xs
xsm
sm
md
lg

ไขข้อข้องใจ...อำนาจศาลปกครอง “คดีคลองด่าน”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

คดีโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีกรณีพิพาททั้งในเรื่องของสัญญาจ้างก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียระหว่างกรมควบคุมมลพิษ (ผู้ว่าจ้าง) กับ 6 บริษัท (ผู้รับจ้าง) ซึ่งได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองไปแล้ว และกรณีกล่าวหาว่ามีการร่วมมือกันทุจริตในโครงการที่มีการฟ้องร้องต่อศาลอาญาโดยคดียังไม่ถึงที่สุด

คดีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.487-488/2557 ให้กรมควบคุมมลพิษปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคือชำระค่าจ้างที่ค้างจ่าย 4 งวดสุดท้าย และค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นจำนวนเงินกว่า 9 พันล้านบาท แก่ 6 บริษัทคู่สัญญา

ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเมื่อโครงการดังกล่าวมีความไม่ชอบมาพากลเช่นนี้.... รัฐจึงไม่ควรต้องจ่ายเงินค่างวดงานให้แก่ 6 บริษัทคู่สัญญา และเหตุใดศาลปกครองจึงพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้างแก่บริษัทดังกล่าว

วันนี้...เรามาไขข้อข้องใจหรือคลายความสงสัยในประเด็นเกี่ยวกับคำพิพากษาและอำนาจของศาลปกครองในเรื่องดังกล่าวกันครับ

กรณีพิพาทในเรื่องสัญญาจ้างก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่านนี้ มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองโดยคดีนี้มิได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้ง
ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 (คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง) แต่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (6) แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน คือเป็นคดีพิพาทในเรื่องที่มีกฎหมายกําหนดให้อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครอง

ทั้งนี้ เนื่องจากคู่สัญญาคือกรมควบคุมมลพิษ และ 6 บริษัทผู้รับจ้าง ได้กำหนดเป็นข้อตกลงในสัญญาว่ากรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ
ซึ่งเป็นวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกที่คู่สัญญาทำความตกลงกันไว้ก่อนในสัญญา ซึ่งถือเป็นเจตนาของคู่สัญญาที่เลือกจะระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการดังกล่าว

โดย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ได้กำหนดให้คู่พิพาทฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ
คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการสามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ซึ่งกรณีนี้คือศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ และมาตรา 42 กำหนดให้ในกรณีที่คู่พิพาทไม่ยอมปฏิบัติตามคำ
ชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาทอีกฝ่ายสามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อบังคับให้มีการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้

คดีดังกล่าวจึงเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครอง เนื่องจากคู่พิพาททั้งสองฝ่ายได้ใช้สิทธิตามมาตรา 40 และมาตรา 42 ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 กล่าวคือ 6 บริษัทคู่สัญญาได้ขอใช้สิทธิตามมาตรา 42 ร้องขอให้ศาลปกครองบังคับให้กรมควบคุมมลพิษปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ชำระเงินค่าจ้างแก่บริษัทคู่สัญญา ส่วนกรมควบคุมมลพิษก็ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 40 ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทในเรื่องที่มีกฎหมายกําหนดให้อยู่ในเขตอํานาจของศาลปกครองดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยเรียกบริษัทผู้รับจ้างว่า “ผู้ร้อง” และเรียกกรมควบคุมมลพิษว่า “ผู้คัดค้าน” โดยศาลปกครองจะมีอำนาจทบทวนหรือตรวจสอบคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อกฎหมายที่กำหนด ซึ่งแม้ว่ากฎหมายจะให้อำนาจศาลในการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ แต่ก็กำหนดลักษณะที่ศาลจะเพิกถอนไว้ค่อนข้างจำกัด

กรณีจึงต่างจากการที่คู่พิพาทนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองโดยตรง ซึ่งจะเรียกคู่พิพาทว่า
“ผู้ฟ้องคดี” กับ “ผู้ถูกฟ้องคดี” และศาลปกครองจะมีอำนาจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีและสามารถแสวงหาข้อเท็จจริงในเนื้อหาของคดีเองได้

