป.ป.ช.ไม่ฟ้องเอกชน ฟันแค่เจ้าหน้าที่รัฐ 3 คน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติให้อายัดทรัพย์สินจากการกระทำผิดของกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามข้อตกลงที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องจ่ายให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ในคดีคลองด่านว่า ปปง.ใช้อำนาจตามมาตรา 48 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สั่งอายัดสิทธิเรียกร้องของกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG จากรัฐในการชำระเงินงวดที่ 2 ใน วันที่ 21 พ.ค. และการชำระงวดที่ 3 ในวันที่ 21 พ.ย.ซึ่งตามกฎหมาย ปปง.สามารถทำได้และทำมาเยอะแล้ว เพราะถือว่าสิทธิเรียกร้องเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ปปง. ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล และไม่ใช่เรื่องของคู่สัญญาอย่างกรมควบคุมมลพิษ อีกทั้งไม่ใช่การเบี้ยวหรือบิดพลิ้ว เพราะรัฐบาลพร้อมจะชำระ แต่เมื่อ ปปง.มีคำสั่งเช่นนั้นกระบวนการจึงต้องหยุดก่อน นอกจากนี้ คำสั่งอายัดของ ปปง.ถือเป็นคนละเรื่องกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่รัฐจ่ายค่าเสียให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG
นายวิษณุกล่าวว่า ทั้งนี้ ปปง.มีอำนาจอายัดทรัพย์ได้ 90 วัน โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าต้องมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน ถ้าไม่เกี่ยวข้อง ปปง.จะปล่อยไป แต่ถ้าเกี่ยวข้อง ปปง.ไม่เชื่อตามที่มีการชี้แจง จะมีการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการ ปปง.เพื่อให้ลงมติว่าจะฟ้องต่อศาลให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินเลยหรือไม่ และถ้ามีมติให้ฟ้อง คดีจะไปสู่ชั้นศาล ปปง.เป็นโจกท์ กิจการร่วมค้าเป็นจำเลย ศาลตัดสินอย่างไรก็ตามนั้น แต่ถ้ากิจการร่วมค้าชี้แจงได้จน ปปง.ไม่ติดใจ ปปง.ถอนอายัดเมื่อไหร่ รัฐบาลก็ยินดีจะจ่าย และถึงตอนนั้นหากจะเจรจาขอลดหย่อนอะไรกันก็แล้วแต่ ทั้งนี้ระหว่างที่มีการอายัดรัฐไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินในงวดที่ 2 และไม่มีดอกเบี้ยเพิ่ม
ส่วนที่มีกระแสข่าวให้รัฐบาลยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้รื้อฟื้นคดีคลองด่านขึ้นมาอีกครั้งนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ขอพูดเท่าที่พูดได้ บางส่วนยังไม่สมควรที่จะพูด เนื่องจากต้องไปหาข้อมูลให้ชัดเจนกว่านี้ โดย 3-4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องหนึ่งที่มีคนเสนอทางออก แต่ตนขอยังไม่พูด เพราะเป็นสิ่งที่ตกลงกันไว้ว่ายังไม่ควรที่จะพูดเรื่องนี้ เดี๋ยวเสียรูปคดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการยกแนวคำพิพากษาศาลฎีกาคดีค่าโง่ทางด่วนบางนา-บางปะกง 6,000 ล้านบาท ซึ่งศาลฎีกาฯ วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาไม่ชอบกฎหมาย เพราะมีการทุจริตตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินชดใช้ให้กับบริษัทเอกชนมาเป็นแนวทางในการต่อสู้คดี นายวิษณุกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหยิบยกตัวอย่างเรื่องนี้ในที่ประชุมเพื่อให้เห็นอะไรบางอย่าง แต่หลายฝ่ายในที่ประชุมมองว่าเป็นคนละนัยกัน
ส่วนการรื้อฟื้นคดีในศาลปกครองสูงสุดนั้น ตามมาตรา 75 ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองบัญญัติว่า เมื่อคดีที่ศาลปกครองตัดสินถึงที่สุดแล้วหากปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปก็สามารถให้คู่กรณีหรือบุคคลที่มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองรับเรื่องไว้พิจารณาใหม่ได้ แต่ต้องทำภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าข้อเท็จจริงมันเปลี่ยนแปลง ซึ่งตนไม่ขอตอบว่ากระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นแล้วหรือไม่ และไม่ขอตอบว่าจะได้ความชัดเจนเรื่องนี้เมื่อใด เพราะตนก็ไม่ทราบ
ต่อข้อถามว่า การที่ ปปง.อายัดทรัพย์โดยอ้างคำพิพากษาของศาลอาญาถือว่ามีแนวโน้มที่ดีต่อรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ศาลอาญาไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ศาลอาญาเพียงแค่ตัดสินเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2558 ในคดีบุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 ราย ประกอบด้วย นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม, นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์พิบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา ขณะดำรงตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2558 ว่ามีความผิดจริงตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล ซึ่งคำพิพากษาของศาลยังพูดเลยไปว่า เนื่องจากไปกระทำสิ่งที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มกิจการร่วมค้า แต่ต้องเข้าใจว่ายังไม่ถึงที่สิ้นสุด ทราบว่าจำเลยได้อุทธรณ์ ขณะเดียวกัน กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ไม่ได้เป็นจำเลยร่วมด้วย จึงจะเอาคำพิพากษาไปบอกว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เองไม่ได้ ดังนั้นในส่วนของรัฐที่จะไปดำเนินการอะไรตรงนี้มันจะยาก
นายวิษณุกล่าวว่า อีกเรื่องที่ตนขอย้ำว่า เรื่องนี้ ป.ป.ช.เป็นคนชี้มูลและส่งฟ้องต่อศาลอาญา เลยถามว่าทำไมเมื่อเริ่มตั้งแต่ต้น ป.ป.ช.ไม่ฟ้องเอกชนไปด้วย ตรงนี้คือคำถามที่ยังต้องการคำตอบ เพราะมันเริ่มมาด้วยกัน มีผู้เกี่ยวข้องมาจำนวนหนึ่งแล้วบอกว่าคนอื่นไม่เกี่ยวข้อง ปล่อยไปให้หมด เอาเฉพาะจำเลยทั้ง 3 คนนี้ แต่เมื่อศาลลงโทษ 3 คนนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ควรพูด มีอะไรที่ต้องไปหาคำตอบบางอย่าง