xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.รับฟ้อง3หน่วยงานรัฐ ปมแบ่งทรัพย์สินปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครอง ยันรับฟ้อง 3 หน่วยงาน ปมแบ่งทรัพย์สินปตท. ระบุมีหนังสือแจ้งให้ทำคำคัดค้านแล้ว โอดตกเป็นจำเลยสังคม "คดีค่าโง่คลองด่าน" ยันนำคำพิพากษาศาลฎีกาคดีทางด่วนมาเทียบเคียงไม่ได้ รวมทั้ง 2 คดีอาญาในศาลยุติธรรม ก็เป็นคนละประเด็นกับที่เรื่องการก่อสร้างบ่อบำบัด ชึ้ถึงวันนี้ยังไม่ยื่นร้องขอรื้อคดีใหม่ หรือขอระงับการบังคับคดีจ่ายค่าเสียหายงวด 2 ส่งผลให้การบังคับคดีตามคำพิพากษายังต้องเดินต่อ

วานนี้ (6 มิ.ย.) นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะรองโฆษกศาลปกครอง กล่าวถึง กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้องขอให้วินิจฉัยปมแบ่งแยกทรัพย์สินปตท. ใหม่ ว่า คดีนี้ศาลปกครองได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว และจะวินิจฉัยในเนื้อคดีต่อไปว่า ที่ปตท. มีการคืนทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณะสมบัติให้รัฐนั้น ปตท.คืนให้ครบตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หรือไม่

ส่วนที่มีการระบุในทำนองว่า รมต.ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ฟ้องไม่ได้นั้น กรณีนี้ผู้ตรวจฯ ฟ้องหน่วยงานของรัฐละเลยแบ่งทรัพย์สินไม่ครบ ซึ่งก็ต้องเป็นการฟ้องหน่วยงานของรัฐ ที่ทำการแบ่งทรัพย์สินในขณะนั้น โดยผู้ตรวจฯ ก็ฟ้องกระทรวงคลัง กระทรวงพลังงาน ปตท. และศาลก็รับฟ้องทั้ง 3 หน่วยงานนี้แล้ว รวมทั้งมีหนังสือแจ้งไปให้ทำคำคัดค้านส่งมายังศาลแล้ว แต่ในส่วนตัวบุคคลรวม 8 คนนั้น ก็ไม่ใช่ผู้แทนของหน่วยงานนั้นๆ ในขณะที่ผู้ตรวจฟ้องคดี รวมทั้งผู้ตรวจฯ ก็ไม่ได้ฟ้องว่าบุคคลเหล่านี้บกพร่องทำให้รัฐเสียหายต้องรับผิดทางละเมิดเป็นค่าเสียหายเท่านั้น เท่านี้ ศาลปกครองจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องในส่วนของบุคคลทั้ง 8 คน ดังกล่าว แต่ถ้าเป็นการฟ้องรัฐมนตรี ศาลสามารถพิจารณาได้ ซึ่งการรับฟ้อง 3 หน่วยงาน สมมุติหากศาลมีคำพิพากษาว่า การแบ่งทรัพย์สินนั้นไม่ครบ หัวหน้าหน่วยงานทั้ง 3 แห่ง ก็ต้องเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา ซึ่งในตอนนั้นจะเป็นใครก็ไม่รู้ อาจจะไม่ใช่บุคคลที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันนี้ สำนักงานศาลปกครอง ได้แถลงเปิดตัวทีมโฆษกสำนักงาน ซึ่งประกอบด้วย นายสมชาย งามวงศ์ชน ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด โฆษกศาลปกครอง นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และ น.ส.สายทิพย์ สุคติพันธ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ประจำศาลปกครองสูงสุด รองโฆษกศาลปกครอง โดยนายสมชาย กล่าวถึง กรณีค่าโง่คลองด่านว่า ก่อนหน้านี้ศาลปค. ตกเป็นจำเลยสังคม เพราะไปพิพากษาให้รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายให้เอกชน 9 พันกว่าล้านบาท โดยข้อเท็จจริงคดีนี้ ศาลชี้ไปตามที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย ซึ่งตาม ม.40 ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ได้กำหนดลักษณะที่ศาลฯจะมีคำพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการไว้ค่อนข้างจำกัด ไม่เหมือนคดีอื่นๆ ที่มีการร้องต่อศาลฯ ซึ่งศาลฯ สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงเองได้

