xs
xsm
sm
md
lg

ผู้รับเหมาคลองด่านยื่น ป.ป.ช.สอบ “ประพัฒน์-ธาริต” ยกเลิกโครงการทำรัฐเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - กลุ่มกิจการร่วมค้าฯลุยต่อร้อง ป.ป.ช. สอบ “ประพัฒน์ - พวก” ร่วมขบวนการล้ม "คลองด่าน" ไม่ชอบ เอื้อประโยชน์พรรค "ธาริต" โดนหางเลขด้วย เหตุมีพยานมัดกล่อมเอกชนให้ยอมรัฐ ทั้งที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง เผยยื่นศาล ปค.บี้ ปปง.ถอนอายัดค่าเสียหาย

วันนี้( 13 ก.ค.)เมื่อเวลา 10.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายไพสิฐ อิ่มเจริญกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ผู้ดำเนินโครงการจัดการน้ำเสีย เขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ (โครงการคลองด่าน) ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, นายธาริต เพ็งดิษฐ์, นายสุรเชษฐ์ หรือ สิรภาพ ดวงสอดศรี, นายเสมอ ลิ้มชูวงศ์ และนายยงยุทธ ศรีสัตยาชน นายมนู ทองศรี หรือธิติ กนกทวีฐากร ฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งมิชอบ ข่มขู่หรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 มาตรา 151 และมาตรา 157

โดยคำกล่าวหาระบุว่า นายประพัฒน์ ใช้อำนาจในฐานะ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยการย้ายนายอภิชัย จากตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ โดยแลกกับการกล่าวอ้างว่าสัญญาเป็นโมฆะให้ ซึ่งเป็นการเอาตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเข้าล่อเพื่อจูงใจให้นายอภิชัย กระทำการตามความต้องการของตนเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองที่นายประพัฒน์สังกัดอยู่ ในการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง และนายอภิชัยใช้อำนาจโดยมิชอบในการกล่าวอ้างว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ ทำให้โครงการคลองด่านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จไป 98% และมีการจ่ายเงินค่างานไปมากกว่าหมื่นล้านบาท ต้องถูกทิ้งโดยไม่มีการใช้ประโยชน์
 
ส่วนนายธาริต นายสุรเชษฐ์ นายเสมอ นายยงยุทธ และนายมนู ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กิจการร่วมค้าฯ และกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากในขณะที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารสัญญาโครงการคลองด่าน ได้สนองนโยบายที่มิชอบด้วยกฎหมายของนายประพัฒน์ ด้วยการมีมติว่าสัญญาเป็นโมฆะ จนทำให้กรมควบคุมมลพิษถูกกิจการร่วมค้าฯฟ้อง และเกิดความเสียหายมูลค่าเกือบหมื่นล้านบาท

โดยนายไพสิฐ กล่าวว่า หลักฐานสำคัญที่นำมายื่นประกอบคือ คำสั่งกรมควบคุมมลพิษที่ให้นายประพัฒน์และพวกที่เกี่ยวข้องต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแก่เจ้าหน้าที่ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด รวมถึงคำให้สัมภาษณ์ และคำเบิกความของนายประพัฒน์ในชั้นศาลซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่เอื้อพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัด ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่มีนายธาริตอยู่ด้วยนั้น ได้แนะนำว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะแน่นอน และพยายามเดลี้ยกล่อมให้เอกชนยอมรับการยกเลิกสัญญา แล้วค่อยหาทางแก้ไขทีหลัง แสดงว่ารู้ว่าการยกเลิกสัญญาไม่ชอบตั้งแต่แรก

นายไพสิฐ ยังกล่าวถึงกรณีกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดค่าสินไหมทดแทนและสิทธิในการเรียกร้องเงินชดเชยว่า เรื่องนี้กิจการร่วมค้าฯเห็นว่า ปปง.ดำเนินการอย่างไม่ธรรม และได้ยื่นขอให้ ปปง.ถอนอายัด รวมถึงส่งหนังสือชี้แจงไปเพิ่มเติม แต่ยังไม่มีการตอบกลับจาก ปปง. โดย ปปง.มีอำนาจในการพิจารณาไม่เกิน 90 วันหลังจากที่ได้มีคำสั่งอายัดออกมาเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้วด้วย

"ค่าชดเชยที่ ปปง.อายัดนั้นไม่ใช่เงินที่เกิดจากการทำธุรกรรมตามคำพิพากษาศาลอาญาที่ตัดสินให้นายประพัฒน์และพวกมีความผิด ซึ่งไม่เกี่ยวกับกิจการร่วมค้าฯแต่อย่างใด เงินที่ถูกอายัดนั้นเป็นเงินที่ได้รับชำระตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และมติ ครม. จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจของ ปปง.ที่จะทำการยึดหรืออายัด ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ง.เพราะไม่ใช่เงินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด" ทนายความกิจการร่วมค้าฯระบุ





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น