xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผย ป.ป.ง. รู้วิธีเอาคืนค่าโง่คลองด่านงวดแรก - แจงตั้ง “ชัยยะ” เลขาฯ ป.ป.ง. ถ้าสรรหาจะนานไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกรัฐมนตรี แจงเงินค่าโง่คลองด่านงวดที่ 1 ป.ป.ง. รู้วิธีเอาคืน แต่ไม่ขอพูดวิธีการ แจงให้คลังยื่นฟ้องเพราะเป็นผู้เสียหาย จ่อยึดทรัพย์ผู้รับเหมาหากไม่ชี้แจง เชื่อทรูถอนตัวประมูลคลื่น 900 ไม่กระทบ แม้จะเหลือเอไอเอสรายเดียว แจงหลักเกณฑ์ควบคุมการจัดหลักสูตรอบรมของหน่วยงานรัฐ ให้เป็นแนวทางปฏิบัติ เตือนไม่ปฏิบัติตามผิดวินัย แจงให้ “ชัยยะ” เป็นเลขาฯ ป.ป.ง. หากให้สรรหาจะนานไป เชื่อได้เก้าอี้เพราะทำงานถนัด

วันนี้ (17 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กรมควบคุมมลพิษระงับการชำระเงินให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG งวดที่ 2 และ 3 ในคดีก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ไปก่อนว่า สำหรับที่มีการชำระงวดที่ 1 ถือว่าจบไปแล้ว แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป มันมีวิธีการ ยังไม่ต้องพูดในตอนนี้ ส่วนรัฐจะได้เงินคืนหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ยังไม่ขอพูดในส่วนนี้ เพราะของที่จ่ายไปแล้ววิธีที่จะเอากลับมาเป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่งวดที่ยังไม่ได้จ่ายมันเป็นอีกวิธีหนึ่ง คนละเรื่องอย่าเอามาปนกัน และเหตุที่ต้องให้ระงับการจ่ายงวดที่ 2 และ 3 ก่อน เพราะก่อนหน้านี้ครม.เคยมีมติให้จ่ายเงินเป็น 3 งวด เมื่อมีการระงับการจ่ายจึงต้องมีมติออกมา ไม่เช่นนั้นกรมควบคุมมลพิษจะผิด

ส่วนที่ให้กระทรวงการคลังเป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้พิจารณาคดีก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านใหม่ เนื่องจากเป็นผู้เสียหาย เหตุที่ไม่ให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ยื่นเพราะกรมควบคุมมลพิษเป็นคู่สัญญา ไปคุยเรื่องประนีประนอมกับเขาไว้ในการผ่อนชำระ 3 งวด การจะบอกว่าขอเลิกไม่จ่ายจะกลายเป็นคนผิดสัญญาเจรจาไป ส่วนอายุความในการฟ้องศาลปกครองนั้นมีเวลา 90 วันตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้ กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการ

รองนายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ ป.ป.ง. มีระยะเวลาในการอายัดสิทธิ์ในการเรียกร้องหนี้ของกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG จำนวน 90 วัน มีเวลาให้เขาชี้แจง 30 วัน ถ้าฟังไม่ขึ้น ป.ป.ง. ต้องฟ้องศาลเพื่อขอยึดทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดิน โดยระหว่างคดีอยู่ในชั้นศาล ทรัพย์นั้นก็ยังถูกอายัดอยู่จนกว่าคดีจะจบ ซึ่งการที่เขาจะมาเอาเงินของเขาได้นั้นต้องรอศาลตัดสิน

นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถอนตัวจากการประมูลคลื่นความถี่ 4 จี ทำให้เหลือหรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส บริษัทเดียวว่า แนวทางหลังจากนี้สามารถเดินหน้าประมูลต่อได้ เพราะในคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งร่างตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นผู้ร่างขึ้นมาได้ระบุเรื่องดังกล่าวแนบท้ายไว้อยู่ ทำให้สามารถดำเนินการต่อได้ โดยมีราคาตั้งต้นการประมูล 7.5 หมื่นล้านบาทตามเดิม