ถึงตรงนี้... ท่านผู้อ่านจะเห็นถึงความแตกต่างของอำนาจศาลปกครองในการพิจารณาคดีที่ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับคดีที่ฟ้องร้องต่อศาลปกครองโดยตรงแล้ว

ดังนั้น การที่ศาลปกครองจะเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการได้จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 40 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้สามารถเพิกถอนคำชี้ขาดได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า

(ก) คู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น

(ข) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้หรือตามกฎหมายไทยในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว

(ค) ไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราะเหตุประการอื่น

(ง) คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ แต่ถ้าคำชี้ขาดที่วินิจฉัยเกินขอบเขตนั้นสามารถแยกออกได้จากคำชี้ขาดส่วนที่วินิจฉัยในขอบเขตแล้ว ศาลอาจเพิกถอนเฉพาะส่วนที่วินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือข้อตกลงนั้นก็ได้ หรือ

(จ) องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นองค์ประกอบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้

(2) มีกรณีปรากฏต่อศาลว่า

(ก) คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย หรือ (ข) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

คดีนี้ศาลปกครองได้วินิจฉัยว่า กระบวนการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการที่ทำหน้าที่พิจารณา
ข้อพิพาทตามสัญญาก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียนั้นได้ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คดีจึงมีประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นคำชี้ขาดที่ศาล
เพิกถอนได้หรือไม่ ซึ่งก็คือมีลักษณะตามมาตรา 40 วรรคสาม ดังกล่าวหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษ (ผู้คัดค้าน) ชำระเงินค่าจ้าง 4 งวดสุดท้ายแก่ 6 บริษัทคู่สัญญา (ผู้ร้อง) ที่ได้ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแล้วเสร็จตามสัญญาและส่งมอบงานแล้ว ไม่มีลักษณะตามมาตรา 40 วรรคสาม ที่ศาลปกครองจะเพิกถอนได้

สำหรับประเด็นที่กรมควบคุมมลพิษยกเป็นข้อต่อสู้ในคดีว่า สัญญาจ้างก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่านเป็นโมฆะ ด้วยเหตุ 2 ประการ คือ 1.มีการสำคัญผิดในตัวคู่สัญญา โดยอ้างว่าผู้ร้องที่ 1-5 คือบริษัทคู่สัญญาได้หลอกลวงปกปิดข้อความจริงทำให้ผู้คัดค้านสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญา โดยเข้าใจว่ามีบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการบำบัดน้ำเสียเป็นคู่สัญญาด้วย แต่ความจริงไม่มีเพราะได้ถอนตัวไปก่อนการลงนามในสัญญา และ 2.มีการสำคัญผิดในทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม คือที่ดินที่ทำการก่อสร้าง โดยเป็นที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงพบว่าอธิบดีกรมควบคุมมลพิษได้เคยมีหนังสือแจ้งยินยอมให้ผู้ร้องที่ 6 เข้ามาเป็นคู่สัญญาแทนบริษัทนอร์ธเวสต์ วอเตอร์ฯ ดังกล่าวได้ จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องที่ 1 ถึง
ผู้ร้องที่ 5 ได้ปกปิดข้อเท็จจริงต่อผู้คัดค้าน จึงมิใช่การสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่อย่างใด ส่วนกรณีอ้างว่ามีการสำคัญผิดในทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันได้แก่ที่ดินสำหรับใช้ในโครงการ เมื่อที่ดินที่พิพาทเป็นที่ดินที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้คัดค้านเอง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ร้องจะเข้าทำสัญญาและเลือกที่ดินดังกล่าวในการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย เมื่อมีความผิดพลาดเกี่ยวกับเอกสารสิทธิในที่ดินคือออกโฉนดทับที่สาธารณะประโยชน์ จึงไม่ใช่ความผิดของผู้ร้องและไม่มีหลักฐานว่าผู้ร้องได้รู้เห็นมาก่อนว่าที่ดินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงมิใช่การสำคัญผิดในทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม จึงไม่มีเหตุให้สัญญาที่พิพาทเป็นโมฆะ

เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการได้รับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่า บริษัทผู้ร้องได้ส่งมอบงานตามสัญญางวดที่ 55, 56, 57 และ 58 แก่ผู้คัดค้านแล้ว และผู้คัดค้านไม่จ่ายค่างวดงานดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องรับผิดชดใช้ค่างวดงานตามนัยข้อ 69.1 ของสัญญาจ้าง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินคำขอของคู่พิพาทตามมาตรา 37 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนตามมาตรา 40 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

เมื่อไม่มีเหตุให้เพิกถอน ศาลปกครองสูงสุดจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย พิพากษายืนตาม
ศาลปกครองชั้นต้นที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการโดยให้กรมควบคุมมลพิษชำระค่าจ้างแก่ 6 บริษัทผู้รับจ้าง

จะเห็นได้ว่าการใช้อำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาข้อพิพาทที่มีการชี้ขาดจากอนุญาโตตุลาการแล้วนั้น มีขอบเขตของกฎหมายที่กำหนดให้อำนาจไว้อย่างชัดเจน และต่างจากกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้พิจารณาข้อพิพาทโดยตรง

นอกจากนี้ ตามที่มีการนำมาเทียบเคียงกับกรณีที่ศาลฎีกาได้เพิกถอนคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยให้รัฐต้องจ่ายค่าโง่ทางด่วนเมื่อปี 2552 โดยมองว่ารายละเอียดคดีคล้ายคลึงกันนั้น ประเด็นนี้โฆษก
และรองโฆษกศาลปกครองได้ออกมาชี้แจงว่า คดีของศาลฎีกามีการฟ้องว่าคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบ โดยมีการตั้งประเด็นว่าสัญญาเป็นโมฆะ เนื่องจากผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกระทำการทุจริต และผู้ที่ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการมีส่วนได้เสียการวินิจฉัยจึงเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงปรากฏชัดก็ทำให้การดำเนินการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงพิพากษาให้เพิกถอน

ส่วนคดีคลองด่าน แม้จะมีการตั้งประเด็นว่าสัญญาเป็นโมฆะเหมือนกัน แต่การอ้างเหตุแห่งการเป็นโมฆะต่างกัน โดยกรณีคลองด่านอ้างว่ามีการทำสัญญาเพราะสำคัญผิดในตัวคู่สัญญาและสำคัญผิดในทรัพย์สินที่เป็นวัตถุแห่งสัญญา ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงในคดีไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการสำคัญผิดดังกล่าว สัญญาจึง
ไม่เป็นโมฆะ

สำหรับการขอรื้อคดีหรือขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคดีใหม่ ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ในกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองเสร็จเด็ดขาดแล้ว คู่พิพาทหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีนั้นอาจมีคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้ในกรณี เช่น ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ที่ทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ คู่พิพาทที่แท้จริงหรือบุคคลภายนอกมิได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีหรือเข้ามาแล้วถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนพิจารณา หรือมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม เป็นต้น

โดยล่าสุด คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับพวก 7 คน ซึ่งเป็นคณะบริหารสัญญาดังกล่าวได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่จากการที่ตนถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และอาจจะต้องชดใช้
ค่าสินไหมทดแทน จากการที่กรมควบคุมมลพิษต้องชำระค่าจ้างแก่บริษัทคู่สัญญา ซึ่งศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่แน่ชัดว่าผู้ร้องจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และหากได้รับความเดือดร้อนเสียหายก็มิใช่ผลโดยตรงจากคำพิพากษาของ
ศาลปกครองสูงสุด กรณีจึงไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกผลกระทบโดยตรงจากผลแห่งคดีที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่

อย่างไรก็ตาม...คงต้องติดตามคดีดังกล่าวกันต่อไป และคดีนี้ถือเป็นบทเรียนราคาแพงแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องตระหนักและเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก และยังเป็นอุทาหรณ์ในการสะท้อนสุภาษิตไทยที่ว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” อีกด้วยครับ



ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น