ส่วนกรณีที่มีการยกคำพิพากษาศาลฎีกา ที่เพิกถอนคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยให้รัฐต้องจ่ายค่าโง่ทางด่วน เมื่อปี 2552 มาเทียบเคียงกับคดีนี้โดยมองว่า รายละเอียดคดีคล้ายคลึงกัน ทำไมศาลปค. จึงไม่พิพากษาเพิกถอนนั้น ถ้าคนที่ไมได้ดูในรายละเอียดของสำนวน ก็จะเข้าใจแบบนั้น แต่ถ้าไปดูจะเห็นว่า คดีของศาลฎีกา มีการฟ้องว่าคำวินิจฉัยอนุญาโตฯ ไม่ชอบ มีการตั้งประเด็นว่า สัญญาเป็นโมฆะ เนื่องจากผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยทุจริต และผู้ที่ทำหน้าที่อนุญาโตฯ มีส่วนได้เสียการวินิจฉัยเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้วก็เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏชัด ก็ทำให้การดำเนินการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ นั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงพิพากษาเพิกถอน

แต่กรณีคลองด่าน แม้จะตั้งประเด็นสัญญาเป็นโมฆะเหมือนกัน แต่อ้างว่า 1. เพราะสำคัญผิดในคู่กรณีที่เป็นคู่สัญญา คือก่อนทำสัญญาเข้าใจว่า เป็นบริษัทนอร์ทเวต แต่พอจะทำสัญญา กลายเป็นบริษัทนี้ถอนตัว 2. สำคัญผิดในทรัพย์สินคือ ที่ดินที่นำมาสร้างบ่อบำบัด ซึ่งทั้งสองประเด็นในชั้นอนุญาโตฯ ก็มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ประเด็นแรกมีการแจ้งกรมควบคุมมลพิษแล้วว่า จะเปลี่ยนจากบริษัทนอร์ทเวต มาเป็นบริษัทร่วมทุน ซึ่งอธิบดีกรมฯ ก็ยินยอม ส่วนประเด็นที่สองที่ดินนี้ นายวัฒนา อัศวเหม ไปกว้านซื้อมา แล้วมาขายบริษัท ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า บริษัทรู้เห็นมาก่อนว่าที่ดินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่มาของเหตุในการอ้างของทั้งสองเรื่องมันคนละอย่างกัน

ส่วนที่อ้างว่ามี 2 คดีอาญา ที่อยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด คือ คดีที่กรมควบคุมมลพิษ ฟ้องบริษัทเอกชน และนายวัฒนา ว่าฉ้อโกงเอาที่ดินมาขาย กับคดีที่เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต แต่ทั้งสองคดีนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดิน ไม่ได้เกี่ยวกับการก่อสร้างสถานีบ่อบำบัดน้ำเสีย

ด้าน นายประวิตร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มายื่นขอให้รื้อคดีใหม่ นายประพัฒน์ ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งก็ต้องถือว่า ขณะนี้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปค.สูงสุด ที่วินิจฉัยตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯว่า รัฐต้องจ่ายค่าเสียหาย 9 พันกว่าล้าน ยังคงอยู่ ที่ว่ามีการอายัดการจ่ายเงินค่าเสียหายงวด 2 งวด 3 หรือรัฐบาลบอกจะรื้อคดีใหม่ ก็ยังเป็นแค่ “จะ”อยู่ กรมควบคุมมลพิษเองก็ไม่มีการยื่นคำร้องขอปฏิเสธการชำระเงินงวด หรือรัฐบาลที่บอกจะยื่นขอให้รื้อคดีใหม่ก็ยังไม่มีเข้ามา ถ้ามีการยื่นมา ก็อยู่ที่ศาลจะพิจารณารับหรือไม่รับ และการยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ เป็นเหตุให้ศาลต้องหยุดการบังคับคดีหรือไม่ นอกจากที่ว่า กรมควบคุมมลพิษ จะใช้วิธีวางทรัพย์คือเสียค่าเสียหายงวด 2 ไว้กับศาลก่อนเพื่อหยุดการเดินของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสู้คดี ก็สามารถทำได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลปกครองในการเรื่องการบังคับคดีให้เอาประมวล วิ.แพ่ง มาใช้โดยอนุโลมได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้การยื่นขอรื้อคดีจะทำให้ศาลปกครองสามารถเข้าไปตรวจสอบในเนื้อหาของคดีได้ แต่กฎหมายก็กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคดีใหม่ไว้ เช่น ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด หรือมีพยานหลักฐานใหม่ที่ทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ คู่กรณีที่แท้จริงหรือบุคคลภายนอกมิได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี หรือเข้ามาแล้วถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนพิจารณา หรือมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดี่ไม่มีความยุติธรรม เป็นต้น รวมทั้งต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 40 พ.ร.บ.อนุญาโตฯที่ระบุว่า การบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯนั้นเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่ด้วย ซึ่งคำว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ ความหมายมันค่อนข้างกว้างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น