นายวิษณุ กล่าวถึงหลักเกณฑ์ควบคุมการจัดหลักสูตรอบรมของหน่วยงานรัฐว่า เป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปพิจารณาแล้วปรับตัวเองให้เข้ากับแนวทาง ถามว่าหากไม่ปฏิบัติได้หรือไม่ก็ตอบว่าได้ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามแนวทางซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงบประมาณอาจตัดงบประมาณหน่วยงานนั้นที่ไม่ทำตาม

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามมีโทษทางวินัยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามก็คงจะได้เห็น เพราะ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน มาตรา 84 บัญญัติว่าผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติครม.ให้ถือว่าเป็นความผิดวินัย ก็ลองดู

ส่วนแนวทางดังกล่าวจะแก้ปัญหาคอนเนกชันที่ฝังรากลึกได้หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า บางเรื่องอาจต้องใช้เวลา เรื่องคอนเนกชั่นก็เหมือนกฎหมายทั้งหลาย ขนาดออกกฎหมายห้ามจอดรถในที่ห้ามจอด แล้วทำไมถึงยังจอด ห้ามฆ่าคนทำไมถึงยังฆ่าคน ทุกอย่างมันมีคนฝ่าฝืนได้ แต่ตนเชื่อว่าคงจัดการได้ โดยเฉพาะกับข้าราชการ และแม้แนวทางดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงหลักสูตรอบรมที่จัดโดยองค์กรอิสระ แต่ได้ประสานให้ดำเนินการโดยอนุโลม และเท่าที่ตนได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา ต่างยินดีปฏิบัติตาม

นายวิษณุ กล่าวถึงเหตุผลที่ใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 24/2559 แต่งตั้ง พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ว่า เนื่องจากเลขาธิการ ป.ป.ง. ครบวาระลง และดำรงตำแหน่งต่อไม่ได้ ซึ่งหากใช้วิธีรักษาการแทน แต่จะให้รักษาการต่อนานเกินไป จะไม่เหมาะในสายตาของระบบราชการ และต่างประเทศที่มองว่าเกิดอะไรขึ้น

ส่วนที่ต้องใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นเพราะกฎหมายเขียนไว้ว่า จะต้องตั้งกรรมการเพื่อไปวางหลักเกณฑ์สรรหาและมีต้องมีกระบวนการในการสรรหา จากนั้นต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะใช้เวลายาวหลายเดือน อีกทั้งคณะกรรมการดังกล่าวเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ที่ต้องประชุมวางหลักเกณฑ์ มีการเปิดรับสมัครบุคคล ตรวจคุณสมบัติ และดำเนินการจนจบกระบวนการสรรหาแล้วจึงนำเรื่องเข้าให้กรรมการ ป.ป.ง. ชุดใหม่

รองนายกฯ กล่าวว่า เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วเห็นว่า ขั้นตอนดังกล่าวไม่ไหว เพราะกระบวนการจะยาว ขณะเดียวกัน ถ้าจะให้รองเลขาฯ ป.ป.ง. ซึ่งเป็นซี 9 ขึ้นมารักษาการแทน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ได้ปรับขึ้นไปเป็นซี 11 ก็ไม่ได้ เพราะรองเลขาฯยังปรับตำแหน่งขึ้นมาเป็นซี 10 ไม่ทัน ดังนั้น การจะให้ซี 9 ขึ้นเป็นเลขาฯ ขึ้นซี 11 ก็ยังทำไม่ได้ ทั้งนี้ พล.ต.อ.ชัยยะ มีอายุราชการแค่ 1 ปี หากรอให้กรรมการสรรหาวางหลักเกณฑ์ ซึ่งกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จต้องใช้เวลาร่วม 1 ปี หากรอถึงตอนนั้น พล.ต.อ.ชัยยะ จะเกษียณอายุราชการพอดี ดังนั้น เมื่อติดขัด จึงต้องใช้มาตรา 44 มาแก้ปัญหาตรงนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลที่ คสช. เลือก พล.ต.อ.ชัยยะ ขึ้นมาทำหน้าที่มีเบื้องหลังอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่มีเบื้องหลัง อาจเป็นเพราะทำงานแบบนี้ได้ถนัด


กำลังโหลดความคิดเห็น